‘ชัตเตอร์กล้องของฉันดัง 7 บาทเสมอ’ เรื่องเล่าจาก ‘ช่างกล้องพระราชา’

(ที่ 2 จากซ้าย) สงครามเมื่อครั้งถวายงานในหลวง ร.9

“การถ่ายภาพนั้นไม่ใช่แค่การถ่ายเพื่อสนุกสนานหรือเพื่อความงามเท่านั้น แต่การถ่ายภาพจะช่วยทำให้เห็นการพัฒนาของประเทศชาติได้”

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ สงคราม โพธิ์วิไล ช่างภาพผู้ที่มีโอกาสถวายงานการใช้กล้องถ่ายรูป ถ่ายทอดถึงสิ่งที่รับมาใส่เหนือเกล้า และยังคงประทับอยู่ในหัวจิตหัวใจทุกครั้งเมื่อรำลึกถึงพระองค์

ในงานนิทรรศการภาพถ่าย “ด้วยรักและคิดถึง : In Remembrance of King Rama 9” ที่ “พอร์โต้ ชิโน่” (Porto Chino) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-29 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ลานกิจกรรมชั้น 1 พอร์โต้ ชิโน่ ไลฟ์สไตล์มอลล์ กม.25 ถนนพระราม 2 จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ชาวสมุทรสาครและประชาชนทั่วไปได้ร่วมรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งประเทศ ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์

นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ฝีมือการบูรณะฟิล์มเก่าที่หาชมยาก 26 ภาพ ผลงาน ชาติฉกาจ ไวกวี นักบูรณะแผ่นฟิล์มโบราณ ยังมีผลงานของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เมื่อคราพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดกาญจนบุรี 50 กว่าปีก่อน เขาทำหน้าที่เป็นลูกเสือกั้นประชาชนในเส้นทางที่พระองค์ผ่าน

Advertisement

ภาพตรงหน้าที่ทรงสะพายกล้องและทรงถ่ายรูป เป็นแรงบันดาลใจสูงสุดที่ทำให้เขาบอกกับตัวเองว่า “สักวันหนึ่ง ถ้าฉันมีกล้องฉันจะถ่ายภาพในหลวง”

17 ปีต่อมา สงครามก็สมความตั้งใจ ได้ฉายพระรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นภาพแรกในชีวิต เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ณ ปราสาทพระเทพบิดร และตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา ก็ได้มีโอกาสถวายงานการใช้กล้องแด่พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดหลายครั้ง เป็นประสบการณ์อันน่าภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานหลายๆ ชิ้น ที่อัญเชิญมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้

ภาพแรกในชีวิตที่ได้ฉายพระรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งเสด็จ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ปี 2520

รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งที่เสด็จปราสาทพระเทพบิดร ภาพแรกที่เขาได้ฉายพระรูปพระองค์ท่านพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์

Advertisement

อาจารย์สงคราม ปัจจุบันในวัย 73 ปี ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการได้ถวายการรับใช้ว่า ขณะนั้นตนเองอยู่ในสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ความที่เคยเป็นผู้จัดการโรงงานผลิตเลนส์ร่วมกับญี่ปุ่น มีความรู้เรื่องเลนส์และกล้อง ประจวบกับบริษัทต่างประเทศที่มีตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทยจะเข้าถวายกล้องในหลวงรัชกาลที่ 9

“ท่านครูพูน เกษจำรัส และครูจิตต์ จงมั่นคง ซึ่งทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ และเป็นผู้ถวายงานด้านการล้างฟิล์มให้ในหลวง ร.9 มา 20-30 ปีแล้ว ก็มาบอกให้ผมเข้าไปถวายงานการใช้กล้องให้พระองค์ท่านในวังสวนจิตรลดา ตอนนั้นผมก็กลัวๆ อยู่เหมือนกัน เพราะเรื่องการใช้คำราชาศัพท์ที่เราไม่ค่อยรู้เรื่อง”

รับสั่งว่า ‘ฉันไม่ถือหรอก’

คือประโยคที่อาจารย์สงครามบอกว่า ทำให้กล้าที่จะกราบบังคมทูลกับพระองค์ท่าน และช่วงหลังๆ เมื่อเริ่มเข้าใจคำราชาศัพท์มากขึ้น เวลาที่สงสัยหรือไม่เข้าใจอะไรก็จะกราบบังคมทูลถามท่านอยู่บ่อยๆ เช่นกัน

พระองค์ท่านก็ทรงสอบถามผมว่า “คุณสงครามทำอะไร” ผมก็ตอบว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นบรรณาธิการหนังสือถ่ายภาพ Photos & Grapho พระพุทธเจ้าค่ะ” ท่านทรงยิ้มแล้วตรัสว่า

“อ้าว ถ้าอย่างนั้นไปเขียนบอกพวกเราด้วยนะว่าให้ถ่ายภาพกันดีๆ เรายังผลิตฟิล์มเองไม่ได้”

 

