เพชรบุรีที่ถูกมองข้าม ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่อง ‘ทุ่งเศรษฐี’ ตามรอยเท้า ‘เจ๊กกับแขก’ ในประวัติศาสตร์การค้าข้ามคาบสมุทร

ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับรายการสุดฮอตของคอประวัติศาสตร์อย่าง “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ในตอน “เพชรบุรี มีเจ๊กกับแขก การค้าข้ามคาบสมุทรสุดสยาม” ซึ่งถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ และ ยูทูบช่องมติชนทีวี เมื่อวันอังคารที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมี เอกภัทร เชิดธรรมธร พิธีกรเจ้าเก่าคอยชวนคุยเช่นเดิม ที่เพิ่มเติมคือทริปนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร ร่วมบอกเล่าเรื่องราวแสนสนุก ปลุกจิตสำนึกด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านนิทานที่ได้รับการบอกต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังอุ่นหนาฝาคั่งด้วยคนท้องถิ่นตัวจริงที่ติดตามมาชมรายการถึงสถานที่ถ่ายทำ มิหนำซ้ำยังหาน้ำท่ามาเลี้ยงทีมงานพร้อมอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ อีกด้วย

ยังไม่นับ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน ม.ธรรมศาสตร์ ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอท่ายาง ที่ร่วมเดินทางมากับ (อดีต) สองกุมารสยาม

บรรยากาศจึงอบอุ่น คึกคัก และข้นคลั่กไปด้วยความรู้

Advertisement
ขรรค์ชัย บุนปาน สักการะสมเด็จพระพุทธไกรสีห์บรมนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เขานาขวาง
หลังการถ่ายทอดสด โดยมีศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว นำชม เชื่อว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เจ้าตัวบอกว่า ไม่เคยเดินทางมาที่ถ้ำพระนอนแห่งนี้มาก่อน สำหรับพระพุทธรูปไสยาสน์องค์นี้ มองว่างดงามไม่มีที่ติ ได้สัดส่วน บ่งชี้ถึงฝีมือช่างที่สูงยิ่ง

เปิดรายการใต้ร่มไม้โดยมีฉากหลังเป็นโบราณสถานยุคทวารวดี นามว่า “ทุ่งเศรษฐี” เชิงเขานางพันธุรัต ในอำเภอชะอำ

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน เริ่มชวนคุยตั้งแต่เรื่องของชื่อตอนที่มีคำว่า “เจ๊กกับแขก” โดยย้ำว่า ไม่ใช้คำดูแคลน หากแต่ทั้ง 2 คำนี้ มีความหมายว่า ผู้มาเยือน หรือคนอื่น เชื่อมโยงกับประเด็นการค้าข้ามคาบสมุทรที่จะพูดถึงต่อไป ส่วน “สุดสยาม” ที่หลายคนอาจสงสัยว่า จะสิ้นสุดตรงนี้ได้อย่างไร ทำไมไม่ใช่นราธิวาส คำตอบมีอยู่ว่า นั่นคือประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน แต่สิ่งที่กำลังพูดถึงในตอนนี้ คือประวัติศาสตร์เมื่อครั้งยังไม่มี “คนไทย”

“บริเวณที่เป็นเพชรบุรีขึ้นไปจนถึงสุพรรณฯ ลงไปปักษ์ใต้เรียกว่าดินแดนคาบสมุทร ผมเข้าใจว่าชาวสยามมาสุดอยู่แค่เมืองเพชร ในยุคก่อนหรือยุคต้นอยุธยา เส้นทางข้ามคาบสมุทรสำหรับความเป็นกรุงศรีอยุธยาหรือความเป็นรัฐที่พูดภาษาไทย คือเส้นทางตั้งแต่ถนนพระรามสองออกเพชรเกษม ซึ่งรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรียกว่า ไทยแลนด์ ริเวียร่า เพชรบุรีเชื่อมโยงการค้าโลกระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย ชุมชนการค้าเริ่มต้นจากตรงนี้ซึ่งใกล้ชายฝั่งที่สุด นั่นคือ ชะอำ ในอดีตเป็นชุมชนใหญ่ จึงมีเจดีย์ทุ่งเศรษฐีใหญ่ขนาดนี้ได้ โดยควบคุมการค้าที่ด่านสิงขรหรือช่องสิงขร ออกทะเลอันดามัน ตรงนี้คือหัวใจของการค้าข้ามคาบสมุทรในช่วงที่จีนออกมาค้าสำเภาเอง หลัง พ.ศ.1500 รัฐชายฝั่งต้องการทรัพยากรจากข้างในส่งมาค้าขายกับจีนให้เกิดความเคลื่อนไหวของชุมชนภายใน การค้าทางทะเลทำให้เกิดรัฐใหญ่ การค้าในแม่น้ำลำคลอง มันทำให้รวยไม่พอ ไม่เป็นเจ้าสัวหรอก เป็นได้แค่เศรษฐีท้องถิ่น ในโลกนี้ ไม่มีรัฐที่ไหนเกิดมาจากดอกเห็ด แต่มาจากการค้าทั้งนั้น มีแต่ประวัติศาสตร์ไทยที่มีแต่การรบกันท่าเดียว”

