‘คนจน’ คือใคร? อยู่ตรงไหนของสังคม เมื่อบ้านเมืองจะเดินหน้า แต่รัฐคิดล้าหลัง

ภาพ AFP

‘ไม่ปรับตัว-เกียจคร้าน-ถูกหลอกใช้-เหยื่อการเมือง’

เป็นกลุ่มคำที่ผู้นำในยุคนี้ใช้กับ “ผู้มีรายได้น้อย” ไม่ต่างจากการตอกย้ำวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ที่ทำให้เรื่องคนจนกลายเป็นปัญหาส่วนตัว

ทั้งที่ปัญหาเชิงโครงสร้างมีผลกระทบต่อการคงอยู่ในความยากจนหรือยกระดับชีวิตของคนในสังคม

“คนจน” ถูกตอกย้ำว่าเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการอุปถัมภ์เป็นพิเศษจากรัฐ ซึ่งนโยบายช่วยเหลือล่าสุดคือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จากการลงทะเบียนคนจน เปลี่ยนรูปแบบจากสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม

Advertisement

เส้นความยากจนที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2559 อยู่ที่ 2,667 บาท/คน/เดือน มีจำนวน 5,810 คน (เพิ่มจากปี 2558 ราวหนึ่งพันคน)

ขณะที่การลงทะเบียนคนจนของรัฐบาล กำหนดให้มีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท หรือราว 8,333 บาทต่อเดือน มีจำนวน 14.1 ล้านคน

แท้จริงแล้วคนจนคือใคร อยู่ตรงไหน และควรช่วยเหลืออย่างไร

Advertisement

อย่ามองคนจนจากมิติเดียว

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นไว้ในงานสัมมนา “คนจนในบริบทที่เปลี่ยนไปในสังคม” ว่า การลงทะเบียนคนจนกำหนดรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท คนที่ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท เดือนละราว 9,000 บาท จะถือว่าไม่เป็นคนจนตามเกณฑ์ การนิยามเช่นนี้แคบไป นำไปสู่แนวคิดนโยบายเกี่ยวกับคนจนที่ถูกลดทอนลง ขณะที่เกษตรกรหลายคนไม่ลงทะเบียนเพราะยุ่งยาก และต้องเข้ามารูดบัตรในเมือง

ประภาสเสนอว่า หากมองคนจนจากเกณฑ์ของเส้นความยากจนปีล่าสุด คือคนที่มีรายได้น้อยกว่า 2,667 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินเท่านี้พอยังชีพหรือไม่ ขณะที่มีอีกกลุ่มหนึ่งคือ “คนเกือบจน” เป็นคนที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

แต่อีกมิติหนึ่งคือการมองเชิงโครงสร้าง จะทำให้เห็นคนมีปัญหาเรื่องความยากจนอีกหลายกลุ่ม

1.คนจนในโครงสร้างของระบบการผลิตที่เอารัดเอาเปรียบ เช่น เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินหรือไม่พอทำกิน มีอยู่ 1.5 ล้านคน จะนับได้ไหมว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนจนในแง่ปัจจัยการผลิต ขณะที่มีเรื่องการกระจุกตัวของที่ดินโดยบางบริษัทบางกลุ่ม หรือปัญหาที่ดินในเขตป่า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็มีนโยบายทวงคืนผืนป่า

“ส่วนชาวนาในไทยมีอยู่ราว 15-17 ล้านครัวเรือน รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หลังโครงการจำนำข้าวเหลือราคาตันละ 5-6 พันบาท หากเป็นนาเช่าเหลือกำไรราวไร่ละ 500-1,000 บาท แม้รายได้อาจจะเยอะ แต่หักต้นทุนแล้วเหลือไม่เท่าไหร่”

2.คนจนอำนาจ จนโอกาส เป็นคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐ โครงการขนาดใหญ่ เช่น การเกิดขึ้นของสมัชชาคนจน สัมพันธ์กับมิติทางการเมืองและความเป็นประชาธิปไตย เพราะขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ

