ก้าวตามพ่อ ใน ‘วิชา ๙ หน้า’ ศาสตร์แห่งความมั่นคงและยั่งยืน

ภาพการทรงงานหนักตลอด 7 ทศวรรษ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แจ่มชัดในความทรงจำของทุกคน

ไม่ว่าแห่งหนตำบลไหนในประเทศไทยประสบปัญหา เราจะเห็นพระองค์ท่านทรงคิดหาทางแก้ไขอยู่เสมอ ทั้งเรื่องดิน ฟ้า ป่า น้ำ ฝน ความยากจน และปัญหาอีกนานัปการ

จนเกิดเป็นโครงการในพระราชดำริทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่มากกว่า 4,000 โครงการ รวมถึงพระองค์ทรงช่วยชี้แนะแนวทางแก้ไข เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย

หรืออาจเปรียบได้ว่า ทุกพื้นที่ในเมืองไทยเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็น “ครูของแผ่นดิน”

Advertisement

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดตัวโครงการ “วิชา ๙ หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ กิจกรรมภายใต้โครงการ “ตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9

ด้วยการน้อมนำหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อันเป็นหลักการทรงงานของพระองค์ จนเกิดเป็นโครงการในพระราชดำริและพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเกิดความ “ก้าวหน้า” ดังชื่อโครงการอย่างแท้จริง

“วิชา ๙ หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ เป็นการนำเสนอ 9 เรื่องราว ผ่าน 9 บุคคล ร่วมถ่ายทอดแต่ละ “วิชา” ที่ได้สัมผัสจริงจากชุมชนต่างๆ โดยมี “ศาสตร์พระราชา” เป็นแกนหลักของแต่ละ “เรื่อง” ผ่านการท่องเที่ยวชุมชน

Advertisement

อาทิ วิชาปรุงไทยในใจคน : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร, วิชารักแรงโน้มถ่วง : โครงการแก้มลิงในพระราชดำริทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย, วิชาธรรมชาติสามัคคี : โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดําริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก, วิชาหมอดิน : ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี

ส่วน “วิชา” ของ “ครูของแผ่นดิน” จะช่วยพัฒนาชีวิตชาวไทยได้อย่างไรนั้น คงต้อง “ลงทะเบียนเรียน” กับ ททท.เพื่อหาคำตอบ

บทพิสูจน์ของ ‘คนกับป่า’

ราว 30-40 ปีก่อน ขณะที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้กระแสการคืบคลานของลัทธิคอมมิวนิสต์ สมรภูมิสำคัญอย่าง ภูหินร่องกล้า ซึ่งมีจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก, อ.ด่านซ้าย จ.เลย และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ อีกทั้งสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซ้อน เต็มไปด้วยป่ารก ทำให้กลุ่มผู้ก่อการยึดพื้นที่เป็นฐานบัญชาการ

เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง รัฐบาลในขณะนั้นประกาศใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ผู้ก่อการจำนวนมากตัดสินใจออกจากป่าเพื่อมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สมรภูมิรบภูหินร่องกล้าจึงกลายเป็นเพียง “อดีต” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งกำกับดูแลเรื่องป่าไม้ ได้ประกาศให้ที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 48 ของไทย

แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะสงบ แต่ปัญหาที่ภูหินร่องกล้ายังไม่จบสิ้น เพราะชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นชาวม้ง ยังชีพด้วยการปลูกฝิ่นและกะหล่ำปลี มักเข้าไปบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าอยู่เสมอ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้หยิบยกแนวทางพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นพื้นฐานแก้ไขปัญหา สนับสนุนให้ชาวบ้านเปลี่ยนไปปลูกพืชที่เป็นมิตรกับธรรมชาติอย่าง กาแฟอาราบิก้า และ สตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80 ขณะเดียวกันยังปลูกฝังแนวคิดเรื่องป่าไม้ สอนให้รู้จักวิธีดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำแนวป้องกันไฟป่า การดูแลพันธุ์สัตว์ป่า ดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ ฯลฯ ส่งผลให้ภูหินร่องกล้ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ในระยะเวลาไม่นาน

แปลงสตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80

“พระองค์ท่านพระราชทานศาสตร์พระราชาหลายอย่าง เช่น การให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์จริงจากการมีป่าว่าเป็นอย่างไร กรณีกรมอุทยานฯปลูกต้นพญาเสือโคร่งบนภูลมโลบนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ซึ่งตามหลักวิชาการแล้ว ต้นพญาเสือโคร่งเรียกว่าไม้เอเลียน คือไม่สามารถปลูกในพื้นที่นั้นได้ เนื่องจากไม่มีประโยชน์ เมื่อใบไม้ร่วงจะกลายเป็นขยะ

“พอปีที่ 5-7 ต้นพญาเสือโคร่งเริ่มออกดอกสวยเต็มภูเขา ชาวบ้านเห็นว่ามีคนมาเที่ยว มาดู เขาสามารถตั้งร้านค้าและนำรถรับจ้างนำส่งนักท่องเที่ยวได้ นี่คือชาวบ้านเห็นประโยชน์แล้วว่าการมีป่าเป็นอย่างไร มีข้อดียังไง” ศุภกุล จันทร์ลา หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

และว่า พระองค์ท่านมีรับสั่งเน้นงานฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และเรื่องการจัดการให้คนอยู่กับป่า ถ้าคนอยู่กับป่าได้ เขามีชีวิต ดำรงชีวิตอยู่ได้ เขาจะรักษาป่าเอง

นอกจากนี้ ศุภกุลยังเล่าถึงความสำเร็จในการ ปลูกกาแฟอาราบิก้าใต้ต้นสนเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย ว่า ชาวบ้านเข้าใจว่าใต้ต้นสนจะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แต่ตนเองทดลองแล้วและปลูกกาแฟขึ้น จึงให้ความรู้กับคนในพื้นที่ว่ากาแฟสามารถขึ้นได้ทุกที่ โดยไม่จำเป็นต้องถางป่า

แนวคิดการปลูกกาแฟอาราบิก้าใต้ต้นสน สร้างความเข้าใจใหม่ให้ชาวบ้านเลิกแผ้วถางป่า

เมื่อชาวบ้านเห็นว่าแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้จริง จึงเกิดความมั่นใจและปฏิบัติตามจนเกิดผลลัพธ์ที่ดี ขายผลผลิตได้ราคาดีกว่าเดิม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“กรมอุทยานฯได้รับบัญชาว่า โครงการตามแนวพระราชดำริทุกโครงการควรทำสัก 1 อย่างให้เด่นพอ ซึ่งผมอาศัยการท่องเที่ยวโดยการปลูกดอกกระดาษ ให้เขามาดูที่นี่ มาดูว่างานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านทรงทำอะไรบ้าง”

แล้วก็เป็นความจริงดังที่ศุภกุลกล่าวไว้ เพราะเมื่อมองไปรอบๆ โครงการ นอกจากแนวหินผาที่เป็นจุดชมวิว อาทิ ผาสลัดรัก ผาคู่รัก ผาไททานิค แล้ว ภาพป่าเขาที่โอบล้อมด้วยต้นไม้สูงใหญ่ยังเป็นที่ดึงดูดสายตา รวมถึงแปลงกาแฟอาราบิก้า แปลงสตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80 และทุ่งดอกกระดาษที่รอเวลาผลิดอกช่วงฤดูหนาวที่ศุภกุลบอกอย่างเต็มปากว่า “เป็นไฮไลต์ของที่นี่” นั้น สวยงามจับใจ

ทุ่งดอกกระดาษ

พระเมตตายิ่งใหญ่ของพ่อหลวง

ขยับมาฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงภูหินร่องกล้าอย่าง บ้านเข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่ามีประชากรม้งมากที่สุดในประเทศไทย

