คนรุ่นใหม่! พลิกโฉม โฟมยางพารา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต

หลังขับเคี่ยวกันมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศ “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์” เพื่อค้นหาสุดยอดเยาวชนนักออกแบบรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุโฟมยางพารา

ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน”

ในที่สุดกลุ่มนักศึกษาทีม “Group” จากสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอบครอง

Advertisement

กับผลงานที่มีชื่อว่า “Kid and Attentive เพราะชีวิตคือการเดินทาง” เป็นการออกแบบโดยการนำความนุ่มนิ่มของโฟมยางมานำเสนอในรูปแบบที่นอนสำหรับเด็ก ประกอบกับเทคนิคและลูกเล่นทำให้ “ที่นอน” ไม่ได้มีไว้สำหรับ “นอน” เพียงอย่างเดียว

นุธสิญจน์ เทือกตาหลอย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สมาชิกทีม Group เล่าว่า ตอนแรกสมาชิกทั้ง 3 คนในทีมมีแนวคิดจะทำผลงานอย่างกระเบื้องจากโฟมยางพารา จนทางรับเบอร์แลนด์ได้เข้ามาทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย จึงมองเห็นจุดเด่นของโฟมยางเรื่องความนิ่ม เลยมองว่ากระเบื้องคงจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ จึงหันมามองเรื่องที่นอนแทน

“พอเราได้โจทย์มาว่าเป็นที่นอน ก็คิดว่าจะทำที่นอนยังไงให้แตกต่างจากที่มีในปัจจุบัน ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นเด็กเลยออกแบบให้ที่นอนยางพาราเป็นของเล่นเด็กไปด้วย” นุธสิญจน์อธิบาย

Advertisement

ขณะที่ กาญจนา ศรีรินทร์ เสริมว่า กว่าจะได้ผลงานนี้มามีการปรับค่อนข้างเยอะมาก จากรอบแรกสุดเป็นหมอนกับที่นอน จนมีการพัฒนามาเรื่อยๆ ทั้งรูปแบบ ลวดลาย และผ้าห่มที่ใช้เศษโฟมยางพารามาปั่นเป็นเย็บคลุมด้วยผ้า ซึ่งส่วนประกอบทั้ง 3 ชิ้นสามารถจัดเรียงใหม่และนำมาเป็นของเล่นส่งเสริมด้านจินตนาการด้วย

ที่นอนยางพาราของทีม Group ยังเสริมด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอนาคตด้วย

ผลงานผู้ชนะเลิศ

รัฐนันท์ ชั่งเพ็ชรผล สมาชิกคนสุดท้ายของทีม เล่าว่า จากโจทย์ฟิวเจอร์ลีฟวิ่ง จึงมองว่าการทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจะต้องคำนึงด้วยว่าจะมีผลต่ออนาคตยังไง เป็นที่มาของการนำเรื่องของซีโร่ เวสต์ (Zero Waste) หรือขยะเป็นศูนย์มาใช้

“เพราะยางพาราเป็นวัตถุดิบที่ย่อยสลายยาก การทำลายจะต้องเผา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เราจึงนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ โดยการนำเศษยางพาราที่เหลือใช้จากเดิมจะต้องเผาทิ้ง นำมาปั่นละเอียดแล้วใช้แทนนุ่น ใส่ในหมอนและผ้าห่มสำหรับเด็ก”

“ส่วนตัวทีมของพวกเราก็คิดว่าจะชนะครับ (หัวเราะ) ตั้งแต่แรกก็พยายามหาความแตกต่างจากท้องตลาดทั่วไปว่าเราดีกว่าเขายังไง ซึ่งเราทำทั้งรูปแบบ การใช้ประโยชน์ และคาแร็กเตอร์ที่แตกต่าง แต่พอชนะแล้วก็รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก” เป็นความรู้สึกจากเยาวชนนักออกแบบจากแดนอีสาน

รางวัลชนะเลิศ ทีม “Group” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงานที่มีชื่อว่า “Kid and Attentive เพราะชีวิตคือการเดินทาง”

ด้าน ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม Group หนึ่งในทีมอาจารย์ผู้สนับสนุนการเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้ บอกว่า ปกติทางมหาวิทยาลัยจะพยายามหางานประกวดที่น่าสนใจและสอดคล้องกับเนื้อหาวิชามาให้เด็กนักศึกษาทำ รวมถึงโครงการครั้งนี้ทีมอาจารย์เห็นว่ามีความน่าสนใจ เลยเกิดเป็นความร่วมมือของทั้งคณะ โดยอาจารย์ทุกคนเข้ามาช่วยแนะนำให้ความรู้และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษากับเด็กแต่ละทีม

