เช็กอิน ‘อาณาจักรหนังสือ@มติชน’ งาน ‘สัปดาห์หนังสือ’ ครั้งที่ 46

วนกลับมาเจอกันครั้งที่ 46 แล้ว กับงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ”

หนนี้ “สำนักพิมพ์มติชน” ได้ “อเล็ก เฟส” (Alex Face) ศิลปินสตรีตอาร์ตแนวหน้าของเมืองไทย ร่วมเนรมิตของพรีเมียมและบูธหนังสือความยาวกว่า 27 เมตร ด้วยสตรีตอาร์ตกราฟฟิตี้ให้เป็น “อาณาจักรหนังสือ พื้นที่แห่งการอ่าน” หรือ Book Venue สุดคูล

(ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ อเล็ก เฟส : ‘หนังสือ สตรีทอาร์ต ความบันดาลใจ’ 1 ชั่วโมง 28 นาที กับ ‘อเล็ก เฟส’ ผู้หลงใหลใน ‘โมเนต์’ และ’รงค์ วงษ์สวรรค์)

พร้อมจัดเต็มกับวรรณกรรมแปลระดับโลก ขนกันมาหลายสัญชาติ หลากภาษา

Advertisement

เริ่มจาก “The Glass Palace” หรือ “ร้าวรานในวารวัน” ผลงานเขียนของ Amitav Ghosh นักเขียนเอเชียใต้ที่เข้ารอบรางวัล Man Booker Prize แปลโดยธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์

เนื้อหาในเล่มหยิบยกฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพื่อให้เห็นว่าเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเปลี่ยนชีวิตของผู้คนระดับต่างๆ อย่างไร ตลอดจนผู้อ่านจะได้รู้จักโลกอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย พม่า มลายูแบบที่มีชีวิตชีวา สมจริงในรูปแบบเรื่องราว มิใช่ข้อเท็จจริง

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่า สุดาห์ ชาห์ ผู้เขียน “ราชาผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง” มีแรงบันดาลใจจากการอ่าน The Glass Palace โดย 2 พาร์ตแรกในเล่มนี้ ผู้เขียนใช้ฉากตอนที่พระเจ้าธีบอถูกอังกฤษเนรเทศไปอยู่อินเดีย ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์จริง

Advertisement

“จุดนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งให้สุดาห์ ชาห์ ได้แรงบันดาลใจในการเขียนสารคดีชุดนั้น แต่ The Glass Palace เป็นนวนิยาย คือใช้เหตุการณ์นี้เป็นตัวดำเนินเรื่อง ใช้ตัวละครสมมุติ 2 คนอยู่ในเหตุการณ์นี้ โดยผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่า เพราะเหตุการณ์ครั้งใหญ่นี้ทำให้สามัญชนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง” อพิสิทธิ์กล่าว

เล่มถัดมากับ “The Strangeness in My Mind” หรือ “หากหัวใจไม่สามัญ” ผลงานเขียนของออร์ฮาน ปามุก มีนพมาส แววหงส์ นั่งแท่นแปล และนักรบ มูลมานัส คอลลาจปกหนังสือให้เช่นเดิม

เล่มนี้ ปามุกยังสะท้อนภาพในสังคมตุรกีที่มีทั้งการแบ่งชนชั้นทางฐานะและการกดขี่ทางเพศ แสดงอิสรภาพอันจำกัดของผู้หญิงตุรกีในยุคนั้น ทั้งสิทธิการเลือกคู่แต่งงาน หรือบทบาทหน้าที่ของ “แม่” และ “เมีย” หลังการแต่งงาน ทั้งยังเล่าชีวิตตัวละครที่อยู่ในชนชั้นแรงงาน สะท้อนบทบาทการเมืองและศาสนาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนชนชั้นนี้อย่างชัดแจ้ง

ได้รับการชื่นชมว่า “เป็นนวนิยายที่มีคุณค่าทางสังคมและวรรณศิลป์”

ผลงานเขียนชิ้นเยี่ยมของปามุก ที่สำนักพิมพ์มติชนภูมิใจนำเสนอต่อจาก “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา”

ปรับโหมดมาทางนวนิยายจีน “I Did Not Kill My Husband” หรือ “อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา” โดย Liu Zhenyun นักเขียนรางวัลเหมาตุ้น แปลโดยศุณิษา เทพธารากุลการ

เจิ้นหยุนตั้งใจเขียนเรื่องนี้เพื่อเสียดเย้ย ถากถางนโยบายลูกคนเดียวของจีน เล่าด้วยน้ำเสียงตลกขบขันกับความตลกร้ายของชีวิต ทั้งยังสะท้อนปัญหาคอร์รัปชั่นขนาดมหึมาในจีนด้วยเช่นกัน

เคยตีพิมพ์แล้ว 5 ภาษาหลัก ตลอดจนดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อ I Am Not Madame Bovary นำแสดงโดยฟ่าน ปิงปิง กำกับโดยเฝิงเสี่ยวกัง คว้าหนังยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย

ปิดท้ายด้วยข่าวดีของแฟนๆ นักอ่าน “The Godfather” ที่ครั้งนี้สำนักพิมพ์มติชนได้รับสิทธิตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 15 แล้ว

ยกทัพ ‘แนวประวัติศาสตร์’
จัดหนัก จัดเต็ม เยอะแบบจุใจ!