คุณลุงประจวบ ฤทธิ์เนติกุล อดีตกำนัน ต.เข็กน้อย วัย 75 ปี เท้าความเดิมของหมู่บ้านเข็กน้อยในสมัยก่อนว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ คนเฒ่าคนแก่ปลูกฝิ่น ทั้งเพื่อเป็นยาและเป็นรายได้ บางส่วนเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ราว พ.ศ.2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยือนพิษณุโลก ทรงให้เจ้าหน้าที่มาเชิญผู้นำหมู่บ้านไปเข้าเฝ้าฯ

“ตอนนั้นคุณอาผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ไปเข้าเฝ้าฯในหลวง ท่านมีรับสั่งว่าจะไม่ให้พวกเราปลูกฝิ่นแล้วนะ เพราะฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ให้ปลูกพืชเมืองหนาว เลี้ยงสัตว์แทน ทรงมีรับสั่งอีกว่าไม่ให้ถางป่าแล้ว เพราะป่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา ถ้าถางแล้วป่าจะหมดไป เมื่อหมดไป จะให้เหมือนเดิมคงไม่ได้ ฝนฟ้าจะไม่ตก เราจะเดือดร้อน”

ประจวบ ฤทธิ์เนติกุล

คุณลุงประจวบเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ต่อว่า ท่านบอกว่าเราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปสร้างโรงเรียนบนเขาให้พวกเราเรียนหนังสือ ท่านบอกว่าถ้าเราอ่านหนังสือได้ รู้หนังสือได้ ทุกอย่างจะดีขึ้น ต้องส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือนะ

ภายหลังจากนั้น คุณลุงประจวบบอกว่า ใช้เวลากว่า 15-16 ปี จึงเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เพราะคนเฒ่าคนแก่เชื่อว่าถ้าเลิกปลูกฝิ่นจะไม่มีเงินใช้ ไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าใส่ แต่พอเริ่มทำตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ชาวบ้านมีชีวิตดีขึ้นเป็นลำดับ เริ่มปลูกฝิ่นน้อยลง จนกระทั่งเลิกปลูก เปลี่ยนมาปลูกผัก ปลูกพืชเมืองหนาว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือ ทำงานจริงจัง หารายได้ให้ตัวเองมีอยู่มีกิน

“ถามว่าอันไหนมีความสุขกว่า ทั้งหลายทั้งปวงก็มาจากพ่อหลวงของเรา ผู้ที่มีน้ำใจอันประเสริฐ ท่านไม่ได้บอกว่าม้งอยู่ในป่าเขาแล้วไม่สนใจ คนเผ่าไหน กลุ่มไหน แย่ที่สุด เดือดร้อนที่สุด ท่านก็จะเข้าไปฉุดมือให้ขึ้นมาเหมือนกับพวกเรา เอาหมู เอาไก่ไปให้เลี้ยง บอกว่าให้เลิกปลูกฝิ่นนะ ท่านก็บอกดีๆ ไม่ได้บอกว่ามันผิดกฎหมายนะ เดี๋ยวให้เจ้าหน้าที่มาจับ

“ไม่มีประเทศไหนที่มีเจ้านาย มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะประเสริฐเหมือนประเทศไทย ชาวม้งมีชีวิตอยู่มาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะความเมตตาของพระองค์ท่าน”

เป็นบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากคนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้แล้ว การน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาปรับใช้ ยังช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

แก้มลิงทุ่งทะเลหลวง
ดินแดนมหัศจรรย์ในสุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงห่วงกังวลเรื่องการปลูกฝิ่นของชาวเขา และการจัดการให้คนอยู่ร่วมกับป่าแล้ว การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตก และปริมาณน้ำฝนสูง จนเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่แทบทุกภูมิภาคนั้น พระองค์ทรงห่วงกังวลในปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ทรงวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่ประสบปัญหา ทรงคำนึงถึงการเลือกใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะกับสภาพท้องที่ ตลอดจนงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนเกี่ยวข้อง