ภาพสันนิษฐานโบราณสถานทุ่งเศรษฐีเมื่อมีสภาพสมบูรณ์ โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม

สุจิตต์บอกอีกว่า คนมักเข้าใจว่าเพชรบุรี ถูกควบคุมโดยสุโขทัยและอยุธยา แต่จริงๆ แล้วสุโขทัยไม่มีอำนาจลงมาถึงเพชรบุรี เจ้าตัวมองว่าเพชรบุรีเป็นรัฐกึ่งเอกราช ดองเป็นเครือญาติคู่กับรัฐสุพรรณภูมิ ทั้งหมดนี้ถูกเรียกจากเอกสารจีนว่าเสียนหรือสยาม เอกสารจีนบางฉบับระบุว่าแม่น้ำในประเทศเสียนนั้นไหลจากทิศใต้ขึ้นทิศเหนือ ถามว่ามีที่ไหนบ้าง? คำตอบคือ “แม่น้ำเพชร” ซึ่งไหลจากแก่งกระจานไปบ้านแหลม คือ จากทิศใต้ไปทิศเหนือ ตรงเป๊ะกับเอกสารจีน

“ในตำนานนครศรีธรรมราชบอกชัดว่าเมืองเพชรชำนาญการทำนาเกลือ ทุกวันนี้ก็ยังทำ รัฐเพชรบุรี ดองกับสุพรรณ เรียกรัฐเครือญาติ โดยดองลงไปถึงนครศรีธรรมราช ตำนานยังบอกด้วยว่ากษัตริย์จากเพชรบุรีลงไปฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งถูกโรคห่าระบาด ราชทูตทั้งหลายที่เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ว่าจะเป็นทูตฝรั่งเศสหรือเปอร์เชีย ล้วนมาขึ้นเรือที่เมืองมะริด ออกด่านสิงขร แล้วนั่งเรือเข้าเมืองเพชร จากนั้นจึงเดินทางต่อไป นี่มีในบันทึกทั้งหมด”

พูดถึงสมเด็จพระนารายณ์ พิธีกรอดยิงคำถามโยง “ออเจ้า” ไม่ได้ ว่าเมืองเพชรในยุคแม่หญิงการะเกดนั้น เพชรบุรีเป็นอย่างไร สุจิตต์ตอบทันควันว่า น้ำตาลที่แม่หญิงใช้ทำน้ำปลาหวานนั้นมาจากเมืองเพชร!

เท่านั้นยังไม่พอ ที่นี่ยังเป็นแหล่ง “ซีฟู้ด” อีกต่างหาก

“ไปดูได้เลยในเอกสารโบราณสมัยอยุธยามีหมด กะปิ หอยหลอด หอยดง หอยดอง ไปจากเมืองเพชร ยังมีกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเลา ปลากระเบนย่าง ปลาทู ปลากะพง ใส่เรือไปจอดขายที่อยุธยา โดยออกจากบ้านแหลม บางตะบูน เข้าคลอง ผ่านบ้านยี่สาร อัมพวา ไปทะลุแม่กลอง คลองหมาหอน ออกแม่น้ำท่าจีน เข้าคลองมหาชัย ผ่านบ้านคุณขรรค์ชัยเก่า ไปทะลุบางกอกขึ้นอยุธยา นี่คือเส้นทางสำคัญ แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่พูดถึง”

สุจิตต์ย้ำว่า ประวัติศาสตร์มองข้ามเมืองเพชรบุรี แม้แต่สถาบันการศึกษาในเมืองเพชรก็มองข้ามตัวเองไปด้วย ประเด็นเหล่านี้รัฐบาลเผด็จการควรใช้วิธีคิดแบบประชาธิปไตย

