คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน : อยุธยา สังคมเมือง ไม่เป็นสังคมชาวนา

คริส เบเกอร์ บรรยายในงาน “250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560

วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2560 ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

นราธิป ทองถนอม เก็บความมารายงาน


อยุธยา สังคมเมือง ทั้งในเกาะเมือง และนอกเกาะเมืองออกไปไกล เห็นพื้นที่วัดพระศรีสรรเพชญ์, พระราชวังโบราณ พื้นที่นอกเกาะ ถึงทุ่งภูเขาทอง (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

ประวัติศาสตร์อยุธยาเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คือลักษณะสังคมในอยุธยา เป็นสังคมเมือง ไม่ใช่สังคมชาวนา โดยเฉพาะในอยุธยาตอนกลาง ในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง

Advertisement

แรงงานยุคอยุธยา

ความต้องการแรงงานในการผลิตอาหาร เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ากลับไปดูในญี่ปุ่น หรือพูดสั้นๆ ว่าเขตหนาวของโลก ซัก 250-300 ปีก่อน ส่วนมากต้องมี 3-4 คน ทำงานการเกษตร ถึงจะมีส่วนเกินมากพอที่จะเลี้ยงคนเดียวที่อยู่ในเมือง

ลักษณะแบบนี้เหมือนกัน ทุกๆ ประเทศเป็นแบบนี้ มันเป็นเพราะเทคโนโลยีในการผลิตอาหารไม่ค่อยดีเท่าไร ใช้แรงงานมาก ประกอบกับอยู่เขตหนาวจึงต้องดูแลมาก เห็นได้จากรูปวาดสมัยนั้น ที่เป็นภาพคนทำการเกษตรผลิตอาหาร

แต่ถ้ามาถึงเขตร้อน มันต่างกัน เมื่อมีอุณหภูมิสูงและมีน้ำมาก ผลผลิตก็จะมากกว่า และใช้แรงงานน้อยกว่าในการผลิตอาหาร และเมื่อดูในอยุธยา มีอาลักษณ์หรือทูตที่มาจากเปอร์เซียในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้อธิบายถึงการผลิตข้าวไว้ซึ่งน่าสนใจ เขาเขียนไว้ว่า

เมื่อถึงเวลาต้องปลูกข้าว แค่โปรยเมล็ดข้าวลงบนดินแล้วก็กลับบ้าน แล้วก็รอฝน รอน้ำ ไม่ต้องถอนหญ้าหรือใส่ปุ๋ยอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากเมื่อถึงเวลาที่ข้าวเกือบจะสุกอาจมีปัญหาเรื่องขโมย เพราะฉะนั้นในสามหรือสี่อาทิตย์สุดท้ายต้องส่งคนไปเฝ้าในทุ่งนาที่ปลูกข้าว และเมื่อสุกก็ไปเก็บเกี่ยวกลับบ้าน

แต่ถ้าอยู่เขตหนาวที่ผลิตข้าวสาลี ต้องปลูกแล้วก็รอ 6 เดือน ต้องดูแลตลอด ใช้เวลาและแรงงานเยอะ แต่การปลูกข้าวในอยุธยาใช้เวลาแค่ไม่กี่วัน ที่ปล่อยกลับบ้าน และรอเวลาเก็บเกี่ยว นั่นหมายความว่าไม่ต้องมีสามคนที่ทำงานการเกษตรถึงจะมีเงินพออยู่ในเมืองซึ่งมันแตกต่างกัน

ไม่ใช่แค่ทูตของเปอร์เซียเท่านั้น แต่หัวหน้าสำเภาของญี่ปุ่น ก็บอกว่าราคาข้าวในสยามต่ำกว่าที่อื่น เพราะว่าการปลูกและทำการเกษตรง่ายกว่าที่อื่น

อ.คริส เบเกอร์ บรรยายเรื่องเศรษฐกิจและสังคมสยามจากอยุธยาถึงกรุงธนบุรี ในงาน “250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2560 จัดโดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด

