‘Chronic Wounds’ มองประวัติศาสตร์การเมืองผ่านภาพจำศิลปะ

“งานของผมพูดถึงบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ภาพของคนตายอย่างเดียว แต่เป็นทั้งคนที่สู้แล้วได้รับชัยชนะ คนที่กำลังลุกขึ้นสู้ รวมถึงคนรอบตัวที่ได้รับผลกระทบ คนเหล่านี้มีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เกิดขึ้นซ้ำไปมา หลายๆ คนมีแผลมากกว่าหนึ่งที่ เป็นบาดแผลที่ไม่เคยถูกรักษาให้หาย”

วนะ วรรลยางกูร พูดถึงงานชุด “Chronic Wounds” ของเขาซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “SILENT NO MORE” ร่วมกับ คธา แสงแข และ ปพนศักดิ์ ละออ โดยมี ไลลา พิมานรัตน์ เป็นภัณฑารักษ์

วนะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการทำงานศิลปะ และยืนยันเสมอมาว่าศิลปะไม่อาจแยกจากการเมืองได้ ปัจจุบันเขาทำงานศิลปะคู่ไปกับการเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย

Advertisement

นิทรรศการนี้เป็นการแสดงงานร่วมของ 3 ศิลปิน พูดถึงความทรงจำในประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยผ่านมุมมองที่แตกต่างกัน

งานชุด “Chronic Wounds” ของวนะ ใช้วิธีการวาดภาพสดในแกลเลอรี่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการสร้างงานของเขา ในบริบทงานที่พูดถึงการบันทึกประวัติศาสตร์และความเจ็บปวด

งานของเขาไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยตรงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่นำรูปภาพและความทรงจำที่ถูกบันทึกจากเหตุการณ์มาร้อยเรียงเข้ากับภาพงานศิลปะการเมืองที่โด่งดังในต่างประเทศ นำทางไปสู่แนวคิดเรื่องการสร้างและจดจำประวัติศาสตร์

“เป็นการบันทึกในบริบทของศิลปะที่ไม่ใช่การพูดว่า 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือการสลายชุมนุม 2553 เกิดอะไรขึ้น แต่นำสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมาพูดถึง เช่นภาพถ่าย วิดีโอ ประติมากรรมบุคคลสำคัญต่างๆ หรือการเทียบเคียงเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เหล่านี้เป็นการเมืองทั้งหมด ศิลปะเป็นการบันทึกสังคมในแต่ละยุคสมัย เพราะว่าศิลปะไม่เคยปลอดจากการเมือง”

เหตุผลที่ใช้การวาดภาพสดในที่จัดแสดง วนะบอกว่า โดยปกติศิลปินไม่ค่อยวาดสดให้คนดูได้เห็น ด้วยเหตุผลบางส่วนในเรื่องเทคนิคที่ศิลปินต้องการปิดเป็นความลับ และส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการควบคุมเวลาในการทำงาน

“คนทำงานศิลปะหลายๆ คนมีขนบความเชื่อว่าการทำงานศิลปะเป็นของสูงส่ง ไม่เปิดให้คนทั่วไปเห็นขั้นตอนการทำงาน ศิลปินหลายคนหวงแหนสตูดิโอตัวเองมาก ไม่ค่อยให้ใครเข้ามา แต่ความเป็นจริงในกระบวนการทำงานของโลกศิลปะสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเป็นความลับ ไม่ได้พูดเรื่องความดีงามสูงส่งอะไร ศิลปินเป็นผู้ที่สื่อสารออกมาเท่านั้นเอง สุดท้ายอยู่ที่ว่าตัวงานเล่าเรื่องอะไรมากกว่า”

ผู้ที่เข้ามาชมงานชุดนี้จะได้เห็นขั้นตอนการทำงานของศิลปินตั้งแต่ต้น เห็นกระบวนการวาดภาพว่ามีวิธีคิดการวางแผนอย่างไร

งานชุด “Chronic Wounds” มี 2 ชิ้น โดยภาพแรกชื่อ “เรื่องเล่าของเดวิด” นำภาพ “เดวิด” ผลงานประติมากรรมของ Michelangelo มาทำขึ้นใหม่ รวมกับบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้วในทางศิลปะ รวมถึงภาพวาดของฟรันซิสโก โกยา

“เดวิดมีลักษณะเป็นไอคอนของศิลปะอิตาลี คนรู้จักแต่รูปลักษณ์ของเดวิด แต่ไม่ได้สนใจว่าเป็นใคร ทำอะไรมา เรื่องของเดวิดเป็นการพูดถึงปัจเจกชน คนตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจ ในเรื่องเล่าเขาเป็นคนธรรมดาที่อาสาไปสู้กับยักษ์แล้วได้รับชัยชนะมา เปรียบเทียบกับการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน แต่ใครจะเป็นคนกล้าลุกขึ้นสู้กับรัฐและอำนาจ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายคนล้มหายตายจากโดยไม่ได้ถูกบันทึกแบบเดวิด แต่ก็ยังสู้อยู่

“ผมต้องการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ในรูปแบบของศิลปะที่บันทึกการต่อสู้ที่งดงามของคนที่พยายามต่อสู้ที่ผ่านมา โดยจะมีภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย และภาพงานศิลปะที่บันทึกเหตุการณ์ในต่างประเทศ”

ส่วนอีกภาพหนึ่งในชุดนี้พูดถึงรูปลักษณ์ของอนุสาวรีย์ฮีโร่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาโดยมีความเชื่อเรื่องคุณงามความดีแบบด้านเดียว ไม่ได้มองว่าประวัติศาสตร์เป็นเหรียญสองด้าน

“ประวัติศาสตร์บุคคลและประวัติศาสตร์การเมืองที่ถูกส่งต่อผ่านอนุสาวรีย์ฮีโร่ ส่งผลกระทบต่อคนยุคปัจจุบัน ทั้งเรื่องการปลูกฝังคุณธรรม ชาตินิยม ความรักชาติแบบผิดๆ หรือทำให้คนเลิกตั้งคำถามต่อวีรกรรมนั้นว่าถูกบันทึกอย่างตรงไปตรงมาแค่ไหน”  วนะกล่าว

ผู้สนใจสามารถเข้าชมการทำงานสดของศิลปินได้ในนิทรรศการ SILENT NO MORE จัดแสดงไปถึงวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

และวันที่ 21 ต.ค.นี้ จะมีการเปิดวงพูดคุยถึงงานชุด Chronic Wounds โดยวนะ วรรลยางกูร, อาทิตย์ ศรีจันทร์ นักวิชาการด้านวรรณกรรม และอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ ผู้ก่อตั้งแกลเลอรี่ ที่หลายริ้วอาร์ทสเปซ จ.ฉะเชิงเทรา ติดตามรายละเอียดได้ที่ เฟซบุ๊ก Many Cuts Art Space

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image