70 ปี ‘วรวิทย์ กนิษฐะเสน’ เล่าเสี้ยวความจำที่ปารีส กับ ปรีดี พนมยงค์

โต๊ะไม้รูปตัวยูในห้องประชุมดวงกมล ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล ก็ไม่ได้แปลกแตกต่างไปจากโต๊ะของห้องประชุมทั่วไป แต่ผู้ที่นั่งรายล้อมต่างหากที่พิเศษ กลุ่มปัญญาชนที่เคลื่อนไหวสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมตลอดมา และยังคงดำเนินต่อไป

บรรยากาศนี้เกิดขึ้นเมื่อวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ในงานเปิดตัวหนังสือ “Democracy, Constitution, and Human Rights” เนื่องในวาระครบรอบ 70 ปี ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รวบรวมบทความวิชาการทางด้านประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน ทั้ง 3 ภาษา ประกอบด้วย ไทย อังกฤษ และเยอรมนี โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาอาคเนย์ (German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance) หรือศูนย์ CPG เป็นผู้สนับสนุน

ห้องประชุมคลาคล่ำไปด้วยผู้ร่วมงาน อาทิ อังคณา นีละไพจิตร ประธานกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึง สุดา พนมยงค์ ประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และ ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ศิลปินแห่งชาติ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู สองบุตรสาวของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส

บรรยากาศภายในงานเปิดตัวหนังสือ

Advertisement

วรวิทย์กับช่วงเวลาใกล้ชิดปรีดี

วรวิทย์ มีศักดิ์เป็นหลานของ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 และเป็นผู้ที่เขาเรียกว่า “ปู่”

เมื่อสมัยวัยเรียน วรวิทย์ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และได้มีโอกาสได้เดินทางไปหาคนรักที่ร่ำเรียนและทำงานอยู่ที่นครปารีสอยู่บ่อยครั้ง และภายหลังในช่วงสุดท้ายของการทำวิทยานิพนธ์ได้มีโอกาสไปอยู่นครปารีสอย่างถาวร ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่ปรีดีอาศัยอยู่ที่นครแห่งแสงไฟแห่งนี้ ทำให้วรวิทย์มีโอกาสได้ใกล้ชิดเรียนรู้กิจวัตรประจำวันของปรีดีในช่วงเวลากว่า 5 ปี (พ.ศ.2513-2518) ทีนี้เราลองมาไล่เรียงความทรงจำ พร้อมรับฟังเรื่องราวที่หาฟังยากผ่านมุมมองของวรวิทย์กัน

“ในครั้งแรกที่ผมได้พบกับปรีดี ท่านอาศัยอยู่กับภริยา ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในบ้านชั่วคราวหลังเล็กที่นครปารีส ในครั้งนั้นท่านทำให้ผมรู้สึกถึงความพิเศษจากมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ท่านเป็นคนสุขุม นุ่มนวล เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมที่ไม่โหวกเหวกโวยวาย ชอบไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของผู้คนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งท่านจะพูดช้า แต่ทุกคำที่เปล่งออกมาจะผ่านความคิดอย่างรอบคอบเสมอ ท่านไม่เคยบ่นถึงที่อยู่ที่คับแคบ หรือแสดงความต้องการอันหรูหราแม้เพียงสักครั้ง

Advertisement

“ภายในบ้านหลังเล็กนั่นถูกอัดแน่นไปด้วยหนังสือหลากประเภท เนื่องด้วยท่านรักการอ่าน หากไม่ได้อ่านก็จะเขียน หากไม่ได้เขียนก็จะฟังข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกอย่างดำเนินไปเช่นนั้นตั้งแต่เช้าจรดค่ำ มีเพียงช่วงมื้ออาหาร หรือช่วงที่ต้องรับแขกเท่านั้นที่ถูกละเว้นไว้” วรวิทย์เล่าเรื่องราวที่เขาไม่มีวันลืม

คนไทยในกรุงปารีสไว้อาลัยปรีดี พนมยงค์

วรวิทย์เล่าต่อถึงพันธกิจของปรีดีในครานั้น “ในช่วงที่ท่านอาศัยอยู่ในนครปารีส สมาคมนักเรียนไทย ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่างเชิญท่านให้ไปบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ท่านมักบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยเหตุการณ์เชิงประวัติศาสตร์ พร้อมกับย้ำเสมอว่าต้องเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง”

อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ เล่าเพิ่มเติมว่า ปรีดีมักบรรยายถึงเรื่องราวของประชาธิปไตยในแต่ละประเทศว่า มีการเดินทางและพัฒนาการแตกต่างกันอย่างไร เช่น ในกรณีของประเทศฝรั่งเศสก็มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญหลายครั้ง มีความรุนแรงถึงขั้นนองเลือด

ในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็มีสงครามกลางเมือง มีการต่อสู้ระหว่างทางตอนเหนือกับตอนใต้ กระทั่งในปี ค.ศ.1863 ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ประกาศยกเลิกการค้าทาสผิวสี จนนำไปสู่ปัญหาทำให้ประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร หลังจากนั้นประมาณ 100 ปีให้หลัง ในปี ค.ศ.1961 ศาลสูงสุดของอเมริกามีการตัดสินให้ยุติการแบ่งแยกสีผิว สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะมีประกาศเลิกทาสไปแล้ว แต่ชุดความคิดเหยียดสีผิวยังคงอยู่เรื่อยมา เมื่อสุดท้ายทุกคนก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย แต่การต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์หรือชนชั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา จนท้ายที่สุด บารัค โอบามา ก็ได้นั่งแท่นประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นชาวผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

“เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ถึงแม้เรื่องราวจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ล้วนมีพื้นฐานบางอย่างที่เหมือนกัน เมื่อสังเกตให้ดีจะพบว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น จริงๆ แล้วเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นในภาพรวม

“ประชาธิปไตยที่รอบด้าน ไม่ใช่เพียงประชาธิปไตยทางการเมืองที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ทรรศนะทางประชาธิปไตย การรับรู้ รับฟังความคิดเห็นต่างด้วยสติและปัญญา” วรวิทย์ย้ำเจตนารมณ์

จากนั้น วรวิทย์กล่าวถึงรัฐบุรุษผู้ล่วงลับเป็นการปิดท้ายว่า “ท่านปรีดีไม่ได้เป็นเพียงนักกฎหมายหรือนักการเมือง แต่เป็นนักปราชญ์ นักเศรษฐศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ ที่มีความรู้เรื่องศิลปะและดนตรีด้วย”

ทั้งหมดข้างต้นเป็นเรื่องราวแห่งความทรงจำในชีวิตช่วงวัยหนึ่งของวรวิทย์ที่ได้ใกล้ชิดกับปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีอิทธิพลอย่างมากในการก่อร่างสร้างแนวคิดแห่งประชาธิปไตยให้เขาจวบจนวันนี้

ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้หญิงพูนศุข และสุภา-จินดา ศิริมานนท์ ที่หน้าบ้านพักในกรุงปารีส

ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน

ย้อนกลับมาที่ความน่าสนใจของหนังสือที่ได้รับการเปิดตัวในวันรัฐธรรมนูญ “Democracy, Constitution, and Human Rights” ซึ่งวรวิทย์ได้รับเกียรติจากกัลยาณมิตรมาร่วมเขียนบทความทางวิชาการ โดยหลายบทความได้เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องราวทางประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สันติภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ผ่านงานวิจัยและประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง รวมถึงการศึกษาผ่านงานเขียนของปรีดี พนมยงค์

อาทิ “เราเข้าใจตะวันตกแค่ไหน” ของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ที่หล่นประโยคไว้ท้ายบทความว่า

“เราเข้าใจตะวันตกแค่ไหน ต้องการเอาอย่างฝรั่งเพียงใด และต้องการรักษาเอกลักษณ์เดิมของไทยไว้เพียงใด เราควรอภิปรายกันอย่างเปิดเผยและจริงใจ หากแม้เพียงนี้ยังเป็นไปไม่ได้ ย่อมยิ่งยากที่จะเป็นไปได้ในการเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาสาระ”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบทความที่น่าสนใจ เช่น “การจัดทำรัฐธรรมนูญในศตวรรษที่ 21: ความชอบธรรมเชิงกระบวนการกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน” ของ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ “สันติภาพแห่งเสรีไทย สู่สันติภาพในสังคมไทย” ของ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล “ผู้หญิง ความยุติธรรม และความทรงจำบาดแผล” ของอังคณา นีละไพจิตร “Resistance to Military Rule in Thailand: Legal Mobilization as Brokerage Mechanism Between Rural Villagers and Urban Middle-Classes in Resisting Military Rule in Thailand” ของ เออเชนี เมรีโอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายในหนังสือประกอบด้วย 25 บทความ ให้เลือกอ่าน จากผู้เขียน 25 ท่าน ล้วนแล้วแต่มุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน ในแง่มุมต่างๆ (สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2613-2971)

ดังเช่น ส่วนหนึ่งจากบทความของ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ที่ว่า “หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมไทยจะเริ่มก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง ด้วยการตระหนักถึงการสร้างสรรค์สันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เพราะสันติภาพนั้นหาใช่เป็น ‘เหตุในตัวมันเอง’ แต่สันติภาพนั้นคือ ‘ผลโดยตรงที่เกิดจากเงื่อนไขและปัจจัยอื่นๆ’ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เป็นภารกิจและหน้าที่ของอนุชนรุ่นหลังทุกคนที่จะต้องสืบสาน และรักษาเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพอันเป็นอุดมคตินี้ไว้ชั่วกาล”

“ผู้เขียนทุกท่านมีความตั้งใจให้บทความทุกชิ้นเป็นของขวัญเพื่อมอบไปยังประชาชนทุกคน” วรวิทย์กล่าวปิดท้ายภายในงาน

ปรีดี พนมยงค์ ในบ้านพักที่กรุงปารีส
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image