‘ปะการังเทียม’ สร้างระบบนิเวศ ‘ท้องทะเล’ ที่ยั่งยืน

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ท้องทะเลต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามมากมาย ทั้งจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะการทำประมงเชิงพาณิชย์ ที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลงจนใกล้จะวิกฤต

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา จึงมีความพยายามฟื้นฟูทรัพยากรทางท้องทะเลขึ้น

ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เล่าว่า สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการทำประมงเกิดขึ้นเยอะมากแต่ระบบการควบคุมก็ยังไม่ดี คือไม่มีกฎกติกา ใครจะจับสัตว์น้ำยังไงก็ทำได้หมด ทำให้หลายคนก็ร่ำรวยขึ้นมาจากการทำประมงพาณิชย์ พอคนอื่นเห็นว่าดีก็ลงไปทำบ้าง ในที่สุดคนทำประมงก็เยอะจนทำให้ปลาหรือสัตว์น้ำไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ ปริมาณก็ลดลง รวมถึงกฎหมายที่เก่าทำให้ควบคุมไม่ได้ แต่ตอนนี้ก็ได้มีการปรับปรุงแล้ว

เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลไทย ซึ่งทางออกนอกจากจะต้องมีกฎหมายและการควบคุมที่ดีแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญ คือ “การอนุรักษ์ฟื้นฟู” ดังเช่นการสร้าง “แหล่งอาศัยทางทะเล” หรือ “ปะการังเทียม” ให้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ป้องกันภัย เป็นแหล่งอาหารและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ

Advertisement

ดร.อดิศรบอกว่า การปลูกปะการังจริงยาก โตช้า และใช้เวลานาน ดังนั้นจึงต้องเน้นการอนุรักษ์ปะการังจริงเป็นหลัก แล้วใช้ปะการังเทียมเสริมไปให้เป็นที่อยู่ใหม่ของสัตว์ทะเล

ด้วยเหตุนี้เอง เป็นที่มาที่ทำให้เกิด “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน” ระหว่างกรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)

อธิบดีกรมประมงบอกว่า การจัดวางปะการังเทียมครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าในระยะที่ 1 มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยกรมประมงเป็นตัวแทนส่งมอบปะการังเทียมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อวางปะการังเทียมระยะที่ 1 จำนวน 1,000 แท่ง ไปส่งมอบให้กับชุมชนชายฝั่งใน 2 พื้นที่ คือ อ.สทิงพระ จ.สงขลา จำนวน 500 แท่ง และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จำนวน 500 แท่ง เพื่อดำเนินการต่อไป

“ในส่วนปะการังเทียมเราทำมาหลายปีแล้ว มีหลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน คือ 1.เพื่อปกป้องพื้นทะเลจากเครื่องมือประมงบางชนิดไม่ให้เข้ามาใกล้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรือประมงขนาดใหญ่ หรือเรืออวนลาก ซึ่งสมัยก่อนมักจะมีเรืออวนลากเข้ามาใกล้ชายฝั่งแต่เมื่อมีปะการังเทียมอยู่เขาก็จะเข้ามาไม่ได้ 2.เป็นที่อยู่ที่อาศัย แหล่งแพร่พันธุ์วางไข่ให้กับสัตว์ทะเล 3.เป็นแหล่งทำประมงของชาวประมงพื้นบ้าน คือแทนที่จะวิ่งหาปลากระจายไปทั่วทะเล ต่อไปเขาก็จะมีจุดให้ทำมาหากินแถวปะการังเทียมได้ เนื่องจากการประมงพื้นบ้านเขาไม่ได้จับปลาจำนวนมาก” ดร.อดิศรบอก

ทั้งนี้ ภายหลังจากการพูดคุยกับชาวประมงในพื้นที่หลังวางปะการังเทียมพบว่า มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีเต่าเข้ามาอาศัยในปะการังเทียมแล้ว

“ชาวประมงบอกว่าเขารู้สึกดีที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี แต่สิ่งที่ผมคาดหวังคือ ผมอยากให้เกิดชุมชนประมงที่เข้มแข็งในทุกจุด มีการบริหารจัดการที่ดี จับปลามาใช้ประโยชน์ได้เหมาะสม คือไม่เกินกว่ากำลังการฟื้นฟู ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดมากที่สุด” ดร.อดิศรกล่าว

และว่า สำหรับการวางปะการังเทียมเนื่องจากทะเลเป็นพื้นที่ใหญ่มาก เราคงไม่ทำเยอะมากจนเต็มทะเล แต่จะทำในจุดที่เหมาะสม จุดที่สำคัญเท่านั้น ตอนนี้ก็น่าจะมีประมาณพันกว่าจุดแล้วในประเทศ