“ราชธานีไม่ว่าที่ไหนต้องมีเมืองท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่ราชธานี ไม่บอกเรื่องเมืองท้องถิ่น ไทยแลนด์ริเวียร่าควรนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นออกมา แล้วเอาท้องถิ่นมาพูด นี่คือจุดขายการท่องเที่ยวเมืองรองแบบมีสาระ”

ภาพลายเส้น ‘เขาเจ้าลาย’ มีลายมือภาษาอังกฤษกำกับว่า Cholai Peak วาดในเรือจากทะเลชะอำ เมืองเพชรบุรี ฝีมือ H. Warington Smyth ผู้เขียนหนังสือ Five Years in Siam from 1891 to 1896 พิมพ์ครั้งแรกในนิวยอร์ก สหรัฐ 1898

จากนั้นถึงคิวเรียนเชิญ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว มาเล่าเรื่องราวของขุนเขาอันเป็นฉากหลังของการถ่ายทอดสดครั้งนี้ที่มีประวัติไม่ธรรมดา

“บริเวณนี้มีกลุ่มเขาหลายกลุ่ม แต่เวลามองไกลๆ จากทะเล จะเห็นเป็นเทือกเดียว คือเขาเจ้าลาย บางทีก็เรียกเขาเจ้าลายใหญ่ อย่างในแผนที่สมัย ร.5 ส่วนชื่อเขานางพันธุรัต ก็เรียกมานมนานตั้งแต่ปู่ย่าตายาย รูปร่างคล้ายนางยักษ์นอน เห็นพุงโต เหมือนสุจิตต์หรือเปล่าไม่รู้ (หัวเราะ) ตอนหลังเอาเรื่องสังข์ทองมาสวมกับสถานที่ต่างๆ เยอะแยะ”

มาถึงไฮไลต์ที่หลายคนรอฟัง คือนิทานโด่งดังว่ามีปูมหลังอย่างไร นั่นคือ เรื่องตาม่องล่าย อันเป็นโศกนาฏกรรมความรัก ซึ่งปราชญ์เมืองเพชรเริ่มเกริ่นก่อนว่า ภูเขามีมาพร้อมกับโลก แล้วคนเอานิทานไปสวม โดยพยายามอธิบาย เล่ากันอย่างเป็นจริงเป็นจังดังเช่นเรื่องที่ว่านี้ซึ่งกินพื้นที่กว้างไกล ไม่จำกัดอยู่เฉพาะขุนเขาต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี

“เรื่องตาม่องล่าย กินพื้นที่ตั้งแต่ฝั่งตะวันออก จันทบุรี ตราด ไปถึงเวียดนามโน่น ทางตะวันตกก็ตั้งแต่เมืองเพชร เลยไปทางใต้ ถึงปากพนัง ข้ามฟากอันดามันไปถึงพังงา และแถวภูเก็ต โดยมี 2 สำนวน ใน 2 ยุค คือ สำนวนเก่าและสำนวนใหม่ สำหรับสำนวนเก่า ได้รับการตรวจสอบโดย พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร อธิบดีกรมสรรพากรซึ่งเป็นฝรั่ง ท่านศึกษาไว้แล้วเขียนลงในวารสารสยามสมาคม เลยทำให้รู้ว่า เรื่องตาม่องล่าย มี 2 สำนวน สำนวนหลังสุด คือสำนวนที่รัชกาลที่ 6 ทรงแปลงเป็นบทละคร เป็นที่รู้จักแพร่หลาย จริงๆ แล้วเนื้อเรื่องก็คล้ายกัน ยกเว้นตอนจบ”

ศาสตราภิชาน ล้ม เพ็งแก้ว เล่านิทานตาม่องลายในสำนวนต่างๆ อย่างสนุกสนาน

สำหรับเนื้อเรื่องของนิทานดังกล่าวนั้น ศาสตราภิชานล้อมเล่าว่า ตาม่องล่ายมีเมียชื่อนางรำพึง ทั้งสองมีลูกสาวสวยมาก คือนางยมโดย เมื่อเจ้ากรุงจีนมาหลงรักก็เข้าทางแม่ แม่ตกลงนัดวันแต่งงาน ส่วนเจ้าลาย ไปขอกับตาม่องล่าย กล่าวคือต่างคนต่างตกลง จึงเกิดศึกชิงนาง ระหว่างเจ้ากรุงจีนกับเจ้าลาย สำหรับตอนจบ สำนวนเก่าและสำนวนแปลง แตกต่างกัน

