เอ็มโอยูฉบับใหม่ ‘ไทย-จีน’ ปั้นหลักสูตรไฮสปีด มุ่งพัฒนาบุคลากร ‘ระบบราง’

“โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน” โครงการความร่วมมือที่ถูกกล่าวถึงตั้งแต่สมัยประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง แต่ก็ต้องถูกพับไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัยต่างมีความพยายามนำโครงการนี้มาดำเนินการ

นับตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน ในยุคสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบความร่วมมือโดยให้จีนเข้ามาลงทุนและให้สิทธิการใช้ประโยชน์จากที่ดินตลอดสองข้างทางรถไฟ มายังรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติชี้ขาดว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้โครงการ “สร้างอนาคตประเทศไทย 2020” ในสมัยนั้นต้องล้มไป

จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถือได้ว่าโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเริ่มก่อตัวอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด หลังจากมีการตกลงปรับรูปแบบให้จีนร่วมทุนประมาณ 60% แต่ข้อตกลงไม่ลงตัว จนในที่สุดได้ข้อสรุปว่ารัฐบาล คสช.จะสร้างประวัติศาสตร์ลงทุนก่อสร้างโครงการนี้เองด้วยงบประมาณ 1.79 แสนล้านบาท โดยจ้างประเทศจีนให้มาสร้างให้

เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเริ่มขับเคลื่อนขึ้นมาสู่ความจริงมากยิ่งขึ้น กระแสสังคมจึงเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในหลายองค์ประกอบ ความกังวลที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือปัญหาความเพียงพอของจำนวนบุคลากรที่จะต้องถูกป้อนเข้าสู่โครงการนี้ในอนาคต

Advertisement

ซึ่งมีการคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องการบุคลากรรถไฟราว 30,000 คน จากปัจจุบันมีเพียง 11,000 คน เท่ากับขาดอยู่ประมาณ 20,000 คน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน รฟท.ก็ประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแล้ว ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายต้องทำงาน 12-16 ชม.ต่อวัน จากปกติ 8 ชม.ต่อวันเลยทีเดียว

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบุคคลากรที่เกี่ยวเนื่องกับ “รถไฟ” จึงได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทย-จีนเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

Advertisement

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้รับการติดต่อจาก มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล เซาธ์ จากมณฑลหูหนาน ประเทศจีน ว่าอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรรถไฟในระยะยาว และเนื่องจากประเทศจีนมีความคิดในการลงทุนสร้างและพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยต้องการขยายเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจการส่งออกและขนส่งสินค้า รวมถึงการท่องเที่ยวให้มีความรวดเร็วและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความต้องการในองค์ความรู้เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงเพื่อก้าวตามแผนยุทธศาสตร์ 4.0 เช่นเดียวกัน

จึงเกิดการติดต่อไปยัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำในการผลิตช่างเทคนิค นักเทคโนโลยีและวิศวกรปฏิบัติ ที่มีความพร้อมเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับรองรับการพัฒนากำลังคน รวมถึงมีจุดแข็งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และมีห้องปฏิบัติการด้านระบบรางอยู่แล้ว

พินิจ จารุสมบัติ

พินิจเล่าถึงภาพรวมของงานครั้งนี้ว่า ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไทยกับจีนเป็นครอบครัวเดียวกันมาอย่างเนิ่นนาน ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน เราเป็นเสมือนสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่าง 2 ประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา และอื่นๆ เนื่องด้วยการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนมีความก้าวหน้ามาก จีนมีระบบรถไฟความเร็วสูงยาวถึง 25,000 กิโลเมตร มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล เซาธ์ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูงอันดับหนึ่งของประเทศจีน และมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เลือกประเทศไทยเพื่อหวังเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียนเพื่อที่จะสร้างสถาบันที่มีหลักสูตรด้านรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน และส่งผลสะเทือนแก่เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงต่ออาเซียนเป็นอย่างมาก รวมถึงตอบสนองสถานการณ์โลกยุคใหม่อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจอย่างรวดเร็วแต่รัดกุมจึงเกิดขึ้นด้วยความตกลงปลงใจจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งพิธีจรดปากกาความร่วมมือนี้เกิดขึ้นระหว่าง เฉินชุนหยาง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล เซาธ์ และ สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัย มจพ. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ.