ได้ยินคำว่า “พวกเรา” อาจารย์สงครามจึงกราบบังคมทูลถามต่อว่า “ทำไมใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงใช้คำว่าพวกเราล่ะพระพุทธเจ้าค่ะ” ท่านแย้มพระสรวลแล้วตรัสว่า “อ้าว เราคนถ่ายภาพด้วยกัน เราเป็นพวกเดียวกันนะ” พระองค์ท่านทรงสอนให้เรารักเพื่อน รักพวกเดียวกัน รักใคร่สามัคคีกัน

“พระองค์ท่านเคยตรัสว่า ‘การถ่ายภาพนั้นไม่ใช่แค่การถ่ายเพื่อสนุกสนานหรือเพื่อความงามเท่านั้น แต่การถ่ายภาพจะช่วยทำให้เห็นการพัฒนาของประเทศชาติได้’ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมประทับใจในพระองค์ท่านมากๆ” อาจารย์สงครามเล่าด้วยความปีติ

‘ชัตเตอร์กล้องของฉันดัง 7 บาทเสมอ’

ขณะเดียวกันการที่ตรัสว่า “ให้ถ่ายภาพกันดีๆ เรายังผลิตฟิล์มเองไม่ได้” อาจารย์สงครามบอกว่า เป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงพื้นฐานเลย นอกจากนี้พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า “เคยฟังเสียงชัตเตอร์กล้องตัวเองบ้างไหมล่ะว่าดังยังไง”

“ชัตเตอร์กล้องของฉันดัง 7 บาทเสมอ”

ทุกครั้งที่กดชัตเตอร์กล้องจะบอกว่าฉันเสียเงินไป 7 บาทแล้วนะ ค่าฟิล์ม ค่าล้าง ค่าภาพ ค่าเดินทาง ค่าอะไรต่อมิอะไรอย่างผมอยู่โรงงานทำเลนส์ทำกล้องก็จะรู้ว่าการกดชัตเตอร์ 1 ครั้ง เมื่อชัตเตอร์ทำงานเกิดการเสียดสี สปริงทำงาน ลูกปืนทำงานไดอะแฟรม (Diaphragm) ทำงาน แบตเตอรี่ทำงาน มันก็ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่อยู่ในนั้น

นี่คือสิ่งที่พวกเราจำเป็นประโยคทองมาเลยว่า กดชัตเตอร์ทุกครั้งก็เสียเงินแล้ว แม้แต่ทุกวันนี้เวลาผมไปเป็นวิทยากรบรรยายที่ไหน ผมก็จะยกตัวอย่างเรื่องนี้ให้ทุกคนฟัง ทุกคนก็มักจะบอกว่า ตอนนี้ใช้กล้องดิจิทัลแล้ว ผมถามว่าแล้วกล้องดิจิทัลคุณไม่เสียเหรอ คุณซื้อกล้องมาตัวหนึ่ง เสียเงินหรือเปล่า แบตเตอรี่คุณใช้ไหม ทุกครั้งที่กดชัตเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ทำงานไหม วงจรมันก็เสื่อมไปทีละนิด แม้แต่ตัวพิกเซลที่คุณบอกว่ามี 10 ล้านพิกเซล หรือจะ 20 ล้านพิกเซล คุณกดชัตเตอร์ 1 ครั้ง แสงก็ตกกระทบพิกเซลของคุณ 1 เม็ดทุกครั้ง นั่นก็คือค่าเสียหาย

พระองค์ท่านทรงรับสั่งให้เราเป็นคนมัธยัสถ์ ไตร่ตรองก่อนที่จะกดชัตเตอร์ทุกครั้ง

ครบ 6 องค์ประกอบภาพถ่าย

ถามถึงพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ อาจารย์สงครามบอกว่า ทรงเป็นอัครศิลปินโดยแท้

 

“ทุกครั้งที่พระองค์จะกดชัตเตอร์ทุกภาพ…ผมก็เคยกราบบังคมทูลถามท่านเหมือนกันว่า ‘ภาพแบบนี้ท่านได้ทอดพระเนตรเห็นอะไรถึงได้ตัดสินใจกดชัตเตอร์’ เพราะทุกภาพล้วนแต่มีความสวยงาม เรื่องแสง เรื่องสี ดีหมดทุกอย่างเลย ผมเลยตั้งนิยามได้ง่ายๆ ว่า ภาพของในหลวงครบ 6 องค์ประกอบของการถ่ายภาพ คือ สวยด้วยแสง แรงด้วยสี ดีด้วยเรื่อง เฟื่องด้วยปัญญา แสวงหา และรอคอย พระองค์ท่านมีครบหมดเลย”