3.กลุ่มคนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง เป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับให้อยู่ในซอกมุม เช่น คนไร้บ้านหรือคนที่มีปัญหาจากเรื่องเขตแดน ไม่ใช่เพียงจนรายได้ แต่ถูกเพิกเฉย ทำให้เป็นคนนอก จะทำให้เราเห็นปัญหาคนจนได้กว้างขึ้น

ดร.ธร ปีติดล

‘คุณคือคนจน’ ตอกย้ำซ้ำด้วยนโยบายรัฐ

หลายรัฐบาลพยายามเข็นนโยบาย “ช่วยคนจน” ออกมา แต่ก็ไม่มีทีท่าจะแก้ปัญหาได้ ขณะที่ “บัตรคนจน” พยายามลดงบประมาณให้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม จากการลงทะเบียนคนจน

ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแยกว่าใครเป็นคนจน เพื่อรัฐจะได้ใช้ทรัพยากรในการช่วยเหลือตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่างจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เป็นการช่วยเหลือในรูปแบบถ้วนหน้าทุกคน

ดร.ธรยกแนวคิดจากหนังสือ The Broken Ladder ของ Keith Payne ชี้ถึงผลจากการมองว่าตัวเองเป็น “คนจน” สร้างผลกระทบต่อชีวิต ทำให้เกิดช่องว่างความใฝ่ฝันว่าตัวเองจะไม่มีอนาคตเหมือนคนที่ฐานะดีกว่า จนถึงพร้อมที่จะทำอะไรเสี่ยงในชีวิต มีโอกาสเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดเมื่อยินดีเสี่ยงมากกว่าคนอื่น

ขณะที่ “บัตรคนจน” เป็นการตอกย้ำว่า “คุณคือคนจน”

ซึ่ง ดร.ธรเห็นว่า การช่วยเหลือแบบเจาะจงเช่นนี้ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ต้องระวังว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ต่ำกว่าของคนจน ทำให้คนไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ต่อปัญหานี้ เขามองว่า “ประชาธิปไตย” จะมีคุณค่าโดยตรงต่อคนจน เพราะเป็นเรื่องสิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

แล้วประชาธิปไตยแก้ปัญหาความยากจนได้ไหม?

ดร.ธรยกตัวอย่างจากงานวิจัยของ Amartya Sen เรื่องภาวะความอดอยากจากปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารในเบงกอล (The Great Bengal Famine of 1943) พบว่าภาวะอดอยากไม่ได้เกิดเพราะอาหารไม่พอ แต่เกิดจากระบบการเมืองที่ไม่ฟังเสียงผู้คน สื่อถูกปิด ผู้ปกครองไม่ทราบปัญหาที่แท้จริง

“ประชาธิปไตยสำคัญกับการแก้ปัญหาความจน เพราะเปิดช่องทางให้ข้อมูลข่าวสารเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง บทบาทสื่อและฝ่ายค้านช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลไม่ละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน ประชาธิปไตยเป็นช่องทางให้ทุกคนในสังคมแปรความต้องการของตัวเองไปสู่นโยบาย เช่นปี 2540 มีนโยบายตอบสนองคนจนชุดใหญ่ การหายไปของกระบวนการนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดให้มากในภาวะที่ประเทศกำลังเปลี่ยนทิศทางการเมือง” ดร.ธรกล่าว

ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์

มุมมองล้าหลัง ไม่แก้แต่ซ้ำเติม

ด้าน ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อปี 1950 Oscar Lewis เสนอว่า คนยากจนไม่เคยลืมตาดูโลก ไม่สนใจการเมืองหรือการมีส่วนร่วมในแง่การพัฒนา ทำให้จมปลักอยู่ในวัฒนธรรมความยากจน ปัจจุบันชนชั้นนำไทยยังมีวิธีคิดแบบนี้อยู่ ทั้งที่ไม่มีใครมองอย่างนี้อีกแล้ว เพราะเขาพบว่าคนยากจนกระตือรือร้นทางการเมือง สนใจไขว่คว้าโอกาสความก้าวหน้าในชีวิต เกษตรกรไม่เคยหยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา มีอาชีพหลากหลายกว่าคนในเมือง เป็นอะไรก็ได้เท่าที่นโยบายรัฐส่งเสริมให้เป็น แต่ก็ยังจนอยู่

“เมื่อเกิดแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ประเทศต่างๆ ตัดงบสวัสดิการช่วยเหลือคนจน เกิดกระแสแอนตี้รัฐสวัสดิการในอังกฤษและอเมริกา มุมมองนี้มาถึงไทยหลังพ้นประชานิยมมาแล้ว บอกว่าเราใช้จ่ายเพื่อคนข้างล่างเยอะ ให้หันมาพึ่งตัวเอง บอกว่าเกษตรกรต้องลดรายจ่าย ทำบัญชีครัวเรือน สอนลูกหลานให้รู้จักฐานะตนเอง นี่คือวิธีคิดของผู้บริหารประเทศ

“จากนั้นมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการตัดลดสวัสดิการ ทั้งรถเมล์ฟรี ค่าน้ำ-ค่าไฟฟรี หรือพยายามยกเลิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหลายครั้ง สะท้อนวิธีคิดที่มองว่าคนยากจนเป็นภาระ ฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักประมาณตนเอง”

ปี 2559 มีผู้ลงทะเบียนคนจน 8.3 ล้านคน ปีนี้เพิ่มเป็น 14.1 ล้านคน ขณะที่สถิติคนยากจนของสภาพัฒน์ ปี 2558 มี 7.2 เปอร์เซ็นต์ และปี 2559 เพิ่มเป็น 8.61 เปอร์เซ็นต์

ผศ.ดร.สามชายมองว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เกี่ยวพันกับการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจน

“ปัจจุบันเรามีวิธีคิดต่อคนยากจนแบบเมื่อ 60 กว่าปีก่อน คือต้องสงเคราะห์ เยียวยา และกันคนจนออกไป เพราะปรับตัวไม่ทัน ขี้เกียจ เป็นภาระ เป็นปัญหา น่าสนใจว่าปี 2545 ที่มีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมา งบประมาณรายจ่ายของไทยมีอยู่ 1.1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันปี 2561 เรามีงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท เพิ่มมาเกือบ 3 เท่าตัว แต่งบช่วยคนจนไม่พอ และพยายามตัดงบนโยบายด้านสุขภาพ

“ถ้าเรามองใหม่ แทนที่จะมองว่าคนจนเป็นคนที่ปรับตัวไม่ได้ เป็นภาระ แต่มองว่าเขาคือผลพวงความบกพร่องของนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาล เขาเป็นคนที่เสียสละจากการพัฒนา คนจนเสียสละพื้นที่ทำกิน ไปทำเขื่อน เหมือง โรงงาน โรงไฟฟ้า ถูกไล่รื้อทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วเอาเขาไปเป็นแรงงาน พื้นที่เมืองดึงทรัพยากรเขามาใช้ แล้วก็กันเขาออกไปและใช้การสงเคราะห์แทน ทำให้ความยากจนเพิ่มมากขึ้น คนยากจนเป็นผลพวงความผิดพลาดล้มเหลวของการดำเนินนโยบายในอดีตที่ผ่านมา การแก้ปัญหาจึงต้องนับรวมเข้ามา ไม่ใช่กันออก เขาเป็น Voter เสียภาษี ทำตามกฎหมาย ปฏิบัติตามนโยบาย สิ่งที่ควรทำคือนับรวมเขาเข้ามาในฐานะพลเมืองของรัฐ”