“ส่วนตัวผมมองว่าโฟมยางพารามันสามารถเป็นอะไรได้อีกเยอะมาก แต่ตอนแรกทุกคนก็ยังงงๆ กันอยู่ ตัวอาจารย์เองก็ไม่มีประสบการณ์หรือเทคนิคการผลิตยางพารา ตอนที่เด็กนำไอเดียมาเสนอก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติทางกายภาพของยาง เด็กก็ยังไม่รู้ อาจารย์ก็ไม่รู้ ก็เกิดเป็นความสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า จนกระทั่งทางรับเบอร์แลนด์ได้มาจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปที่มหาวิทยาลัย มีตัวอย่างมาให้ดู มีชิ้นงานมาให้ดู เด็กก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เริ่มสนุกและเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างผลิตภัณฑ์มากขึ้น”

ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร

จุดนี้เองนำมาสู่การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับศิษย์ ประกอบกับการ เวิร์กช็อปจากรับเบอร์แลนด์ที่บุกมาถึงขอนแก่น ช่วยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่อง “ยางพารา” มากขึ้น แต่การที่ทีมจาก ม.ขอนแก่น จะคว้ารางวัลชนะเลิศนั้น ชลวุฒิบอกว่าไม่คาดหวังมาก่อน

“ผมไม่รู้ว่าทีมจากมหาวิทยาลัยอื่นจะส่งผลงานแบบไหน จึงไม่กล้าคาดหวัง อีกทั้งผลงานชิ้นนี้ถ้ามองในประเด็นฟิวเจอร์ลีฟวิ่ง ผมก็มองว่ายังไม่ค่อยมีความเป็นอนาคตสักเท่าไหร่”

 

ชลวุฒิบอกอีกว่า สำหรับโครงการประกวดนับเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กค่อนข้างมาก มีทั้งการอบรมให้ความรู้ เวิร์กช็อปและพาเด็กไปดูกระบวนการผลิตที่โรงงาน จะเห็นได้ชัดว่าทีมที่ผ่านเข้ารอบมีพัฒนาการดีขึ้น

“ที่สำคัญ โครงการนี้มีจุดเด่นตรงเงื่อนไขว่านำไปผลิตจริง และมอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ให้กับเด็ก เป็นอะไรที่ใจปล้ำและกล้าหาญมาก ไม่เคยเห็นการมอบรางวัลแบบนี้มาก่อน เลยพยายามเอาจุดนี้มาผลักดันเด็กๆ ด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)”

ซึ่งแนวคิดการจัดการประกวดตลอดจนต่อยอดให้มีการผลิตจริงและแบ่งรายได้ให้กับทีมผู้ชนะ เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ รับเบอร์แลนด์ อุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพาราของไทย ส่งผลให้สะเทือนวงการออกแบบให้หันมามองพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับเบอร์แลนด์ บอกว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ คือความต้องการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์จากโฟมยางพารา ที่ปัจจุบันนำมาใช้ทำ “หมอน” กับ “ที่นอน” เป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับคนไทยและนักออกแบบไทยยังมองข้ามโฟมยางพาราอยู่

“เชื่อว่าการจัดงานครั้งนี้จะส่งผลในเชิงบวกให้สถาบันหลายแห่ง หรือนักออกแบบรุ่นใหญ่หลายท่านหันกลับมามองยางพาราและร่วมกันออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราให้กับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศไทยด้วย” เป็นมุมมองจากผู้ริเริ่มโครงการ

สำหรับผลงานชนะเลิศครั้งนี้ ฐวัฒน์ให้ความเห็นว่า ทีม Group สามารถตั้งโจทย์และตีโจทย์ของตัวเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือตั้งโจทย์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กแล้วทำโปรดักต์สำหรับเด็กอย่างแท้จริง มีการออกแบบดีไซน์สวยงามน่ารัก ที่สำคัญคือทำคะแนนได้ดีในส่วนของการผลิตได้จริง

