7 ปีที่รอคอย TTW เดินหน้าสร้าง ‘ฝาย’ สานต่อปลูกป่า 1 ล้านต้น

สําหรับคนกรุง แค่เปิดก๊อกก็มีน้ำให้ใช้สบายๆ ตลอดเวลา

ทว่า ในความเป็นจริง น้ำประปาที่เราใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันถ้าไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดี ย่อมมีวันหมด เพราะน้ำประปาก็มาจากแม่น้ำ เช่น น้ำประปาซึ่งเป็นสายหลักหล่อเลี้ยงให้กับคนในพื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม และพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต ทั้งในเขตบ้านพักอาศัยและเขตอุตสาหกรรม มีต้นทางมาจากแม่น้ำท่าจีน

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ของประเทศ เพื่อส่งต่อให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จึงจัดทำโครงการปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจำนวนทั้งสิ้น 5,000 ไร่ หรือ 1 ล้านต้น โดยทำการปลูกปีละ 1,000 ไร่ หรือ 2 แสนต้น ตั้งแต่ปี 2554-2558 และบำรุงรักษาป่าที่ปลูกทุกแปลงอย่างต่อเนื่องอีก 2 ปี รวมระยะเวลาของโครงการ 7 ปี (พ.ศ.2554-2560) โดยต้นไม้ที่เติบโต และสมบูรณ์จะถูกส่งมอบให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นสมบัติของแผ่นดินต่อไป

Advertisement

แม้จะเพิ่งส่งมอบต้นกล้าล็อตสุดท้ายให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นอันครบ 1 ล้านกล้า บนพื้นที่ผืนป่าต้นน้ำแม่กลอง ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ หมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพื่อให้โครงการนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีทีดับบลิว จึงมีดำริโครงการเฟส 2 ในทันที

ชัยวัฒน์บอกว่า บมจ.ทีทีดับบลิว เป็นบริษัทเอกชน ผลิตน้ำประปาส่งให้การประปาส่วนภูมิภาค ทั้งในระดับครัวเรือน และระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม และปทุมธานี-รังสิต ฉะนั้นเราเป็นผู้ใช้ทรัพยากรน้ำ ถามว่าน้ำมาจากไหน จากแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีป่าต้นน้ำส่วนหนึ่งจากตรงนี้ (อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี) เราอยากจะทำอะไรให้กับป่าต้นน้ำ และเป็นที่มาของโครงการ 1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ

ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์

“วันนี้ส่งมอบแปลงที่ 5 บนพื้นที่ 1,000 ไร่ แม้ว่าวันนี้จะจบโครงการแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะป่าจะให้อุดมสมบูรณ์ต้องมีความชุ่มชื้น ฉะนั้นจบจากแปลงนี้เราจะทำฝายน้ำล้นสร้างความชุ่มชื้นอย่างต่อเนื่อง ต้องขอบคุณกรมอุทยานฯ อีกครั้ง หวังว่าในอีก 5 ปี เมื่อฝายเสร็จ ที่นี่จะเป็นตัวอย่างที่ดีบนความตั้งใจจะทำประโยชน์อย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมาเรามีเจ้าหน้าที่มาทำงานร่วมกับชุมชนบนเหมืองปิล๊อก ที่เราทำเราไม่ได้ทำแค่ต้นน้ำ เราดูแลกลางน้ำและปลายน้ำด้วย” และว่า

Advertisement

เรื่องของทรัพยากรน้ำ บ้านเราไม่ได้โชคดีอย่างในประเทศที่มีหิมะ เมื่อหิมะละลายก็ให้น้ำใช้ตลอด แต่เราต้องดูแล เพราะเป็นห่วงรุ่นลูกรุ่นหลาน 2 ปีที่แล้วเรามีน้ำแล้ง และน้ำท่วม จะมีคนแสดงความเป็นห่วง เพราะพื้นที่ที่ได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางน้ำตรงนี้เป็นเขตอุตสาหกรรม วันนี้สมุทรสาครขุดดินลงไปครึ่งกิโลเมตรจึงเจอน้ำ อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เราจึงต้องเร่งดูแลอย่างต่อเนื่อง

เจริญ ใจชน

ทางด้าน เจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เล่าให้ฟังถึงสภาพของพื้นที่ป่าแถบนี้ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิประมาณ 770,000 ไร่ ว่า ด้วยสภาพของพื้นที่ที่เป็นป่าไผ่และป่าไม้กวาด (ป่าพง) ทุกปีในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ อากาศที่แห้งกรอบ เกิดการเสียดสีกันเป็นเชื้อไฟอย่างดี อย่างที่ท่านรักษาการแทนรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศิริ อัคคะอัคร บอกว่า ไฟป่ามันควบคุมไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเป็นไฟพม่าหรือไฟไทย เราจึงต้องทำงานร่วมกัน

เพื่อให้เห็นถึงสภาพที่แท้จริงของผืนป่าก่อนหน้านี้ ที่ว่า “ป่าเสื่อมโทรม” หัวหน้าอุทยานฯทองผาภูมิ อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากไม่ได้เกิดจากการบุกรุก จึงใช้คำว่า “เขาหัวโล้น” ไม่ได้ เพราะสภาพพื้นที่เดิมเกิดจากการไม่มีต้นไม้ใหญ่ แต่ทีทีดับบลิวมาปลูกให้ ซึ่งการปลูกเราต้องดู 1.สภาพพื้นที่ 2. สภาพอากาศ และ ชนิดไม้ที่ปลูกในพื้นที่ อาทิ หว้า ตะเคียนทอง ลูกเนียง ส่าน ยางนา ฯลฯ โดยหลักการปลูกจะปลูกเป็น 3 ชั้น ตั้งแต่ไม้เรือนยอดไล่ลงมา

ทศพร รักจันทร์ หัวหน้าฝ่ายพื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ อธิบายพื้นที่ปลูกป่า

“ไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งทุกครั้งก็จะมีคนจากฝั่งพม่า ซึ่งโดยมากเป็นคนในชุมชนมาช่วยดับไฟเช่นกัน คือเราอยู่ร่วมกันเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง พอมีโครงการ 1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ ปลูกไม้ยืนต้นขึ้นบนพื้นที่ 5,000 ไร่ ตอนนี้กลายเป็นป่าสมบูรณ์แล้ว โดยมีชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าด้วย”

ถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่าป่าแห่งนี้สมบูรณ์แล้ว-มันมีความชัดเจน คือพอเห็นปุ๊บรู้เลยเพราะพบสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมี และเมื่อป่าสมบูรณ์สัตว์ป่าก็เข้ามาอยู่อาศัย มีทั้งกวาง เก้ง หมูป่า เลียงผา ช้างก็มี ซึ่งช้างจะอาศัยอยู่บริเวณนี้จะข้ามไปข้ามมาในพื้นที่สองประเทศ

ทั้งนี้ หลังจากมีพิธีส่งมอบพื้นที่ป่าแปลงสุดท้ายแล้ว วันรุ่งขึ้นมีการพาพันธมิตรและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งสมาชิกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เดินทางลงพื้นที่เขาช้างศึก และร่วมยิงลูกไม้ปลูกป่าด้วยกัน

ด้วยความมุ่งหวังว่าในอีก 5 ปี พื้นที่ป่าผืนนี้จะมีระบบนิเวศสมบูรณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตลอดไป

ภาพความสำเร็จลงกล้าปลูกป่าอย่างต่อเนื่องบนอุทยานฯ ทองผาภูมิ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image