ข้าวปลาอาหาร

คนต่างชาติที่มาสยามในสมัยนั้นเขาเปรียบเทียบเขตหนาวและเขตร้อน เขาบอกว่าสยามเป็นที่ที่มีประสิทธิ์ผลมากกว่าที่อื่นในโลก และการผลิตเขาบอกว่า เป็นประเทศที่มีทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการ เขาหมายถึงอาหาร และมีมากกว่าที่อื่นด้วย เขารู้สึกว่าสยามมันแปลกประหลาด

ยังมีอีกคนที่เขียนบันทึกไว้อย่างน่าสนใจ เขาพูดว่าทุกคนในอยุธยา เขาหมายถึงคนในเมืองด้วย มีที่ดินทำการเกษตรเอง โดยเฉพาะปลูกข้าวและจับปลา ซึ่งหมายความว่าการทำเกษตรไม่ได้เป็นอาชีพของบางคน แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนทำ เพราะทุกคนมีที่ดิน แต่ไม่ได้หมายความว่าทำการเกษตรอย่างเดียว แต่มีอาชีพหลักเป็นอย่างอื่น เช่นทอผ้า หรือทำอย่างอื่น

มีส่วนหนึ่งในพงศาวดารพันจันทนุมาศในสมัยพระนเรศวร ตอนที่หงสาวดีและเชียงใหม่มาตีเมืองอยุธยา เขาบอกว่าพวกศัตรูตั้งอยู่ไม่ให้ชาวพระนครออกมาทำนาได้ ตอนที่เขาตีเขาพยายามทำให้คนที่อยู่ข้างในไม่มีโอกาสออกมาทำนาได้ ซึ่งหมายความว่าคนอาศัยอยู่ในเมืองแล้วก็ออกมาทำการเกษตร คล้ายกับคนปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในบางบัวทอง แล้วก็เข้ามาในเมืองเพื่อจะทำงานแล้วก็กลับบ้าน

อันนี้ก็เหมือนกัน คนอาศัยอยู่ในเมืองอยุธยา ก็ออกไปที่ทุ่งนา ทุ่งประเชด ทุ่งหันตรา เพื่อที่จะทำเกษตร ซึ่งไม่ต้องออกไปทุกวัน แค่วันที่หว่านข้าวและตอนเก็บเกี่ยว

กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ โดยฟาน เดอ อา ภาพมุมกว้างที่มองจากบ้านฮอลันดา ชุมชนชาวยุโรปตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะเมือง (ภาพและคำอธิบายโดยสรุปจากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ.2549)

ต้องการพื้นที่เท่าไรที่จะทำอาหารเลี้ยงประชากรในอยุธยาทั้งหมด?

ผมคิดว่าจำนวนประชากรในอยุธยาสมัยพระนารายณ์มีสองแสนห้าถึงสามแสน ถ้าดูจากความต้องการของอาหาร หรือข้าวที่จะเลี้ยงประชาการทั้งหมดต้องการ 2 แสนกว่าไร่ เมื่อคิดเป็นวงกลมต้องมีรัศมีประมาณ 10.5 กิโล จึงจะพอเลี้ยงประชากร

ซึ่งการปลูกข้าวมันไปตามแม่น้ำ พวกต่างชาติที่เข้ามาที่ปากน้ำที่ไปที่อยุธยา เขาอธิบายว่าเห็นอะไรสองข้างทาง ตอนที่เขาผ่านบางกอกจากนั้นขึ้นมาเขาเห็นข้าวทั้งสองข้าง ตอนที่ขึ้นจากอยุธยาถึงลพบุรี ถึงพระพุทธบาท ก็เหมือนกันมีข้าวตลอดทั้งสองข้างทาง