เคยเห็นพระองค์ท่านบุกป่า ฝ่าเขา ข้ามห้วยใช่ไหม ผมก็เลยให้ข้อสังเกตว่าพระองค์ท่านนั้น ไม่มีภูเขาใดสูงเกินใต้ฝ่าพระบาทของในหลวง ร.9 ของพวกเรา ไม่มีป่าใดลึกเกินกว่าที่พระบาทของพระองค์ท่านจะเข้าไปถึง ไม่มีศิลปะใดที่จะมาขีดวงให้พระองค์ท่านได้ ชีวิตใครก็ไม่มีความยืนยาว แม้แต่พระองค์ท่านก็ทรงจากเราไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าแม้พระองค์ท่านจะจากเราไป แต่พระองค์นั้นไม่เคยไปจากหัวใจของพวกเราปวงชนชาวไทยไปได้เลย

กล้องคือเครื่องมือหยุดกาลเวลา

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ในการถ่ายภาพแต่ละครั้งพระองค์ท่านจะใช้หลัก 3D ง่ายๆ คือ 1.Documentary เมื่อกดชัตเตอร์ 1 แชะก็เป็นการบันทึกเรื่องราวบอกเล่า เพราะภาพถ่าย 1 ภาพพูดดังกว่าคำพูดเป็นพันคำ เวลาพระองค์ท่านจะเล่าอะไร พระองค์ท่านจะเล่าด้วยภาพ

2.Double Take คนสมัยใหม่ใช้คำว่า Before and After คือเมื่อพระองค์ท่านถ่ายภาพนั้นไว้แล้ว 10-20 ปีที่แล้วกลับไปถ่ายใหม่อีกครั้งเพื่อเป็นการเปรียบเทียบ

และ 3.Development การเปลี่ยนแปลงหรือสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศชาติได้ ช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วก็จะเห็นการพัฒนาไปอีก 50 ปีข้างหน้า ถ้าเราไปยืนถ่ายภาพที่เดิมเราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่งในหลวง ร.9 ทรงใช้ทฤษฎีง่ายๆ ที่นักถ่ายภาพพึงเข้าใจในเรื่องนี้

สงคราม โพธิ์วิไล

เป็นทฤษฎีที่อาจารย์สงครามบอกว่า ได้บทสรุปจากการศึกษางานถ่ายภาพของพระองค์ท่านโดยเฉพาะ

“สิ่งที่ได้จากพระองค์ท่านสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาต่อยอด การพัฒนาตรงนี้ผมเรียกว่าเป็นการพัฒนาก้าวหน้าได้ด้วยภาพถ่าย ได้บทสรุปเรื่องราวจากพระองค์ท่านว่า กล้องคือเครื่องมือที่หยุดกาลเวลาได้” อาจารย์สงครามบอก และว่า

ภาพถ่ายคืออัญมณีแห่งชีวิตที่ถูกเจียระไนโดยนักถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นอยากให้ลองย้อนกลับไปดูชีวิตเราในช่วงวัยเด็กที่พ่อแม่เราถ่ายภาพเราไว้ ถ้าไม่มีวันนั้น ต่อให้มีเงิน 1 ล้านบาท คุณก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นชีวิตคุณในตอนนั้นได้ ไม่เห็นใบหน้าไม่เห็นการแต่งกาย ไม่เห็นแววตา ดังนั้น กล้องคือเครื่องมือที่หยุดกาลเวลาได้

พัฒนาโครงการพระราชดำริจากภาพถ่าย

นอกจากนี้แล้วพระองค์ทรงรับสั่งเรื่องที่เป็นห่วงระบบของงานถ่ายภาพค่อนข้างเยอะ

อาจารย์สงครามบอก พร้อมกับยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายว่า เคยได้ตรัสถามผมว่า “พวกเรา นักถ่ายภาพเอาแบตเตอรี่ไปทิ้งกันที่ไหน อย่าทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองนะ มันอันตรายต่อระบบนิเวศวิทยาทางน้ำนะ”

ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงห่วงใยสิ่งแวดล้อม ทรงห่วงใยประชาชน คิดถึงไปในอนาคตข้างหน้าว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

สำหรับโครงการในพระราชดำริทั้ง 4,000 กว่าโครงการ พระองค์ท่านทรงพัฒนาด้วยวิธีการกดชัตเตอร์ ไปดูได้เลยว่าวันแรกที่ไปดอยอ่างขางเป็นอย่างไร วันแรกที่ไปเขาชะงุ้มเป็นอย่างไร วันแรกที่ไปโครงการชั่งหัวมันเป็นอย่างไร เห็นได้หมดเลยครับ

“กองการส่วนพระองค์ที่เป็นช่างภาพของในหลวง ร.9 ที่ผมรู้จักหลายท่านก็รู้เลยว่าถ้าเจออะไรให้กดชัตเตอร์ถ่ายรูปไว้เลยอีก 10-20 ปีไปถ่ายอีกก็เกิดการพัฒนาได้ด้วยภาพถ่ายทั้งนั้น” อาจารย์สงครามบอก

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของเรื่องราวในความทรงจำถึงพระราชาของปวงชนชาวไทย ที่ยังคงบอกเล่าบอกต่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความปีติอย่างมิรู้ลืม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image