ปลุก ‘ปีศาจ’ คืนชีพ รางวัลวรรณกรรมหน้าใหม่ สร้างโดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

เปิดรับต้นฉบับมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับ รางวัลปีศาจ รางวัลทางวรรณกรรมที่มีชื่อเดียวกับนวนิยายเรื่องเยี่ยมของ เสนีย์ เสาวพงศ์

งานนี้มี ศราพัส บำรุงพงศ์-ปทุมรส ทายาท เสนีย์ เสาวพงศ์ ร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรางวัลปีศาจด้วย

ศราพัส บำรุงพงศ์-ปทุมรส

โดยรางวัลวรรณกรรมเวทีนี้ เปิดรับต้นฉบับ “นวนิยาย” ไม่จำกัดรูปแบบ ความยาว และวิธีการนำเสนอ ด้วยหวังให้เป็นรางวัลที่สนับสนุนผลงานที่มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลง ทั้งเชิงรูปแบบ ความคิด และวิธีการ เพื่อต่อต้านและช่วงชิงความหมาย ตลอดจนพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ

ล่าสุดศราพัสได้สมทบเงินรางวัลชนะเลิศเพิ่มขึ้นอีก 100,000 บาท จากเดิม 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท

Advertisement

รวมถึงผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 4 เรื่องสุดท้าย จะได้รับการผลักดันและสนับสนุนเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือ และได้รับค่าตอบแทนตามมาตรฐานงานที่ได้รับการตีพิมพ์

ขณะเดียวกันทุกผลงานยังได้ ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน นั่งแท่นบรรณาธิการต้นฉบับ

กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและบรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี หนึ่งในคณะทำงานและกรรมการคัดเลือกผลงาน กล่าวในงานแถลงข่าวราวกลางเดือนพฤศจิกายนถึงจุดเริ่มต้น “รางวัลปีศาจ” ว่า เกิดจากคนไม่กี่คนรอบๆ ตัวที่เห็นว่าแนวโน้มด้านวัฒนธรรมยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลง

Advertisement

“มีรางวัลวรรณกรรมใดบ้างที่ผู้รับไม่ต้องหมอบราบลงไป รู้สึกติดค้าง หรือเป็นหนี้บุญคุณผู้มอบ..

“มีรางวัลใดอีกบ้างที่ผู้มอบเป็นตัวแทนของประชาชนคนธรรมดาทั้งหลาย แต่ผู้รับสามารถภาคภูมิใจ และรับรู้ได้ถึงความขอบคุณอย่างจริงใจที่ผู้มอบมีให้แก่เขาหรือเธอ ในฐานะผู้สร้างงานวรรณกรรมยอดเยี่ยม”

รวมถึงต้องการเปลี่ยนกรอบความคิดบางอย่างในการพิจารณาผลงาน โดยให้ความสำคัญกับงานที่ไม่ต้องตีพิมพ์เป็นหนังสือ ด้วยเชื่อว่าหลายครั้งที่ต้นฉบับเหล่านี้ส่งไปยังสำนักพิมพ์ มักถูกตัดทอนเขี่ยทิ้งลงถัง

สำหรับเกณฑ์การพิจารณา “รางวัลปีศาจ” กิตติพลขยายความว่า เป็น “เรื่องเล่า” ที่ท้าทายกรอบคิดและจารีตต่างๆ ที่พยายามรักษาสถานะอันไม่ปกติที่เกิดขึ้น การสร้างความเปลี่ยนแปลง การตั้งคำถามต่อสัจจะความจริง ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล่าจากผู้แต่งที่ไม่ใช่นักเขียนอาชีพ หรือผู้ที่เห็นว่าเขาหรือเธอไม่อาจพูดความจริงได้

“เรื่องเล่า” จึงต้อง “เล่า” หรือ “พูดความจริง” แทน

ตัวอย่างรูปเล่มผลงานทั้ง 4 เล่มที่ผ่านเข้ารอบ “รางวัลปีศาจ” เน้นความเรียบง่าย แต่เนี้ยบเฉียบของวัสดุ

 

อ่านเพื่อคัดเลือกงานที่’น่าอ่าน’

“อยากอ่านงานวรรณกรรมที่อยากอ่านจริงๆ”