แฟนานุแฟนหนังสือประวัติศาสตร์ไม่ต้องรอเก้อ รอบนี้มติชนจัดหนักจัดเต็มให้เลือกอ่านแบบจุใจ!

มีตั้งแต่สารคดีประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคม “The Fishing Fleet: Husband-Hunting in the Raj” หรือ “กองเรือหาคู่” ผลงานของ Anne de Courcy แปลโดยสุภัตรา ภูมิประภาส

แอนน์จะพาผู้อ่านย้อนไปกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อครั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเจริญก้าวหน้า พลเมืองอังกฤษจำนวนมากจึงแห่กันไปทำงานยังดินแดนไกลบ้าน ประชากรชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินผิวขาวใช้ชีวิตเยี่ยงอภิสิทธิ์ชน เว้นแต่ “คู่ครอง” ที่รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายเข้มงวดไม่ให้ชาวอังกฤษในอาณานิคมอินเดียข้องแวะหรือแต่งงานกับหญิงพื้นเมือง

เป็นเหตุให้ “หญิงสาว” กลายเป็น “สินค้าชิ้นใหม่” ที่ครอบครัวในอังกฤษส่งข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อให้ “ไล่ล่าสามี”

หรือจะเป็น “เรื่องไม่เคยเล่าในวังต้องห้าม” ของหวังอีเฉียว แปลโดยชาญ ธนประกอบ เล่าถึงสิ่งละอันพันละน้อย และทุกข์สุขในชีวิตของผู้คนในวัง

ผู้อ่านจะได้พบชีวิตอีกด้านของราชสำนักจีนที่ไม่ได้มีแค่จักรพรรดิและสนมนางใน แต่จะพาไปดูชีวิตเหล่าขันทีที่มีเรื่องราวทั้งดีและร้าย และผู้คนอีกหลากหลายที่ทำให้ชีวิตในรั้ววังขับเคลื่อนดำเนินไปอย่างปกติสุข

บุคคลตัวเล็กๆ ในหนังสือเล่มนี้ จะเล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไปจากบรรดาราชนิกุล โดยผู้อ่านสามารถหยิบ “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” ขึ้นมาอ่านเสริมกันได้

สำหรับ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ ๖)” นิพนธ์โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าด้วยพระราชประวัติในรัชกาลที่ 6 ซึ่งบางเรื่องผู้อ่านอาจไม่เคยรู้ เช่น การปรึกษาเรื่องการตั้งรัชทายาท

ทั้งยังมีส่วนที่ ม.จ.พูนพิศมัยทรงนิพนธ์ถึงเรื่องราวของตนเองที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในราชสำนักรัชกาลที่ 6 ด้วย

ซึ่งต้นฉบับนี้ ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

อพิสิทธิ์เสริมว่า เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ ร.6 จบแล้ว ใช่หรือไม่ว่า อาจต้องมีการตีความใหม่ในบางเรื่องแน่นอน ขณะเดียวกัน ผู้อ่านสามารถหยิบเล่ม “ราชสำนักรัชกาลที่ 6” ของวรชาติ มีชูบท มาอ่านควบคู่กันได้

เล่ม “อยากลืมกลับจำ” สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป. พิบูลสงคราม “จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม” ผลงานของ 3 นักเขียน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และณัฐพล ใจจริง, มีนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ บรรณาธิการ

อพิสิทธิ์กล่าวว่า ทีมผู้เขียนใช้วิธีสัมภาษณ์ “จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม” แล้วเรียบเรียงออกมา โดยผู้อ่านจะได้พบกับ “คำให้การ” ของอดีตลูกสาวผู้นำประเทศ ผู้ทำให้ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย

“เราจะได้ฟังมุมมอง จอมพล ป.จากลูกสาวของเขา ซึ่งที่ผ่านมาเราอ่านจากหนังสือนักวิชาการ แต่ครั้งนี้จะได้รู้จักเขาจากผู้ได้อยู่ใกล้ชิด

“เล่มนี้สะท้อนประวัติศาสตร์อะไรบางอย่าง ช่วงปี 2500 ในมุมมองที่ไม่เคยรู้มาก่อน” อพิสิทธิ์กล่าวเน้น

“ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม” โดยสุรเชษฐ์ สุขลาภกิจ เนื้อหาสะท้อนถึงสังคม “ผัวเดียวเมียเดียว” อันเป็นกรอบคิดแบบตะวันตก แต่ถูกยกเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติไทยในทศวรรษ 2480

