เหน่อสุพรรณ สร้างสรรค์ความเป็นไทย สมัยอยุธยา

เหน่อสุพรรณ สร้างสรรค์ความเป็นไทย สมัยอยุธยา มีความหมายโดยสรุปว่า

กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่แรกสถาปนา พ.ศ. 1893 (หรือก่อนนั้น) ใช้ภาษาเขมรเป็นหลักสืบจากรัฐละโว้ (ลพบุรี) ทั้งในราชสำนักและในคนทั่วไป นอกนั้นใช้ภาษามอญ, ภาษามลายู, และอื่นๆ

ขณะนั้นรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ใช้ภาษาไทยในตระกูลไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าทางบกกับดินแดนภายใน

ครั้นหลัง พ.ศ. 1900 กษัตริย์จากรัฐสุพรรณภูมิเสวยราชย์ที่อยุธยา หลังกำจัดกษัตริย์จากรัฐละโว้ออกไป ก็เท่ากับสถาปนาภาษาไทยและความเป็นไทยในรัฐอยุธยา

Advertisement

ราชอาณาจักรสยาม

เจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ จากดินแดนสยามที่สุพรรณบุรีเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงศรีอยุธยา มีการค้ากับนานาชาติเป็นที่รู้จักในชื่อ ราชอาณาจักรสยาม

ก่อนยึดครองกรุงศรีอยุธยา เจ้านายรัฐสุพรรณภูมิได้รับการอุดหนุนเป็นพิเศษจากราชสำนักจีน และมีอำนาจการเมืองภายในโดยความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับรัฐอื่นๆ ที่ใช้ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้า ได้แก่ รัฐสุโขทัย, รัฐเพชรบุรี, รัฐนครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจาพระยา และมีอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร

เมื่อกำจัดเจ้านายเชื้อสายรัฐละโว้แล้วเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ก็เท่ากับมีอำนาจเหนือรัฐละโว้ไปโดยปริยาย ซึ่งหมายถึงเชื่อมโยงได้ด้วยกับบ้านเมืองบนที่ราบสูงลุ่มน้ำมูลและชี

Advertisement

ทั้งหมด เท่ากับกรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักรสยามแห่งแรก ที่แผ่อำนาจทุกทิศทางอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แม่น้ำท่าจีนกลางเมืองสุพรรณบุรี (ซ้าย) ฝั่งตะวันออก เป็นตลาดกลางตัวจังหวัดปัจจุบัน (ขวา) ฝั่งตะวันตก มีถนนไปวัดป่าเลไลยก์

ความเป็นไทย

รัฐสุพรรณภูมิ (ที่สุพรรณบุรี) พูดไทย สำเนียงลาวลุ่มน้ำโขง มากกว่า 800 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ. 1600)

สร้างเมืองศูนย์กลางอำนาจคร่อมแม่น้ำท่าจีน บริเวณตัวจังหวัดสุพรรณบุรีปัจจุบัน โดยขุดคูน้ำถมคันดิน ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวเหนือ-ใต้ เท่ากับมีแม่น้ำท่าจีนผ่ากลางเมือง[มีรายละเอียดและภาพถ่ายทางอากาศในบทความเรื่อง แคว้นสุพรรณภูมิ ของ ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณ (พ.ศ. 2526) พิมพ์รวมในหนังสือ ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ พ.ศ. 2538 หน้า 294-309]

กษัตริย์จากรัฐสุพรรณภูมิ ยึดรัฐอยุธยา (พูดเขมร สำเนียงขอมละโว้) ราวหลัง พ.ศ. 1900 ทำให้รัฐอยุธยาพูดไทย สำเนียงลาวลุ่มน้ำโขง แล้วสร้างความเป็นไทยนับแต่นั้น

สำเนียงหลวงจากสุพรรณ

ประชากรรัฐสุพรรณภูมิพูดภาษาไทย (ตระกูลตระกูลไต-ไท) เคลื่อนย้ายไปอยู่ในอยุธยาเป็นเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ, พลไพร่ และประสมประสานกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน ได้แก่ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ

นับแต่นี้ไป สำเนียงเหน่อจากสุพรรณก็กลายเป็นสำเนียงหลวง (หรือสำเนียงมาตรฐาน) มีพยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ

ภาษาไทยยุคแรกๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในวัฒนธรรมลาว หรือภาษาลาว ยังมีเค้าอยู่ในภาษาไทยในกลุ่มคำซ้อนที่ประกอบด้วยคำอย่างน้อย 2 คำมารวมกัน คำหนึ่งจะเป็นคำลาว แต่อีกคำหนึ่งอาจเป็นมอญหรือเขมรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยใกล้ชิด เช่น

ทองคำ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold คำมอญใช้ “ทอง” คำเดียวก็เท่ากับ gold ส่วนลาวใช้ “คำ” เท่านั้น, ฝาละมี ฝาเป็นคำลาว ละมีเป็นคำมอญ หมายถึง ฝาหม้อ ดิน, สั่นคลอน สั่นคำลาว คลอนคำมอญ หมายถึง หลวม, ง่อนแง่น, ฟ้อนรำ ฟ้อนคำลาว รำเป็นคำเขมร, เต้นระบำ เต้นคำลาว ระบำเป็นคำเขมร, ดั้งจมูก ดั้งคำลาว จมูกเป็นคำเขมร ฯลฯ

ภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์

ส่วนราชสำนักกรุงศรีอยุธยาสมัยแรก เริ่มใช้ภาษาเขมรเพราะเป็นภาษาชั้นสูง สืบต่อมาจากทวารวดีและละโว้ที่ลพบุรี แล้วได้รับยกย่องเป็นราชาศัพท์สืบจนทุกวันนี้

แผนผังเมืองสุพรรณบุรี รวม 2 สมัย (โดย ทนงศักดิ์ หาญวงศ์ มกราคม 2561)

กําแพงเมืองสุพรรณ (1.) สมัยแรก คูน้ำ คันดิน คร่อมสองฟากแม่น้ำท่าจีน ยาว เหนือ-ใต้ 3,600 ม. กว้าง ออก-ตก 1,900 ม. (2.) สมัยหลัง คูน้ำ กําแพงอิฐ เฉพาะฟากตะวันตกแม่น้ำท่าจีน ยาว เหนือ-ใต้ 3,600 ม. กว้าง ออก-ตก 920 ม. [มีป้อมกลางน้ำ 7 แห่ง]

ขึ้นยุคใหม่ ศิลปวัฒนธรรมอยุธยา
มอญ-เขมรปนลาว

ศิลปวัฒนธรรมแบบลุ่มน้ำโขง จากรัฐสุพรรณภูมิ ทยอยเข้าสู่อยุธยา แล้วปะปนกับแบบมอญ-เขมรที่มีอยู่ก่อน

นับแต่นี้ไป เป็นยุคใหม่ของศิลปวัฒนธรรมอยุธยา ที่ต่อไปข้างหน้าจะเรียกว่า ไทย

ศิลปวัฒนธรรมอยุธยาทั้งของราชสำนักและของราษฎร ที่มีร่องรอยจากลุ่มน้ำโขง ดังนี้

สำเนียงหลวง ของอยุธยาจากเหน่อสุพรรณแบบลุ่มน้ำโขง, ขุนแผน ในโองการแช่งน้ำ หมายถึง พระพรหมสร้างโลก กลายคำจากแถนของลุ่มน้ำโขง, ระเบ็ง การละเล่นในพระราชพิธีมีในกฎมณเฑียรบาล มาจากเซิ้งบั้งไฟ, โคลงไทย ได้จากโคลงลาวลุ่มน้ำโขง, พระรถ เมรี ได้จากนิทานบรรพชนลาวลุ่มน้ำโขง, ดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน ได้จากนามปู่ฟ้าฟื้นผีบรรพชนลาวลุ่มน้ำโขง, ขุนช้างขุนแผน (ก่อนเป็นขับเสภา ยุคกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นการละเล่นขับซอตามประเพณีลาวลุ่มน้ำโขง ฯลฯ

แผนผังเมืองสุพรรณบุรี สมัยแรก คูน้ำคันดินคร่อมสองฟากแม่น้ำท่าจีน ยาว เหนือ-ใต้ 3,600 ม. กว้าง ออก-ตก 1,900 ม. (โดย ทนงศักดิ์ หาญวงศ์ มกราคม 2561)

พระปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา (ภาพจาก ข่าวสด)

เจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ

เจ้านครอินทร์ หรือสมเด็จพระนครินทราธิราช กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ เป็นลูกหลานหรือทายาทเชื้อสายขุนหลวงพ่องั่ว

เกี่ยวดองราชวงศ์สุโขทัย ถือเป็นตระกูล “พระร่วง” เมื่ออยู่รัฐสุพรรณภูมิเคยไปเมืองจีน แล้วจักรพรรดิจีนมอบช่างทำเครื่องปั้นดินเผามาทำสังคโลกที่เมืองสุโขทัย (เพราะเป็นกษัตริย์ครองสุโขทัยด้วย)

ต่อมาด้วยการอุดหนุนของจักรพรรดิจีน (อาจผ่านกองทัพเรือเจิ้งเหอ หรือ ซำปอกง) เจ้านครอินทร์ยึดครองกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ

แล้วสถาปนาอยุธยาเป็น “ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก” ตามคำยกย่องของชาวยุโรป (ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายไว้ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาของเรา)

เมื่อสวรรคต เจ้าสามพระยาราชโอรสสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะ บริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีกรุเก็บเครื่องราชูปโภคของเจ้านครอินทร์ทำด้วยทองคำ และอื่นๆ


แผนผังเมืองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ยุคแรก
ราวหลัง พ.ศ. 1600 คร่อมสองฟากแม่น้ำท่าจีน
ทำไว้แบ่งปันโดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ กรุณายกไปใช้งานตามสะดวก

แนวคูน้ำคันดินเมืองสุพรรณภูมิ ราวหลัง พ.ศ.1600 เคยมีตรงแยกเณรแก้ว กับ ถนนเณรแก้ว อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี แต่ถูกทำลายหมดไม่เหลือซาก ที่เหลือคือแนวพื้นที่สาธารณะ ตรวจสอบแล้วกับภาพถ่ายทางอากาศ ทับซ้อนกันพอดี เหลือไว้เป็นประวัติศาสตร์แค่นี้เท่านั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image