คำกล่าวเริ่มต้นของ วริตตา ศรีรัตนา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกรรมการตัดสินผลงาน พร้อมเล่าว่า ชื่อรางวัลมีที่มาจากเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ โดยปีศาจในที่นี้ หากมองผ่านสายตาของตัวละครที่ชื่อสาย สีมา อาจหมายถึง “ปีศาจแห่งกาลเวลา” นั่นคือคนจากโลกธรรมดาที่ตั้งคำถามต่อระบบคุณค่ากระแสหลักที่มักรับมาโดยไม่คิด

หลายครั้งปีศาจเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนอกตัญญูต่ออดีต ต่อระบบระบอบที่หลายคนมองว่าไม่เห็นต้องเปลี่ยนอะไรมาก อยู่อย่างสบายใจ ทำไมต้องหาเรื่องใส่ตัวโดยการลุกขึ้นมาพูด เขียน กู่ร้องก้องตะโกน

“ในสังคมของคนดี เราต้องการปีศาจเพื่อให้คนดีสะท้อนย้อนดูตัว ทบทวนระบบคุณค่าที่ตนยึดถือ เราต้องการปีศาจเพื่อให้คนอกตัญญูได้ทบทวนว่าเส้นทางของคนที่ไม่อยากเป็นคนดีนั้นเป็นไปตามเหตุผลที่ควร หรือผลักดันด้วยความโกรธล้วนๆ นั่นคือความโกรธประชดประชันที่จะทำให้เสียใจในภายหลัง”

ขณะเดียวกัน วริตตามองว่า “รางวัลปีศาจ” เป็นหนึ่งในรางวัลวรรณกรรมที่ควรมีมากและหลากหลายกว่านี้ เพราะเป็นหนึ่งในพื้นที่ หนึ่งในสนามและเกมอันหลากหลายที่ “ผู้เล่น” สามารถ “ทดลองเล่นส่งบอล” กับเราได้ โดยเรามุ่งสร้างความหลากหลาย ไม่ผูกขาด สวมกอด และก้าวข้ามการนำเสนอ หรือแบรนด์ตัวเองว่าเป็นขั้วตรงข้ามของรางวัลที่เคยตั้งกันมา

ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง วริตตายอมรับตั้งแต่ต้นว่า รางวัลนี้ไม่มีทาง objective เป็นปรวิสัย หรือ absolute สัมบูรณ์ และไม่เสแสร้งเป็นเช่นนั้น

“ยืนยันได้ว่ากรรมการแต่ละคนไม่รับคำสั่งจากใคร นอกจากตัวเอง ในฐานะผู้โหยหางานวรรณกรรมแบบที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนรถยนต์ เรือ รถไฟฟ้า เดินทางชมเมือง วิ่งมาราธอน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่พาเราเคลื่อนผ่านใบหน้าของมวลชนที่เราเหมือนจะรู้จัก แต่ไม่มีวันรู้จัก แต่ก็อยากจะเขียนหา เขียนถึงด้วยความอยากรู้อันเปี่ยมหวัง”

ด้าน อาทิตย์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร หนึ่งในกรรมการคัดเลือกผลงาน ให้ความเห็นเป็นแนวเดียวกับวริตตา กล่าวคือ มันไม่มีทางเป็น objective แต่ท้ายที่สุดแล้วมันจะผ่านกระบวนการถกเถียง พูดคุย อันเป็น “หัวใจ” ของการศึกษาวรรณกรรม

อาทิตย์ ศรีจันทร์

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ายากที่สุดในการเลือกหนังสือแต่ละเล่มให้นักศึกษาอ่านคือ การเลือกเล่มไหน หรือเลือกเพราะอะไร นี่คือสิ่งลำบากมากสำหรับคนที่เป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม และสำหรับคนที่ทำหน้าที่กรรมการต้องตัดสินว่าอันนี้ดี อันนี้ดีกว่า เป็นเรื่องยากมาก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผมอยากให้คิดว่าเป็นกระบวนการขั้นตอนการถกเถียงกัน”