ช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชนชั้นปกครองสยามมองว่า “ผัวเดียวเมียเดียว” เป็น “ของนอก” จึงรักษาจารีต “ผัวเดียวหลายเมีย” ไว้ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตก และความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

หนังสือเล่มนี้จะช่วยอธิบายให้เห็นทั้งในแง่ภูมิปัญญาการเมืองเรื่องเพศสภาพและชนชั้นในสังคมสยาม จบ ครบประเด็นแน่นอน

สำหรับ “America First รบเถิดอรชุน” ของภาณุ ตรัยเวช ได้ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนคำนิยมให้ โดยตอนหนึ่งระบุว่า “ผู้เขียนเล่าชีวประวัติตัวละครที่มีบทบาทต่อสังคม ประกอบกันขึ้นเป็นสายธารของความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ของชาวอเมริกันช่วงก่อนเกิดสงครามโลกทั้งสองครั้งออกมาอย่างมีชีวิตจิตใจ แม้บริบททางสังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างความเชื่อที่แตกต่าง กระทั่งตรงข้ามกัน…”

ซึ่งอพิสิทธิ์เสริมความพิเศษให้ว่า ผู้เขียนได้ทำแจ๊กเก็ตพิเศษมาแจกในงานเพียง 500 เล่มเท่านั้น ไม่ขาย แต่แจกฟรี! ส่วนกติกาจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามจากเฟซบุ๊ก “มติชนบุ๊ก” ต่อไป

เปิด ‘ของเด็ด’ ที่ผู้อ่าน ‘ไม่-ควร-พลาด!’

พลาดไม่ได้กับ “โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิด” ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจลำดับที่ 29 โดย หนุ่มเมืองจันท์

เขากลับมาพร้อม “แรงบันดาลใจ” และ “ความสุข” เต็มเปี่ยม พร้อมแบ่งปันให้ผู้อ่าน ด้วยการหยิบยกชีวิตของผู้คนร่วมทางที่ได้พบเจอ พูดคุย มาบอกต่อแบบย่อยง่าย โดยแกนหลักของเรื่องอยู่ที่การมองต่างมุม นิยามต่างความหมาย และวิธีคิดให้มีความสุข

และ “คิดใหญ่เริ่มให้เล็ก” ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 2 ของกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ฉายเบื้องหลัง วิเคราะห์กลเม็ด และกลยุทธ์การออกแบบความคิดที่ทานอร่อย พร้อมสูตรเด็ดในการสร้างสรรค์นวัตกรรม “ทำไมต้องคิดให้ใหญ่” แล้วเริ่มลงมือทำเลย

ด้าน เสวนาเสริมความรู้ จัดที่เวทีเอเทรียมเช่นเดิม เริ่มกันตั้งแต่วันแรก 29 มี.ค. หัวข้อ “เปิดชีวิตบริติชราช” วิทยากรโดยสุภัตรา ภูมิประภาส และธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์ ดำเนินรายการโดยทิมา เนื่องอุดม เวลา 19.00-20.00 น.

จากนั้นมีอีก 2 เสวนาภายในวันเดียวกัน คือวันที่ 3 เม.ย. เวลา 12.00-13.00 น. หัวข้อ “เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6” วิทยากรโดยวรชาติ มีชูบท และอีกรอบคือเวลา 19.00-20.00 น. หัวข้อ “JAPAN INSIDE ทั้งร้ายทั้งรัก” วิทยากรโดยเกตุวดี Marumura และภัทรพล เหลือบุญชู มีเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินรายการทั้ง 2 รอบ

และที่แฟนๆ ตั้งตารอสุดสุดคือ โปรโมชั่นหนังสือราคาพิเศษ พร้อมของพรีเมียม ครั้งนี้หากผู้อ่านซื้อหนังสือครบ 500 บาท รับฟรี “ซองใส่หนังสือ”, ซื้อหนังสือครบ 1,000 บาท รับฟรี “กระเป๋าผ้า”, ซื้อหนังสือครบ 1,500 บาท รับฟรี “ผ้ากันเปื้อน”, ซื้อหนังสือครบ 2,000 บาท รับฟรี “ร่ม” และซื้อหนังสือครบ 3,500 บาท รับฟรี “กระเป๋าเดินทาง”

หรือจะเป็น เมื่อซื้อหนังสือครบ 1,000 บาทลุ้นจับรางวัลหูฟัง ฟรีทุกวัน วันละ 1 เครื่อง (เริ่ม 30 มี.ค.)

แล้วพบกันที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนพลาซ่า V10 วันที่ 29 มีนาคม เวลา 12.00-21.00 น. ถึงวันที่ 8 เมษายน เวลา 10.00-21.00 น.

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image