“แต่ถ้าถามว่าเพียงพอหรือยัง มันก็ยังไม่พอหรอกครับ แต่เรากำลังมองในรูปแบบอื่นด้วย เพราะที่ทำอยู่คือปะการังน้ำตื้น ต่อไปก็อาจจะลองมองไปถึงการทำปะการังเทียมพื้นที่น้ำลึกกว่า ทำแล้วจะสร้างสมดุลขึ้นไหม ซึ่งคิดว่าแนวโน้มต่อไปน่าจะมีปะการังเทียมเพิ่มขึ้นอีกเพราะมีคนช่วยทำเยอะมาก ทั้งหน่วยราชการ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ทำอยู่ รวมถึงภาคเอกชนที่เข้ามา อย่างครั้งนี้ก็มีเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาร่วมกันทำ”

เป็นความเห็นของอธิบดีกรมประมง ก่อนนำคณะล่องเรือจากหาดมหาราช อ.สทิงพระ จ.สงขลา ร่วมกับ กชกร รักษาสรณ์ นายอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา วีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเอ็นจีโอและชาวบ้านในพื้นที่

เพื่อเปิดพิธีวาง “ปะการังเทียม” ฟื้นทะเล-ชุมชนชีวิตคนชายฝั่ง ให้กับชุมชนชายฝั่งตามโครงการความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ จ.สงขลา และจ.ปัตตานี ต่อไป

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บอกว่า โครงการนี้ถือว่าอยู่ในเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สามารถผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจได้ โดยเราวางเป้าหมายไว้ 3 ด้าน คือ heart, health และ home ครั้งนี้เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยเฉพาะเรื่องความสมดุลของชีวภาพทางทะเลเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาทะเลไทยเกิดการจับปลาที่มากเกินขีดความสามารถการผลิต (over fishing) ทำให้ปลามีจำนวนลดน้อยลง การวางแนวปะการังจะช่วยสร้างสมดุลทางทะเล มีที่ให้ปลาอยู่อาศัย มีที่ที่ให้ปลาวางไข่ ทำให้การเจริญเติบโตของลูกปลาดีขึ้น สร้างที่ปลอดภัยจากการประมงเชิงพาณิชย์ ตรงนี้เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะสร้างระบบนิเวศและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้กับประเทศ

“ถ้าถามว่าทำไมซีพีถึงส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ทั้งที่ธุรกิจที่ทำอยู่แทบไม่เกี่ยวข้องกับการประมงเลย ตรงนี้ผมต้องบอกว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วมหมดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คือไม่เป็นผู้รับผลกระทบ ก็เป็นผู้เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่”

เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เราทุกคนควรร่วมกันรับผิดชอบ ร่วมกันเรียนรู้และแก้ไข

“ดังนั้นครือเจริญโภคภัณฑ์แม้จะมีส่วนน้อยมากแต่ก็ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง คืออาหารกุ้งของเราทำมาจากปลาป่น แม้จะเป็นผลิตผลพลอยได้ (by product) ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องประมงก็ตาม แต่ในเรื่องการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมทางภาคพื้นทะเล เราเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนได้มาก เพื่อช่วยเรื่องความตระหนักรู้ ตลอดจนการลงมือทำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง” ศุภชัยอธิบาย

สำหรับการวางปะการังเทียมครั้งนี้ ศุภชัยอธิบายว่า เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะชุมชนในท้องที่ ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นการผสมผสานที่ผมได้มาจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ว่าเขาอยากจะทำเรื่องอะไรเพื่อให้ความยั่งยืน ซึ่งในลำดับต้นๆ เขามองคือ การวางปะการังเทียม

“การวางแนวปะการังเทียมให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ครั้งนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ซึ่งเราตั้งใจจะทำโครงการนี้กันอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความรู้จากส่วนต่างๆ เช่น กรมประมง กองทัพเรือ เป็นต้น เพราะถ้าวางแนวทางไม่ดีก็อาจจะไปกระทบกับเรือเดินทะเลหรือเรือประมงได้ จึงต้องวางให้ถูกแนวและเหมาะสมตามมาตรฐานสากล”

ศุภชัยทิ้งท้ายอีกว่า นอกเหนือจากการวางปะการังเทียมหลังจากนี้จะมีการทำวิจัยดูปริมาณปลาว่าเพิ่มจำนวนขึ้นหรือไม่ รวมทั้งระบบนิเวศในพื้นที่มีความสมบูรณ์ หรือได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมถึงจะศึกษาด้วยว่าประชาชนในพื้นที่มีรายได้หรือสามารถต่อยอดสร้างรายได้ และนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยส่งเสริมวิถีชาวประมง เช่น นวัตกรรมปะการังเทียม การใช้สัญญาณมือถือเพื่อตรวจสอบการเข้าฝั่งที่โปร่งใส เป็นต้น

แนวทางการอนุรักษ์จึงมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อหวังว่าสักวันความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางท้องทะเลจะกลับคืนมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image