กระเป๋าเล่าความคิด ‘พ็อคเก็ต เวิลด์ส’ สานมิตรภาพ ‘ฮ่องกง-บางกอก’ ผ่านงานศิลป์

"โมบาย ไบค์ มาร์เก็ต" ที่เคย์ แชน เล่าวิถีการตลาดที่เปลี่ยนไปของคนฮ่องกง

วันเบลต์ วันโรด (one Belt One Road) หรือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง นโยบายสำคัญของการพัฒนาประเทศจีนภายใต้การบริหารของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ไม่ได้มีแต่เรื่องเศรษฐกิจหนักๆ เพียงอย่างเดียว แต่บนเส้นทางสายไหมใหม่นี้ยังนำ “ศิลปะ” ความคิดสร้างสรรค์ มาเป็นสื่อกลางเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความที่หนึ่งในพันธกิจหลักของฮ่องกง คือการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับผู้ประกอบอาชีพด้านงานสร้างสรรค์ ดังนั้น ฮ่องกงจึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้งานออกแบบของตนเป็นที่รู้จักในระดับโลกอยู่เสมอ ในฐานะพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หน่วยงานการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ของฮ่องกงและประเทศไทย จึงประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2561 (Bangkok Design Week 2018) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองเมือง ฮ่องกง-บางกอก

นิทรรศการ “พ็อคเก็ต เวิลด์ส” (DXHK-BANGKOK Pocket Worlds) คือโครงการนำร่อง ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้ โดยศูนย์ออกแบบฮ่องกงเชิญศิลปินนักออกแบบดาวรุ่งของฮ่องกง 8+1 คนมา นำเสนองานออกแบบผ่านกระเป๋าเดินทางใบเล็ก 8 ใบ

แม้นิทรรศการจะจบลงแล้ว แต่สิ่งที่เหลือไว้คือ มิตรภาพที่ผลิบานท่ามกลางการสรรค์สร้างความงามร่วมกันระหว่างศิลปินฮ่องกงและศิลปินไทย ผ่านเมนูอาหารจาน “ปลาเค็ม” ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมฮ่องกง หลังการเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ ล้ง 1919

Advertisement

อัลวิน ยิปป์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ DXHK-BANGKOK Pocket Worlds บอกว่า ฮ่องกงแม้จะเป็นเมืองขนาดเล็กกะทัดรัดเปรียบเสมือนกระเป๋าหนึ่งใบ แต่ก็เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความเป็นสากลและเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย นิทรรศการครั้งนี้ได้เผยให้เห็นโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ 8 คน ผ่านการเปิดกระเป๋าที่นำมาจัดแสดงตามแนวคิดของศิลปิน

“เวลาพูดถึงพ็อคเก็ต เวิลด์ส ไม่เพียงหมายถึงโปรดักซ์ที่นำมาจัดแสดง แต่เป็นงานออกแบบ เป็นความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินแต่ละคน”

‘ปลาเค็ม’ เล่าเรื่องอัตลักษณ์ชาวฮ่องกง

เพราะโลกเปลี่ยนไป สังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนฮ่องกงย่อมปรับเปลี่ยนไปตามกระแส “ปลาเค็ม” ซึ่งเป็นอาหารที่ต้องมีในครัวเมื่ออดีตของคนฮ่องกง วันนี้จึงต้องปรับลุค เปลี่ยนแพคเกจ เป็น “ซอสปลาเค็มสมุนไพร” เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อรักษาวัฒนธรรมอาหารดั้งเดิม และอุตสาหกรรมปลาเค็มไว้

Advertisement

เคย์ แชน (Kay Chan) ศิลปินเจ้าของผลงาน “โมบาย ไบค์ มาร์เก็ต” หรือตลาดเคลื่อนที่ เล่าว่า เพราะฮ่องกงเป็นเมืองเกาะล้อมรอบด้วยทะเล คนฮ่องกงเมื่อก่อนมีอาชีพหลักคือทำประมง ปลาที่เป็นผลผลิตจำนวนมากจึงถูกนำมาแปรรูปเป็น “ปลาเค็ม” เพื่อการถนอมอาหาร สมัยก่อนครัวทุกบ้านจึงมีปลาเค็มเป็นของสำคัญ