เขาแนะว่า สิ่งที่ควรทำคือ 1.ดำเนินนโยบายโดยนับรวมคนยากจนเข้ามา สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและสิทธิ 2.ปกป้องทางสังคม เพราะเขาไม่ได้เป็นคนยากจนเพราะเวรกรรม แต่ถูกกระทำ จึงควรดำเนินการปกป้อง ไม่ให้ถูกโครงการหรือนโยบายรัฐทำให้ลำบากมากกว่าเดิมที่เป็นอยู่

“แต่สิ่งที่รัฐทำตอนนี้ตรงข้ามกับที่พูดมาทั้งหมด อย่างน้อยประเทศที่จะจัดสวัสดิการให้คนยากจนได้เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และนโยบายปกป้องทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีประชาธิปไตย ผู้ปกครองเป็นตัวแทนของประชาชน”

ผศ.ดร.สามชายกล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าจะแก้ปัญหาความยากจน สิ่งแรกที่ควรกระทำคือการเลือกตั้ง”

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

‘สังคมผู้ประกอบการ’ คนจนเจ็บหนักกว่าเดิม

“หากเราไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม ก็ไม่มีวันเข้าใจความยากจนและคนจนได้”

เป็นคำกล่าวของ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เขาเคยทำวิจัยร่วมกับคณะ จนมาเป็นหนังสือ “ลืมตาอ้าปาก จากชาวนา สู่ผู้ประกอบการ” มีข้อเสนอที่ย้ำหลายครั้งคือ “สังคมชาวนา” ได้เปลี่ยนเป็น “สังคมผู้ประกอบการ” แล้ว

ชนบทไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมแบบเดิมที่คนชั้นกลางในเมืองจินตนาการอีกต่อไป

ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ 1.สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 2.คนจนอยู่ตรงไหนของสังคม

“สังคมไทยลดทอนปัญหาคนจนให้เป็นปัญหาของปัจเจกชน เช่นที่บอกว่า ‘จน เครียด กินเหล้า’ หรือพูดว่าเด็กแว้นเกเรเพราะพ่อ-แม่ไม่สั่งสอน เราต้องทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมของสังคม โดยต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะนักประวัติศาสตร์ถือว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมย่อมทำให้ความจนและคนจนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ไม่มีความจนและคนจนที่คงที่”

จากการทำงานวิจัย ศ.ดร.อรรถจักร์พบว่า “สังคมชาวนาจบแล้ว” สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามีคนทำนา แต่เป็น “ผู้ประกอบการนา” หรือ “ผู้จัดการนา”

“สังคมชาวนาหรือสังคมเกษตรกรรมแบบเดิมไม่เหลืออยู่ แต่เป็นสังคมผู้ประกอบการในชนบท ผมคุยกับคนขับแท็กซี่ เขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ทำนาสามารถสั่งงานทางโทรศัพท์ได้ ในหมู่บ้านเขาก็ทำแบบนี้หมดแล้ว ส่วนทางใต้ กรีดยาง-แทงปาล์ม ก็จ้างหมดแล้ว”

อรรถจักร์ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่ต้องคิดคือ คนจนในสังคมผู้ประกอบการเจ็บปวดหนักหน่วงกว่าในสังคมชาวนา เพราะต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตนเองทั้งหมด ไม่สามารถรับความช่วยเหลือจากเครือญาติแบบสังคมชาวนามาเกื้อหนุนได้

ศ.ดร.อรรถจักร์บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้ประกอบการผลักคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปติดมุมมากขึ้น ชาวนาไม่ได้มีรายได้จากการทำนาอย่างเดียว แต่ทำงานหลายอย่าง แม้จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่หลุดพ้นความยากจน