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ชีวิตของนวนิยาย “ปีศาจ” ซึ่งอาทิตย์ขยายความว่า ชีวิตที่มันเกิดมาค่อนข้างสั้น แต่กลับมีชีวิตชีวาหลังจากนั้นราว 10 ปีก่อน เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนออกมาเปลี่ยนแปลง ท้าทาย ปกป้องสิ่งที่เขาเชื่อ โดยอาทิตย์คิดว่ารางวัลปีศาจเป็นรางวัลที่มีกลิ่นอายหรือจิตวิญญาณของนวนิยาย “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์

 

“หวังว่าในอนาคตจะมีโอกาสได้เลือกวรรณกรรมรางวัลปีศาจให้นักศึกษาอ่าน แนะนำกับเด็กว่านี่คือวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลปีศาจ รางวัลวรรณกรรมของประชาชนอย่างแท้จริง”

มาถึงอีกหนึ่งกรรมการตัดสินผลงาน พิพัฒน์ พสุธารชาติ นักวิชาการอิสระ ได้ขยายความเรื่องการโยนบอลใหม่ดังที่วริตตากล่าวไว้ว่า เป็นการเปิดสิ่งใหม่ขึ้นมา เพื่อความหวังใหม่ๆ เพราะการทำเหมือนเดิมตลอดเวลาเสมือนมีเพดานอยู่ นักเขียนยังเขียนเหมือนเดิม

แต่รางวัลปีศาจเป็นรางวัลที่เปิดเพดานมากขึ้น นักเขียนได้เขียนมากกว่าแต่ก่อน หากงานมีคุณภาพ คณะกรรมการเห็นด้วย ได้รับรางวัล นับเป็นการเปิดโอกาสสร้างทุนทางสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่

“กรรมการแต่ละท่านอาจมีอุดมการณ์ต่างกัน ก็ต้องมาเถียงกันว่าคุณว่าอย่างไร คิดว่าน่าจะสนุกและได้งานดีๆ ออกมาให้ประชาชนได้อ่าน”

รางวัลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

ขณะเดียวกัน “รางวัลปีศาจ” ออกตัวว่ามีรากฐานมาจากประชาชน เปิดรับผลงานของประชาชน ตัดสินโดยประชาชน และมอบรางวัลโดยประชาชน

ไม่แปลกใจนักที่ผู้ร่วมงานบางท่านเกิดคลางแคลงใจต่อโครงสร้างการพิจารณารางวัลถึงความย้อนแย้งของคอนเซ็ปต์ตัวรางวัลเอง แม้จะกล่าวว่าเป็นรางวัลของประชาชนที่มองการตัดสินเป็นแนวระนาบเท่ากัน แต่ที่สุดแล้วผลงานก็ถูกพิจารณาโดยกรรมการมืออาชีพอยู่ดี

กิตติพล สรัคคานนท์

กิตติพลเริ่มตอบคำถามก่อนว่า คิดว่าทุกคนล้วนมีเรื่องเล่า และต้องมีพื้นที่หนึ่งสำหรับงานที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เนื่องจากทุกคนไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ การใช้เกณฑ์ของนักวิจารณ์วรรณกรรรมเป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เวิร์ก จึงเปิดรับประชาชนเข้ามาเป็นกรรมการสมทบ เพื่อให้ได้เสียงของคนทั่วไปมาช่วยบาลานซ์

“ผมคิดว่าจะมีบางงานที่ต่อมาจากความอัดอั้น เช่น ตอนเป็นทหารเกณฑ์ คุณถูกทำร้ายอย่างไร ในเรื่องที่คุณอัดอั้น คุณสามารถเล่าได้ ต้องพยายามผลักดันงานกลุ่มนี้ออกไป และเชื่อว่าต้องมีความเปลี่ยนแปลง หากผมสามารถอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้กรรมการทั่วไปฟังได้”

ส่วนอาทิตย์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เรามีกรอบหลวมๆ บางอย่างร่วมกันอยู่ ซึ่งหนีไม่พ้นธีมตัวรางวัล และคิดว่ามันจะไม่หนีไปจากนั้น การผลักดันให้เรื่องเล่าหลายๆ รูปแบบถูกผลักออกมาจากคนเขียน ไม่ว่าคุณจะอัดอั้นอะไรก็แล้วแต่ คุณเขียนเป็นเพลงยาวก็ได้ เขียนแบบทดลอง จะตีลังกาเขียนยังไงก็ได้