ขณะเดียวกัน สังคมที่เปลี่ยนไป จากเดิมตลาดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ที่ทุกคนจะมุ่งไปซื้อหาวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารเปลี่ยนไปแล้ว การจะไปตลาดเพื่อหิ้วซื้อปลาเค็มเป็นตัวๆ กลับมาทำอาหารที่บ้านไม่มีอีกแล้ว กลิ่นของปลาเค็มค่อยๆ จางหายไปจากชีวิตประจำวันของคนฮ่องกง คนรุ่นใหม่น้อยคนที่จะรู้จักปลาเค็ม อาหารจานปลาเค็มจึงค่อยๆ หายไป

“โมบาย ไบค์ มาร์เก็ต” ที่เคย์ แชน เล่าวิถีการตลาดที่เปลี่ยนไปของคนฮ่องกง

ส่วนหนึ่งเพราะขนาดครอบครัวที่เล็กลง ทำงานจนดึกและต้องตื่นแต่เช้า รูปแบบการกินการอยู่ก็เปลี่ยนไป อาหารสำเร็จรูปเข้ามาแทนที่เพราะความสะดวก และการจะซื้อปลาเค็ม 1 ตัวเพื่อมาทำอาหาร กลายเป็นภาระ ปลาเค็มจึงต้องปรับโฉมเป็น “ซอสสมุนไพร” ในขวดที่สะดวกต่อการหยิบจับพกพา เช่นเดียวกับบทบาทของตลาดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน กลายเป็นตลาดเคลื่อนที่บนหลังจักรยานที่วิ่งเข้าหาผู้บริโภค

เคย์ แชน

เป็นที่มาของการสร้างสรรค์งานศิลปะในธีมที่มีปลาเค็มเป็นหัวใจ โดยนำโมเดลเล็กๆ จัดแสดงเปรียบเทียบรูปแบบของตลาดแบบเดิมและตลาดแบบใหม่ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้ ในกระเป๋าใบเล็กที่ เคย์ แชน นำมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนในงานนิทรรศการครั้งนี้

สำหรับ เคย์ แชน เธอมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและความสามัคคีในสังคม รวมถึงสร้างความยั่งยืนและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยใช้ศิลปะเชิงสร้างสรรค์ และโครงการด้านวัฒนธรรม Good Day Society มีความเชี่ยวชาญในการสังเกตและวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาโครงการด้านการออกแบบที่ยั่งยืนและกิจกรรมด้านการศึกษารูปแบบใหม่ นอกจากนั้น ยังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ การส่งเสริมและการทำวิจัยในท้องถิ่น

รวมถึงการให้คำปรึกษาและการจัดการศึกษาเรื่องการออกแบบเพื่อชุมชน

 

อาหารจานปลาเค็ม ฝีมือการสร้างสรรค์ร่วมกันของศิลปินฮ่องกงและไทย

‘โคมไฟกรองอากาศ’ ชิ้นเดียวในโลก
เมื่อเทคโนโลยีผนวกกับงานศิลปะ

นับเป็นงานที่โดดเด่นและได้รับการจับตามองมากที่สุดในบรรดากระเป๋าเดินทางเล็กๆ 8 ใบ ว่ากันว่านี่คือเทรนด์การออกแบบที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน

“มุย คิโนชิตะ” (Mui Kinoshit) คือเจ้าของผลงาน Airluna เครื่องกรองอากาศอัจฉริยะเครื่องแรกของโลกที่ซ่อนระบบกรองอากาศเอาไว้และมาในรูปแบบของโคมไฟ

ศึกษาด้านการออกแบบอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์จากสถาบันต่างๆ ทั้งในฮ่องกง สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ และอิตาลี และยังได้รับคัดเลือกให้เป็น The Best HK Young Design Talent ในปี 2550 เกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านการออกแบบ (ปริญญาโท) จาก Milano Domus Academy มุยจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเธอมาแล้วทั่วโลก ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย ผลงานของเธอยังเป็นที่กล่าวขานในสื่อระดับนานาชาติ