“ในสังคมชนบท คนจนขยับมาเป็น ‘เกือบจน’ ได้ เมื่อมีการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ สามารถมองหาตลาดใหม่ เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ รวมถึงการจัดระบบการผลิต แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนประสบความสำเร็จ คนที่ขยับออกจากความจนไม่ได้ ท้ายที่สุดจะมาเป็นแรงงานประจำในพื้นที่ กลายเป็นผู้ประกอบการด้วยการขายแรงงาน

“ผมเสนอว่า ตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมผู้ประกอบการ ถ้ายังคิดว่าเป็นสังคมชาวนาก็จะตอบคำถามแบบเดิม แก้อะไรไม่ได้ แบบการแจกบัตรคนจน รัฐบาลนี้ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย คิดถึงสตาร์ตอัพที่มองแต่ผู้ประกอบการระดับบน แต่ไม่มองคนระดับล่างที่กำลังขยายตัวและเข้มแข็งกว่า”

ภาพ AFP

ส่วนคนจนใน “สังคมเมือง” ศ.ดร.อรรถจักร์เห็นว่ายังมีการศึกษาน้อยมาก ปัจจุบัน “สลัม” เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สลัมขยายตัวไปยังบ้านมั่นคง รวมถึงหมู่บ้านจัดสรรระดับล่าง ไม่ใช่พื้นที่สลัมแบบเดิม เขาคิดว่าคนจนเมืองอยู่ในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ แต่ยังไม่มีคนศึกษาความเปลี่ยนแปลงนี้

การแก้ปัญหาคนจน สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบให้เกิดความหลากหลายของทางเลือกมากขึ้นใน 2 ระดับ

1.ระดับนโยบาย ทำให้ผู้ประกอบการในชนบทเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ใช่ในมุมมองแบบที่รัฐบาลทุกยุคมีต่อเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลักษณะของคนชั้นกลางในเมืองที่มีความเมตตาสงสาร ต้องก้มลงไปให้เงินเขา ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด อาจตั้งศูนย์ผู้ประกอบการท้องถิ่นในทุกส่วน

รวมทั้งนโยบายต้องส่งเสริมความยืดหยุ่นของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ซึ่งมีอยู่ 65 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงาน แต่ถูกรังแกเป็นระยะๆ เมื่อเขาแข็งแรงขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่ภาคการผลิตอย่างเป็นทางการที่เสียภาษีอีกแบบหนึ่ง

“เราต้องคืนการเมืองให้ชาวบ้าน เพราะการเมืองที่กระจุกตัวอยู่ในชนชั้นนำที่มองชนบทแบบเดิมด้วยสายตาที่ล้าหลังไป 40-50 ปีนั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว”

2.ระดับเครือข่ายหรือพื้นที่ ให้นึกถึงหน่วยงาน อปท. ซึ่งจะสามารถถักสานเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ได้หากมีความตระหนักและความรู้ เช่น ที่สุโขทัย มีผู้ใหญ่บ้านร่วมกับ อบต.ปลูกมะนาวส่งขายการบินไทย ทั้งหมดนี้คือคลัสเตอร์ระดับท้องถิ่น

“เราต้องสร้างโดยคิดว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมชาวนา มันเปลี่ยนไปแล้ว ต้องคิดเรื่องคนจนในทุกมิติที่สัมพันธ์กับทุกอย่าง และต้องเริ่มต้นวันนี้ เพราะคนที่ร่วงจากคนเกือบจนมาเป็นคนจน ชีวิตจะทุกข์มากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในสังคมผู้ประกอบการ คนจนจะเจ็บปวดหนักหน่วงและถูกทิ้ง ถ้าไม่แก้ไขคนไร้บ้านในเมืองจะเพิ่มขึ้น ต้องคิดและทำเรื่องนี้ให้ชัดเพื่อประคองสังคมไทยให้เดินไปอย่างที่เราฝัน” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยยังหาคำตอบไม่ได้ เมื่อการแก้ปัญหาหลักวางอยู่บนนโยบายรัฐ ในห้วงเวลาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image