“ทีมนี้เรียกได้ว่าเป็นทีมม้ามืด จากผลงาน 277 ทีม ทีมนี้ไม่ได้อยู่ในผลงานที่ผมมองเอาไว้ด้วยซ้ำ จนเขาได้นำเสนอผลงาน เราก็เริ่มเห็นอะไรหลายอย่าง ได้เห็นไอเดียแนวคิดที่น่าสนใจและความคิดเบื้องหลังที่เขาทำออกมา ถึงได้รู้ว่าเขามีความรอบคอบมากจริงๆ ในการใช้วัสดุโฟมยางพารา หรืออาจจะบอกได้ว่าเขามองภาพรวมและองค์รวมของการใช้ยางพาราได้อย่างสมบูรณ์แบบมาก ในเรื่องของการเอาโฟมยางพารามาใช้และเอาเศษเหลือจากยางพารามาปั่นเป็นเศษโฟมเพื่อทำเป็นผ้าห่ม ตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นซีโร่ เวสต์ แล้วยังสามารถเป็นอีโคโปรดักต์ (ECO product) ได้ด้วย ยังทำให้เห็นว่ายางพาราสามารถทำมาใช้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบฉีดมาเป็นแผ่นโฟม หรือเศษที่เหลือก็นำมาใช้ประโยชน์ได้หมด”

ฐวัฒน์บอกอีกว่า หลังจากนี้จะนำผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศไปพัฒนาต่อยอดให้เหมาะกับการใช้งานจริง ก่อนจะผลิตและจำหน่ายจริง โดยจะแบ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้กับทีมที่ชนะเพื่อให้เป็นกำลังใจกับเด็กและเป็นแบบอย่างให้กับน้องๆ นักออกแบบคนอื่นว่างานออกแบบของเขาสามารถสร้างเป็นผลงานจริงได้

ขณะที่ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการที่ร่วมการคัดเลือกและตัดสินการประกวดครั้งนี้ ระบุว่า ต้องยอมรับว่าทีมที่ชนะมีความชัดเจน มีความแตกต่างจากหมอนและที่นอนยางพาราที่มีอยู่ในท้องตลาด มีการครีเอตหมวดหมู่ใหม่ขึ้นมาอย่างชัดเจน

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต

“อีกประเด็นคือ ผลงานนี้โปรดักชั่นไม่ยากเลย คือลงทุนพลังงานนิดเดียวแต่ได้ของที่แตกต่างเยอะ ในเชิงกระบวนการแล้วเรารู้สึกว่ามันฉลาด ไม่ได้ทำอะไรมากเลย แค่เปลี่ยนรูปร่างและการใช้งานใหม่ คือทำอะไรที่น้อยแล้วได้รับผลลัพท์มากมันเจ๋งกว่า ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ผมมองว่าเขาโดดเด่นกว่าคนอื่น แล้วสิ่งที่เขาเสนอมา 3 คอลเล็กชั่น เรามองว่ามันสามารถเป็นอีก 10 คอลเล็กชั่นได้เลย เช่น เซตไดโนเสาร์ เซตสัตว์บก เซตสัตว์น้ำ เซตทศกัณฐ์ คือมันสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ โดยคอนเซ็ปต์ ขณะที่ผลงานอื่นอาจจะจบที่ตัวของมันเอง” เป็นเหตุผลของทีมคว้าชัยในมุมมองของคณะกรรมการ

รศ.ดร.สิงห์ทิ้งท้ายว่า สำหรับผลงานปีแรกก็รู้สึกดีใจที่มีเยาวชนสนใจมาก แต่อยากให้เพิ่มเติมเรื่องของเทคโนโลยี เพราะถ้าเป็นเรื่องของอนาคต ควรจะผนวกจินตนาการเข้ากับเทคโนโลยี เช่น ระบบเซ็นเซอร์ หุ่นยนต์เข้ามาทั้งในเชิงการผลิตและการใช้งาน แต่ตอนนี้นักออกแบบยังมีเวลาน้อย เชิงคอนเซ็ปต์ยังไม่เป็นเรื่องของอนาคต แล้วอย่างการตัดสินเกิดความรู้สึกว่าทั้ง 10 ผลงานนี้ตัดสินใจไม่ได้เลยว่าจะเลือกชิ้นไหน

อย่างไรก็ตาม โครงการครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการนักออกแบบไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้หันกลับมามองยางพารา ทรัพยากรสำคัญของประเทศ และร่วมต่อยอดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

ภาพรวมทีมชนะเลิศการประกวด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image