เธอเล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบงานชิ้นนี้ว่า เธอเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ แต่เมื่อ 2 ปีก่อนฮ่องกงเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ไฟไหม้นานถึง 48 ชั่วโมง จนเมืองทั้งเมืองเต็มไปด้วยฝุ่นควัน จึงเริ่มสนใจศึกษาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ และจุดประกายให้นึกถึงงานศิลปะที่สามารถเข้ามาตอบโจทย์นี้ ขณะเดียวกันโคมไฟเป็นสิ่งที่ใช้กันทุกบ้านอยู่แล้ว งานชิ้นนี้จึงเกิดขึ้น

Airluna เป็นโคมไฟที่ซ่อนระบบกรองอากาศไว้ในการออกแบบ ยังเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยี สามารถวัดได้ทั้งอุณหภูมิ ความชื้นและฝุ่นผง โดยครอบคลุมพื้นที่ 25 ตารางเมตร

มุย คิโนชิตะ เจ้าของผลงาน “โคมไฟกรองอากาศ”

มุยบอกว่า ทุกวันนี้โลกของการออกแบบ โดยเฉพาะโปรดักซ์ดีไซน์เปลี่ยนไปแล้ว งานออกแบบเพื่ออุตสาหกรรมถดถอยลง ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวกับไอโอทีเป็นที่ต้องการมากขึ้น โปรดักซ์ดีไซน์จะให้ก้าวไปข้างหน้า จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในงานออกแบบเพื่อตอบโจทย์สังคม เพื่อสร้างงานที่มีคุณค่ามากขึ้น

“ในฮ่องกงการนำเอาเทคโนโลยีมาสอดประสานในงานออกแบบยังมีน้อยมาก ไม่เหมือนอเมริกา เช่น บริษัท แอร์บีแอนด์บี ที่ผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นดีไซเนอร์ทั้งคู่ แต่ที่ฮ่องกงผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ อีกคนเป็นนักเทคโนโลยี แล้วจ้างนักออกแบบเข้ามาทำงาน ทำให้ไม่มีอิสระ ซึ่งถ้านักออกแบบสามารถทำอะไรที่เป็นอิสระ จะสามารถใช้การออกแบบเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ด้วย”

ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของสมาคมนักออกแบบฮ่องกง มุยบอกว่า เธอจึงพยายามอย่างหนักที่จะผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานกับงานออกแบบ ด้วยเชื่อว่าโมเดลนี้จะประสบความสำเร็จ และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

‘กล่องแห่งความทรงจำ’
สร้างงานศิลป์ด้วย’กลิ่น’

งานศิลปะไม่จำเป็นต้อง “ดู” ด้วยสายตาอย่างเดียวเสมอไป แต่ “ดม” ก็ได้เช่นกัน

เช่น กระเป๋าเดินทางอีกใบที่กำลังจะพาไปรู้จัก กระเป๋าใบนี้ชื่อ “กล่องแห่งความทรงจำ” (Memory Chest) ผลงานของ ซาเวียร์ จาง (Xavier Tsang) ผู้ก่อตั้ง BeCandle นำชุดอุปกรณ์สร้างสรรค์กลิ่นน้ำหอมด้วยตัวเอง เพื่อให้ทุกคนสามารถนำน้ำมันหอมระเหย ภายในกล่องมาผสมผสานกันให้เกิดเป็นกลิ่นเฉพาะ เพื่อจดจำช่วงเวลาที่น่าประทับใจ

ซาเวียร์ จาง จบการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์จาก Chinese University of Hong Kong และด้านการออบแบบเฟอร์นิเจอร์จาก Accademia Italiana D’Arte, Moda e Design เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เขาก่อตั้งสตูดิโอทำเทียนและเครื่องหอม BeCandle ขึ้น โดยร่วมมือกับนักสร้างสรรค์และช่างฝีมือเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความพิถีพิกัน และสร้างประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัส

ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัล Hong Kong Young Design Talent Award จากเอชเคดีซี ในปี 2557 และ 40 Under 40 Awards จากนิตยสาร Perspective Global ในปี 2558

ซาเวียร์ จาง กับ “กล่องแห่งความทรงจำ”