ด้านวริตตากล่าวว่า ความจริงแล้วอาจารย์สอนวรรณคดีอย่างตนเองหรืออาทิตย์นั้นไม่ใช่มืออาชีพ และไม่สามารถบอกได้ว่า

อาจารย์ที่สอนวรรณคดีเป็นมืออาชีพ ดังสำนวนหนึ่งที่บอกว่า “เพราะคุณทำไม่ได้ ก็เลยต้องสอน” แต่ด้วยอาชีพ ทำให้ได้อ่านวรรณกรรมมากมาย เปิดกว้างต่อแนวคิด ตั้งคำถามถึงระบบคุณค่าและความเป็นมืออาชีพ

“ด้วยความไม่เป็นมืออาชีพ เราตัดสินงานวรรณคดีด้วยความไม่เป็นมืออาชีพได้ เราจะไม่ฟันธง ไม่พูดว่างานในลักษณะนี้เป็นประเภทวรรณกรรมอันสัมบูรณ์ มีขาวหรือดำโดยชัดเจน”

งานแถลงข่าว “รางวัลปีศาจ” ราวกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เพดานการเซ็นเซอร์อยู่ตรงไหน ทำอย่างไรให้งานไม่ถูก’เขี่ยทิ้ง’

อีกข้อคำถามหนึ่งของผู้ร่วมงานคือประเด็น เพดานการเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นอย่างไร

ครั้งนี้อาทิตย์เริ่มตอบคำถามเป็นคนแรก โดยว่า “เชื่อว่าคณะกรรมการทุกคนไม่มีการเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว เพราะทุกคนก็ตั้งคำถามกับสังคมถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองเช่นกัน”

เกิดเสียงหัวเราะขึ้นช่วงสั้นๆ อาทิตย์จึงกล่าวต่อว่า เรื่องเพดานไม่น่าเป็นปัญหา หากเรื่องที่ส่งมาแหลมมาก ตรงไปตรงมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะที่สุดแล้วมันจะผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยกรรมการอยู่ดี

ด้านพิพัฒน์ตอบแบบรุ่นใหญ่ สไตล์กระชับ ความว่า ต้องดูว่าเขียนอะไร ดูความเป็นไปได้ ถ้าคมมาก แต่โดนยึด โดนจับ ก็เปล่าประโยชน์

ส่วนกิตติพลแจงว่า หากงานมีความล่อแหลม หรืออาจสร้างปัญหาทางข้อกฎหมาย ผู้เขียนควรมีศิลปะในการเล่าเรื่อง และหากมีเรื่องจริงที่อยากเล่า แต่ทำได้แค่เล่าเรื่อง ผู้เขียนต้องมีศักยภาพในการเล่าเรื่องให้ดีที่สุด

ปิดท้ายที่วริตตา เธอให้คำตอบว่า ในฐานะคนแปลงานของนักเขียนชาวเช็กคนหนึ่ง ขณะนั้นระบบเซ็นเซอร์ในเชโกสโลวะเกียเข้มพอสมควร นักเขียนคนนี้มีเทคนิคการหลีกหนีระบบเซ็นเซอร์โดยการเขียนแบบ

ไม่แบ่งย่อหน้า โดยที่ความเป็นจริงซ่อนอยู่ในนั้นเยอะมาก ทำให้งานอ่านยาก แต่งานได้ตีพิมพ์ทั้งใต้ดินและบนดิน

“งานวรรณกรรมที่ดี บางทีต้องวิพากษ์การเซ็นเซอร์ที่มีชั้นเชิง”

 


 

ผู้สนใจสามารถส่งงานเขียนประเภท นวนิยาย ไม่จำกัดความยาว รูปแบบ และวิธีการนำเสนอ ต้นฉบับต้องเป็นภาษาไทย และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน

สามารถส่งผลงานในรูปแบบ PDF, .doc หรือต้นฉบับพิมพ์ A4 ตามที่อยู่ 2281 สุขุมวิท 91 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260 หรืออีเมล์ [email protected] โดยต้นฉบับทุกชิ้นจะถูกปิดชื่อผู้เขียนก่อนส่งให้กรรมการคัดเลือกพิจารณา

ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2561 และประกาศรางวัลวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2561

ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน พ.ศ.2561

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊ก รางวัลปีศาจ หรือ http://spectreprize.org/

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image