ปี พ.ศ.2538 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ เนื่องจากมีพายุหลายลูกพัดผ่านมายังภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกอย่างหนักจนแม่น้ำหลายสายท่วมล้น กลายเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่มุ่งตรงมายังกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน โดยวิธีแก้ปัญหาหนึ่งที่ทรงเสนอขึ้นมาก็คือ แก้มลิง

แผนภาพแสดงแนวพระราชดำริแก้มลิง

การทำแก้มลิง คือการจัดหาพื้นที่ซึ่งอาจเป็นสระ คลอง บึง หรือพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ เพื่อชะลอและรองรับมวลน้ำที่กำลังไหลบ่าลงมาเป็นการชั่วคราว เมื่อระดับน้ำทะเลต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง จึงค่อยๆ ระบายน้ำจากแก้มลิงลงสู่ทะเลตามหลักแรงโน้มถ่วงของโลก หากระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในคลองเมื่อใดให้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับ

โดยทฤษฎีนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงได้แนวคิดจากลิงทรงเลี้ยงสมัยพระเยาว์ พร้อมกับพระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า ลิง โดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภค และกลืนกินเข้าไปภายหลัง

“แม่น้ำยมในฤดูฝนมีน้ำมาก ในฤดูแล้งเกือบไม่มีน้ำ ให้พิจารณากั้นน้ำเป็นช่วงๆ เพื่อผันน้ำเข้าคลองธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำยม และขุดลอกให้สามารถส่งน้ำไปกักเก็บไว้ตามหนองบึงตามธรรมชาติได้”

พระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯเยือนสุโขทัย พ.ศ.2535 ทำให้เกิดโครงการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ รวมถึง โครงการแก้มลิงในพระราชดำริทุ่งทะเลหลวง แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ที่ ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย โดยน้อมนำทฤษฎีแก้มลิงมาบริหารจัดการน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่

สำราญ เขียวสำริด นายช่างชลประทานชำนาญงาน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 เปิดเผยว่า พระองค์มีพระราชดำริให้ทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งกับชาวสุโขทัย เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ชาวบ้านจะทำมาหากินไม่ได้เลย หรือหากน้ำแล้งก็แห้งเหือดกระทั่งไม่มีน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค

“พระองค์ท่านมีพระราชดำริให้ผู้ว่าฯสุโขทัย ณ ขณะนั้น แก้ไขปัญหานี้ให้ดียิ่งขึ้น ราว พ.ศ.2547 ท่านผู้ว่าฯได้เสนอของบประมาณต่อท่านรัฐมนตรี เพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะแก้มลิง และเป็นแหล่งน้ำผลิตประปา สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 32.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งยังเป็นน้ำต้นทุนใช้สนับสนุนพื้นที่การเกษตรกว่า 9,000 ไร่”

โครงการแก้มลิงในพระราชดำริทุ่งทะเลหลวง (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Sukhothai SKY CAM)

ปัจจุบัน แก้มลิงทุ่งทะเลหลวงเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่สำคัญของสุโขทัย สามารถส่งไปบริการประชาชนรวม 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บ้านด่านลานหอย อ.คีรีมาศ และ อ.ศรีสำโรง ทั้งยังเปิดให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการหาปลา รวมถึงการตั้งสถานีสูบน้ำกว่า 5 สถานี

ทั้งยังเป็นแลนด์มาร์กของสุโขทัย เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงในอนาคตจัดให้มีการทำไบค์เลนรอบแก้มลิงรูปหัวใจ

ถือเป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการประยุกต์หลักวิทยาศาสตร์ร่วมกับการสังเกต สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ร่วมเรียนรู้ศาสตร์ของพ่อใน “วิชา ๙ หน้า” ได้ทางวิดีโอสารคดีจำนวน 9 ตอน ทางเพจเฟซบุ๊ก เที่ยวไทยเท่ และสามารถรับหนังสือฟรีได้ที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ และปั๊มน้ำมันบางจาก (เฉพาะที่ร่วมโครงการ) หรือดาวน์โหลดที่ www.tourismthailand.org สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 1672

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image