เฮก ชาวดัตช์ที่ไปอธุธยาจากปากน้ำ สิ่งที่น่าสนใจคือ หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านที่เขาเห็นมีอาชีพของตัวเอง เช่น ปั้นหม้อ ทำเสื่อ ต่อเรือ ช่างไม้ ทำโลงศพ ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำ มันไม่เหมือนหมู่บ้านเกษตร เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพอื่นแล้วก็ทำเกษตรด้วย

น่าสนใจมาก นี่เป็นสังคมเมือง โดยส่วนมากคนอาศัยอยู่ในเมือง เมืองเล็กเมืองใหญ่ เราไม่ทราบ และมีอาชีพหลักที่ไม่ใช่เกษตร

คนในเมือง ทำนานอกเมือง

สรุป คนส่วนมากอาศัยอยู่ในเมืองเล็กเมืองใหญ่ และทำอาชีพหลักที่ไม่ใช่เกษตร โดยการอาศัยอยู่ในเมืองแล้วออกไปทำนาที่ทุ่งที่ติดเมือง แต่ในชีวิตประจำวันจับปลา หรือเก็บผัก

มีอยู่สองอย่างที่พอให้เห็นว่าเป็นไปได้ คือ ไม่มีภาษีที่ดินสมัยอยุธยา บางครั้งบางทีก็มี แต่ไม่ได้มีแบบทั่วๆ ไป

ถ้าไปดูที่อื่นที่ไหนที่มีสังคมชาวนารัฐบาลจะพยายามเก็บภาษีที่ดินทุกแห่งทั้งใน อินเดีย จีน ชวา ในอินเดียสมัยโมกุลหรือสมัยอังกฤษ เจ้าหน้าที่ของรัฐครึ่งหนึ่งจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีที่ดิน แต่ถ้าดูในพระอัยการลักษณะพลเรือน ไม่มีหน้าที่เก็บภาษีที่ดิน

ชุมชนนานาชาติในสังคมเมือง รอบนอกเกาะเมืองอยุธยา ตามที่มีบนแผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุเดอ ลา ลูแบร์ ฉบับพิมพ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก หนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ.2549)

อีกอย่างคือระบบไพร่ที่มีอยู่ในสยาม คิดว่าไม่เหมาะกับสังคมชาวนา เพราะว่าการที่เกณฑ์คนเข้าเวรออกเวร มันไม่เหมาะกับสังคมที่ต้องไปตามจังหวะของฤดูกาล มันไม่ไปด้วยกัน ทำไม่ได้ และไม่เหมาะกับสังคมที่กระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้าน มันเหมาะกับสังคมที่คนส่วนมากอยู่ในเมือง

สังคมในอยุธยาเริ่มจะเปลี่ยนใน 50 ปีสุดท้ายของอยุธยา เริ่มจะส่งข้าวไปเมืองจีน ก่อนหน้านั้นส่งออกข้าวนิดหน่อย แต่น้อยมาก ถ้าคำนวณดูน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของข้าวที่จะเลี้ยงคนในเมืองอยุธยาเอง แต่สมัยส่งข้าวออกไปที่จีนและค่อยๆ ขยายขึ้น เริ่มมีคนอพยพออกจากเมืองไปอยู่ในชนบท เพราะต้องการหนีความเป็นไพร่ทาส

เพราะฉะนั้นการย้ายจากเมืองไปอยู่ชนบทเริ่มต้นในสมัยนั้น ตรงช่วงที่เรามีสงครามกับพม่าซัก 50 ปี และการเปลี่ยนแปลงนี่หยุดชะงัก และเริ่มต้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 2 แล้วจึงค่อยขยาย เรามีสังคมแบบนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในชนบท

สังคมลักษณะนี้มีในยุโรปด้วย โดยเฉพาะที่ปัจจุบันเป็นประเทศเบลเยียม ที่คนอาศัยอยู่ในเมืองและก็ออกไปทำการเกษตรนอกเมือง

 


 

คลิกอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : บ้านนอก ของกรุงศรีอยุธยา

คลิกอ่าน 250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560 หลากแง่มุมประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืมเลือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image