“สำนวนเดิมเจ้ากรุงจีนรบกับเจ้าลาย ตาม่องลายกลัวเกิดสงครามระหว่างเมือง ความที่โกรธเมียว่าไปยกลูกสาวให้ เลยฆ่าลูกสาว ตัดนม ข้างหนึ่งขว้างไปยวนนอก คือ เวียดนาม อีกข้างหนึ่งขว้างไปตกที่ยวนใน คือ จันทบุรี ลำตัวขว้างไปปากพนัง เจ้ากรุงจีน ตามตำนานเดิมชื่อเจ้าหมวก ซึ่งก็เป็นเขาหมวกที่ประจวบฯ ส่วนสำนวนแปลง รบกันแล้วเจ้ากรุงจีนแพ้ นางยมโดยได้ครองรักกับเจ้าลาย ไม่มีการฉีกร่างนางยมโดย”

สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงภาพปูนปั้นชาวพื้นเมืองและคนอาหรับจากโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ด้วยความอนุเคราะห์จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี

ถึงตรงนี้ สุจิตต์ขอแจมว่า นิทานเหล่านี้เชื่อมโยงกับนิทานที่อื่นทีเกี่ยวกับการค้าจีน เช่น เจ้าชายสายน้ำผึ้ง ซึ่งจากหลักฐานประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าจีนมองอุษาคเนย์อยู่ในความพิทักษ์ของตน ในตำนาน กษัตริย์เมืองเพชรก็แต่งงานกับลูกสาวพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งแม้จะไม่จริง แต่ก็สะท้อนความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างจีนกับดินแดนแถบนี้

ปราชญ์เมืองเพชรยังทิ้งท้ายว่า อยากให้คนมาศึกษาที่นี่เยอะๆ เพราะส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวชะอำ มักพุ่งเป้าเช็กอินที่ชายหาด ทว่า พื้นที่โซนนี้ยังมีอะไรดีๆ อีกมากมาย

“อยากให้ลองสวมวิญญาณพ่อค้าสมัยก่อน ชะอำมีอะไรเยอะ เช่น เขาเจ้าลาย มีทุ่งนาข้าวที่เหมาะสำหรับการถ่ายรูป เขียนภาพ แต่นับวันจะถูกทำลาย ระหว่างทางผมได้ชี้ให้คุณขรรค์ชัยดูทุ่งนาข้าว ซึ่งเป็นนาแบบโบราณ ผมอยากให้เพชรบุรีเมืองมหาวิทยาลัย ไม่อยากให้เป็นเมืองศูนย์การค้า อยากให้รักษาของเดิม ควรจัดพื้นที่แบ่งโซนเป็นส่วนๆ ไป”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาสุดเข้มข้นทั้งยังมากล้นด้วยมุขฮาที่เหล่าผู้ร่วมเดินทางขยันหยอดตลอดรายการ ส่วนในทริปหน้า ขรรค์ชัยและสุจิตต์ จะเดินทางไปทอดน่องที่ไหน ต้องติดตาม!

เขานางพันธุรัต ซึ่งปัจจุบันเป็นวนอุทยานทีได้รับการดูแลอย่างดี เจ้าหน้าที่มีจิตบริการประชาชน
รายการขรรค์ชัย บุนปาน–สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว เมื่ออังคารที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา บริเวณโบราณสถานทุ่งเศรษฐี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ทริปนี้มีผู้ร่วมชมในสถานที่จริงจำนวนมาก อาทิ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นชาวอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี, “ป่อง ต้นกล้า” อดีตนักดนตรีชื่อดัง , ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ผู้ก่อตั้งมิวเซียมเพชรบุรี, นางสาวนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนสารคดีชื่อดัง, ประชิด เจริญฉ่ำ อดีตนายอำเภอจังหวัดพิจิตร ชาวเมืองเพชรบุรีโดยกำเนิด, เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นอกจากนี้ ยอด เป็นศิริ ผู้ใหญ่บ้านโคกเศรษฐี อำนวยความสะดวกโดยนำเก้าอี้บริการผู้เข้าร่วมรับชมรายการสดในพื้นที่
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image