ท่องเที่ยววิถีธรรมชาติ เสน่ห์เมืองเล็กที่ชื่อ ‘ระนอง’

ถ้าพูดถึง “ระนอง” เมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้หลายคนคงนึกถึงเกาะพยามเป็นอันดับแรกๆ แต่รู้หรือไม่ว่าจังหวัดระนองยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย

โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ยังเป็นเมืองที่เชื่อมระหว่างทะเลไทยและทะเลเมียนมาด้วย

มีโอกาสได้ไปเยือนเมืองระนองเมืองเล็กแสนเงียบสงบ ไม่พลาดที่จะแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขารัตนรังสรรค์ อยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัดระนอง

พระราชวังรัตนรังสรรค์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง ของพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

Advertisement

พระราชวังรัตนรังสรรค์

จตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เล่าว่า พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) เป็นแลนด์มาร์กสำคัญ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในตัวเมืองระนอง เป็นพิพิธภัณฑ์พระราชวังที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ โดยแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของราชวงศ์จักรีที่มีต่อจังหวัดระนอง และแสดงความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่

โดยตัวอาคารทำจากไม้สักและไม้ตะเคียนทอง มีอาคารทรงแปดเหลี่ยม อาคารท้องพระโรง เเละสะพานเชื่อมอาคารที่ประทับกับอาคารแปดเหลี่ยม ภายในพระราชวังจัดแสดงจำลองที่ประทับ อาทิ ห้องบรรทมของ ร.5 ห้องบรรทมของพระราชินีอีก 3 พระองค์ และพระโอรสธิดาที่เสด็จพร้อม ร.5 ยังมีพระราชวังจำลองขนาดย่อส่วน เพื่อให้เห็นภาพพระราชวังจริงในอดีต และยังมีส่วนนิทรรศการที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของคนระนองด้วย

Advertisement

พ่อเมืองระนอง ยังแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่งด้วยกัน

“ในเขตเมืองมีบ่อน้ำแร่ ซึ่งมีคุณภาพเป็นอันดับ 3 ของโลกมีอุณภูมิอยู่ที่ 39-40 องศา เป็นจุดขายของจังหวัด เราพยายามทำเอ็มโอยูกับญี่ปุ่น ให้เมืองระนองเป็นเมืองออนเซ็น ยังมีการเชื่อมโยงกับแพทย์แผนทางเลือกโดยใช้น้ำแร่เพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อการบำบัด”

สำหรับจุดแช่น้ำแร่มีด้วยกันหลายจุด อาทิ จุดแช่น้ำแร่ “น้ำนอง ฮอท สปา” และบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่ “บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน” และหากมีเวลาแนะนำทริปพิเศษ ล่องเรือ “เดอะรอยัลอันดามัน” เรือไม้โบราณสุดคลาสสิกยุคเหมืองแร่ อายุกว่า 100 ปี ล่องตามรอยเส้นทางการเสด็จประพาสต้นของพระพุทธ เจ้าหลวง ซึ่งจะจอดเทียบท่าที่ “ท่าเรือประภาคารระนอง”

จตุพจน์แนะนำอีกว่า ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น อุทยานแหลมสนมี เกาะค้างคาว เป็นหาดทรายขาวละเอียด เเละระนองได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรป่าชายเลนที่สมบูรณ์ โดยการรับรองจากองค์การยูเนสโกว่ามีความหลากหลายทางชีวมณฑลโลก

“ระยะยาวมองว่าระนองสามารถสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนได้ โดยขณะนี้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน และโฮมสเตย์ชุมชนด้วย อย่างที่บ้านหาดส้มแป้น เป็นต้น”

นอกจากที่เที่ยวแล้ว ที่พลาดไม่ได้เด็ดขาดคือที่กิน เพราะระนองได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอาหารอร่อย

ที่ได้รับความนิยมมากคือ “ร้านคุ้นลิ้น” ตั้งอยู่ในตัวเมือง มีเมนูเด็ดคือ “ปูนิ่ม Stick” แบบกรอบนอกนุ่มในที่กินได้ทั้งตัว เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มผงกะหรี่เพิ่มรสชาติเป็นอย่างดี ส่วนเครื่องดื่มที่แนะนำให้ลองคือ “น้ำใบเหลียง” ที่แม้หน้าตาอาจจะไม่น่าอร่อย แต่รสชาติกลับชื่นใจ มีความเปรี้ยวและหอมกลิ่นส้มจี๊ด เป็นเครื่องดื่มพิเศษที่หาที่ไหนไม่ได้ ส่วนใครที่ต้องการลิ้มรสร้านอาหารซีฟู้ดท้องถิ่น แนะนำร้าน “เคียงเล” ร้านอาหารริมชายหาด ที่นี้มีเมนู “ปูจักจั่น” เป็นไฮไลต์เด็ดที่ห้ามพลาด

ปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้ระนองมีศักยภาพในการยกระดับขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวระนอง และการสนับสนุนจากภาคเอกชน

ปูจักจั่น

จตุพจน์เล่าอีกว่า ปัจจุบันมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย ผมมองว่าขณะนี้ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือการจองโรงแรมเต็มหมดในช่วงวันหยุด คือถ้าไม่จองล่วงหน้าจะไม่มีที่พัก โดยเฉพาะหลังจากพม่าเปิดประเทศ มีบริษัทนำเที่ยวชักชวนไปดำน้ำที่พม่า อาทิ เกาะนาวโอพี ซึ่งเป็นทะเลใหม่ มีจุดดำน้ำที่สวยงามหลายจุด