โดยเนื้อหาในความร่วมมือนั้น ก็เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร งานวิจัย การร่วมประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง การแลกเปลี่ยนบุคลากร การร่วมมือกันพัฒนากำลังคนรวมถึงการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การฝึกการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรนักศึกษาในโครงการ 2+2 ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่เรียนที่ มจพ. 2 ปี และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล เซาธ์ อีก 2 ปี รวมถึงมีแผนเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น และในอนาคตมีความมุ่งหวังก่อตั้งสถาบันรถไฟความเร็วสูงร่วมกัน เพื่อป้อนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด

เฉินชุนหยาง

สำหรับมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล เซาธ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งจากการรวมตัวของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีหลายด้านแตกต่างกัน ทั้งการขุด การสำรวจ การแปรรูป การแพทย์ รวมถึงอุตสาหกรรมระบบราง ที่เป็นหัวใจหลักในความร่วมมือครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ผลิตกำลังคนระดับช่างเทคนิค นักเทคโนโลยีและวิศวกร ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมระบบรางและการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีห้องทดลองระดับชาติที่ช่วยออกแบบ แก้ปัญหาทางวิศวกรรมและควบคุมความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งมีศาสตราจารย์ระดับชาติประจำอยู่ 15 คน ซึ่งเคยร่วมงานในโครงการระดับประเทศมาแล้วหลายโครงการ

“ทางมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในด้านระบบรางและรถไฟความเร็วสูง เราได้ศึกษาความเป็นไปได้ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งท้ายที่สุดเราตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นแห่งแรก เนื่องจากความสัมพันธ์ของสองประเทศที่ยาวนาน ประกอบกับไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่มีเส้นทางหลักของรถไฟความเร็วสูงถึง 3 เส้นทางวิ่งผ่าน เราจึงมีความเหมาะสมที่จะร่วมมือกัน” เฉินชุนหยางแสดงเจตนารมณ์

สุชาติ เซี่ยงฉิน

ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัย มจพ. กล่าวเสริมในเรื่องความขาดแคลนบุคลากรในอนาคตว่า โครงการนี้เป็นการสร้างโอกาสที่ดีแก่นักศึกษา แต่เรามองว่าในโครงการ 2+2 ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเป็นปีแรกนั้น มจพ.จะเปิดรับนักศึกษาเพียง 200 คน ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ จึงได้เปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้นด้วย ซึ่งใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน เพื่อเสริมความรู้แก่บัณฑิตจบใหม่ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมทางด้านอุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยเพิ่มบุคลากรได้พอสมควร อย่างไรก็ตาม เราได้รับเทคโนโลยีจากเจ้าของประเทศมาวางรากฐานพัฒนาร่วมกัน ต่อไปเราจะพัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในเรื่องของหลักสูตรอบรมวิศวกรรมการซ่อมบำรุง การพัฒนาเฉพาะทางบางอย่าง ซึ่งทุกหลักสูตรจะส่งเสริมให้โครงการรถไฟความเร็วสูงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“ด้วยทาง มจพ.จะครบรอบ 60 ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขึ้นหนึ่ง มพจ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีที่ 60 ของมหาวิทยาลัย จะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ของทั้งทาง มจพ. และมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล เซาธ์” สุชาติกล่าวทิ้งท้าย

จากเจตนารมณ์และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย คงได้สร้างความมั่นใจที่หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำขบวนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่น ถึงแม้หากย้อนกลับไปถึงความต้องการบุคลากร 20,000 คน ภายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า ความร่วมมือในครั้งนี้คงไม่สามารถปิดรูรั่วได้ทั้งหมด

แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีในจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รากฐาน ซึ่งก็คือการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image