สำหรับ “กล่องแห่งความทรงจำ” ชิ้นนี้ เขาบอกว่า แนวคิดของกระเป๋าเดินทางของเขาคือ การสร้างกลิ่นเพื่อบันทึกโมเมนต์นั้นๆ ไว้ เพราะคิดว่ากลิ่นเป็นสื่อที่สามารถนำเราย้อนกลับไปรำลึกถึงห้วงวันเวลาครั้งเก่าได้ โดยใช้กลิ่นต้นแบบที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นทั้ง 8 กลิ่นมาผสมผสาน สร้างเป็นกลิ่นที่ให้หวนนึกถึงเวลานั้นๆ

เช่น การมาจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งเขาสร้างสรรค์กลิ่น “แบงค็อก ดีไซน์ วีก” ขึ้นมา โดยประกอบด้วยกลิ่นไม้ แทนสถานที่จัดแสดงงาน (โกดัง ที่ล้ง 1919) บวกกับกลิ่นเบซิล สื่อถึงความเป็นธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ ยังมีกลิ่นเกลือ คือน้ำทะเล และสังคมรอบนอก

“กลิ่นที่สร้างขึ้นจะเป็นกลิ่นที่เป็นแอ๊บสแตรก ที่ทำให้เรารำลึกย้อนกลับไปถึงห้วงเวลานั้นๆ” ซาเวียร์ จาง บอก และเล่าถึงที่มาของการสร้าง “กล่องแห่งความทรงจำ” ว่ามาจากการที่เขาเคยถูกตั้งคำถามว่า กลิ่นอะไรที่เขาจำได้ ซึ่งคำถามนี้ทำให้เขาหวนนึกไปถึงเมื่อครั้งที่เขาอยู่กับพ่อแม่ตอนยังเป็นเด็ก และได้กวาดใบไม้ ความรู้สึกครั้งนั้นเป็นความสุขเป็นความทรงจำที่เขาอยากจะเก็บไว้

“ไม่ใช่แค่ธรรมชาติที่สร้างความทรงจำให้กับเรา แต่เราสามารถสร้างกลิ่นที่เตือนไปถึงเวลา ณ ปัจจุบัน และอนาคตได้ด้วย”

แน่นอนว่า กระเป๋าเดินทางเล็กๆ ใบนี้ ไม่เพียงจำลองโลกในความคิดของเขาไว้ แต่งานที่สำเร็จออกมาเป็นชิ้นนี้ยังเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์ที่เขาเตรียมจะพัฒนาเพิ่มเติมและออกจำหน่ายในตลาดในอีก 6 เดือนข้างหน้า ด้วยสนนราคาของตำรับปรุงกลิ่นแห่งความทรงจำที่ 900 ยูโร หรือราว 36,000 บาทต่อชุด

นี่เป็นเพียงการเปิดกระเป๋าแห่งความสร้างสรรค์ 3 ใน 8 ใบ ที่ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก ที่ไม่เพียงเล่าความคิดสร้างสรรค์ในงานออกแบบ แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของงานออกแบบที่วันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ตัวอย่างเช่น แจ็ค เลา (Jack Lau) กับผลงาน Motion Graphic Design เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ที่บอกว่าคนรุ่นใหม่ชอบอะไรที่สั้นๆ เข้าใจง่าย เขาจึงหยิบเอาเรื่องราว เช่น การรณรงค์ป้องกันการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิด มานำเสนอในรูปแบบของโมชั่นพิกเจอร์ โดยใช้งานกราฟิกสะท้อนสิ่งที่อยากจะบอก บันทึกลงในรูปของแผ่นซีดี เมื่อวางลงในกระเป๋าใบเล็กที่ภายในจำลองเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ภาพกราฟิกก็จะปรากฏขึ้นบนจอภาพ

สำหรับผู้ที่สนใจ กรุงเทพฯเป็นแค่จุดเริ่มต้นของ “พ็อคเก็ต เวิลด์ส” ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ กระเป๋าเล็กๆ ทั้งแปดจะออกเดินทางไปจัดแสดงที่ออสเตรเลีย

แจ็ค เลา กับ Motion Graphic Design เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image