“ในส่วนความร่วมมือของระนองกับพม่าก็จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1.ภาคเอกชน ในการจับมือทำธุรกิจท่องเที่ยวในพม่า 2.ภาครัฐโดยรับผิดชอบดูเรื่องความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งฝั่งไทยและพม่า โดยขณะนี้มีนักท่องเที่ยวไปค่อนข้างเยอะ จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่าในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวประมาณ 400-500 คน และขณะนี้จังหวัดก็มีกลยุทธ์ที่จะพยายามดึงนักท่องเที่ยวจากพม่ามาที่ไทย โดยขายในเรื่องสุขภาพ” จตุพจน์อธิบาย

หลังพูดคุยกับพ่อเมืองระนอง มีโอกาสได้ตามรอยไปยังจุดต่างๆ

หนึ่งในนั้น คือ “ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น” ชื่อนี้เพี้ยนมาจากคำว่า “ห้วยซัมเปียน” แปลว่าลึกเข้าไปในหุบเขา ชุมชนแห่งนี้จึงไม่มีทะเลและไม่มีส้มแป้น

ในอดีตบริเวณนี้เป็นเหมืองแร่ดีบุก อาชีพของคนในชุมชนคือการ “ร่อนแร่” แต่นอกจากแร่แล้วชุมชนแห่งนี้ยังมีดินขาวคุณภาพดีเหมาะสำหรับการทำเซรามิก

การแสดง “ร่อนแร่” จากชาวบ้านหาดส้มแป้นสื่อถึงวัฒนธรรมชุมชนในอดีต

เมื่อแร่น้อยลง จุดนี้เองทำให้คนในชุมชนรวมตัวกันเพื่อสร้างอาชีพและรายได้จากทำเซรามิกชุมชน

อุดม ละออวงศ์ไพศาล อายุ 72 ปี สมาชิกรุ่นบุกเบิกกลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น เล่าว่า แรกเริ่มประมาณ 10 ปีที่แล้ว คุณสุมาลี มาลา ประธานกลุ่ม มองเห็นว่าดินขาวของชุมชนถูกขนไปทำเซรามิกที่อื่นเยอะมาก ก็เกิดความเสียดายทรัพยากรจึงทำการสำรวจความเห็นของชุมชนว่าอยากจะทำเองไหม ผลออกมาว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อยากจะทำ แต่บ้านเราไม่มีฝีมือและไม่รู้วิธีทำเซรามิก

“เราเลยรวมกลุ่มไปประสานกับ อบจ.เขาก็ประสานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อออกแบบและสอนให้ ระหว่างนั้นกรมวิทยาศาสตร์เข้ามาสอน จนวันนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก และที่ดีใจมากคือ มีคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามาเรียนรู้มาช่วยพัฒนาและส่งเสริมโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี การจำหน่าย และการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา” อุดมอธิบาย

อุดม ละออวงศ์ไพศาล
เซรามิกชุมชนบ้านหาดส้มแป้น

ตัวอย่างการทำเซรามิกชุมชนบ้านหาดส้มแป้น
พิทยา วรปัญญาสกุล

ด้าน พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจบัตรเครดิต เคทีซี หนึ่งในภาคเอกชนสำคัญที่เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดระนอง ระบุว่า ปกติคนไทยมักจะเลือกเที่ยวจังหวัดที่คุ้นเคย แต่ที่เลือกมาส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ระนอง เพราะมองว่าเป็นจังหวัดที่น่าสนใจ ซึ่งหลายคนไม่ได้มองว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วยซ้ำ แต่เมื่อได้สัมผัสแล้วจะรู้ว่าเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มาก ถ้าไม่ได้มาก็จะนึกไม่ถึง สำหรับเคทีซี ที่ผ่านมาเราทำการตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นการส่งเสริมให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืน โดยร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์กรต่างๆ ที่มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อย่างครั้งนี้มีความร่วมมือกับพันธมิตร คือ บริษัท เลิฟอันดามัน ด้วย

“เรามองว่าการท่องเที่ยวไทยมีเสน่ห์ การเปิดสถานที่ใหม่ๆ หรือการนำสถานที่น่าสนใจในประเทศออกมาให้คนไทยได้รู้จัก นอกจากจะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ยังช่วยประชาชนในพื้นที่หรือคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในด้านการท่องเที่ยว ที่อาจจะช่วยสร้างอาชีพให้คนในท้องที่ด้วย โดยมีการส่งเสริมด้วยแพคเกจพิเศษให้สมาชิกบัตรเครดิตของเราได้รู้จักเมืองระนอง และอยากทดลองมาเที่ยวระนองได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากการทำตลาดการท่องเที่ยวในประเทศหลายแห่ง พบว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นการบ่งบอกที่ชัดเจนว่าการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่ทำมาได้ผลตอบรับที่ดี นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย” พิทยากล่าว

ทั้งหมดเป็นเพียงมุมหนึ่งในการท่องเที่ยวของเมืองเล็กๆ แต่เปี่ยมเสน่ห์แห่งนี้

หากกำลังหาที่ท่องเที่ยวแบบวิถีธรรมชาติ “ระนอง” เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย

กิจกรรมลอยกะลา

บรรยากาศงานเปิดการท่องเที่ยวระนอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image