“10เล่ม1,000โรงเรียน” ส่งต่อหนังสือดี สร้างสังคมรักการอ่าน

นาย​ชลิต กิติ​ญาณ​ทรัพย์ รอง​ประธาน​กรรมการ​บริษัท มติ​ชน จำกัด (มหาชน) มอบ​อุปกรณ์​สื่อ​การ​เรียน​การ​สอน ตาม​โครงการ​สาน​ฝัน​แบ่งปัน​น้อง​ใน​โครงการ "โรงเรียน I see U มติ​ชน 30 ปี" ให้​กับ​โรงเรียน​ห้วย​กล้า ต.​วา​วี อ.​แม่สรวย จ.​เชียงราย โดย​มี​นาย​จำเริญ ชัย​ยะ ผู้​อำนวยการ​โรงเรียน พร้อม​คณะ​ครู และ​นักเรียน​ร่วม​รับ​มอบ เมื่อ​วัน​ที่ 1 มิถุนายน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การอ่าน” เป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้

ดังนั้นที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงมีความพยายามที่จะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านต่อเนื่องในทุกมิติ

รวมถึงเครือ “มติชน” บริษัทผู้ผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ ที่ได้ริเริ่มโครงการเพื่อสร้างสังคมเเห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 40 ปี

และล่าสุดในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 41 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ริเริ่มโครงการ “10 เล่ม 1,000 โรงเรียน” ขึ้นมา

Advertisement

สมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เล่าว่า โครงการครั้งนี้เป็นความสืบเนื่องมายาวนานพร้อมกับอายุของหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีโครงการทำนองนี้เกิดขึ้นทุกวาระสำคัญ ภายใต้ร่มใหญ่คือโครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” โดย ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บมจ.มติชน ได้ให้เเนวทางนี้ขึ้นมาในการแบ่งปันความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา

โครงการ โรงเรียน I See U มติชน 30 ปี

“ก่อนหน้านี้เรามีโครงการสำคัญที่เป็นรากฐาน คือโครงการ “25 ปีมติชน ระดมทุนหาหนังสือดีเข้าห้องสมุด 250 โรงเรียน” เเละในโอกาสครบรอบ 30 ปีมติชน มีโครงการ “โรงเรียน I See U มติชน 30 ปี” เเละในปี”60 เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในภาคใต้ มีโครงการ “40 ปี มติชนฟื้นฟูการอ่าน ระดมทุนซื้อหนังสือช่วยห้องสมุดโรงเรียนใต้” ระหว่างนั้นก็มีโครงการเกี่ยวเนื่องกับหนังสืออีกหลายโครงการ เช่น โครงการสนับสนุนห้องสมุดพร้อมปัญญา ดำเนินโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาห้องสมุดในเรือนจำ, โครงการจุดประกายปัญญา, ตู้อักษรซ่อนปัญญา เป็นต้น สำหรับโครงการ “10 เล่ม 1,000 โรงเรียน” จัดขึ้นในโอกาสที่มติชนครบรอบ 40 ปี และก้าวสู่ปีที่ 41″ สมหมายกล่าว

Advertisement

พร้อมเล่าย้อนว่า ในอดีตที่ผ่านมา เรามอบหนังสือจำนวนมากให้กับแต่ละโรงเรียน ทำให้จำนวนโรงเรียนที่ได้รับหนังสือน้อย ครั้งนี้จึงเปลี่ยนเเปลงเเนวทางโดยให้จำนวนน้อยเเต่กระจายไปให้มากถึง 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยการดำเนินโครงการทุกครั้งก็มาจากทุกฝ่ายที่มีจิตกุศลให้การสนับสนุนและร่วมบริจาคในงานครบรอบวันเกิดมติชน และนำเงินเหล่านั้นนำมาสู่การดำเนินการเพื่อคืนสู่สังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนต่อไป

ห้องสมุด​พร้อม​ปัญญ​า

ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ยังตอบโจทย์สำคัญหลายประการด้วยกัน

“เราต้องการส่งเสริมเเละผลักดันวัฒนธรรมการอ่านที่เรียกร้องกันมานานให้เกิดขึ้นอย่างเข้มเเข็ง โดยโครงการครั้งนี้เป็นโครงการหนึ่งที่จะกระตุ้นเเละส่งเสริมให้เความพยายามเหล่านั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมชอบฟังชอบดู การเสพสื่อเน้นไปทางบันเทิง เราในฐานะองค์กรที่ทำงานสื่อด้านที่เป็นสาระ ในขณะนี้มีการพัฒนาเป็นออนไลน์เป็นอันดับต้นๆ ของเว็บไซต์ด้านข่าวสาร แต่อย่างไรก็ตามเรายังมองว่าพื้นฐานของเรามาจากหนังสือ เพราะฉะนั้นการอ่านยังไงก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ขอยังยืนยันว่าการเสพสื่อเพียงแค่ดูและฟังเพื่อความบันเทิง ไม่พอต้องกลับมาทำให้การอ่านกลับมาเป็นนิสัยให้ได้”

สมหมายระบุอีกว่า โครงการนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า แม้พฤติกรรมการรับสื่อและการรับสารของประชาชนจะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยียุคใหม่ที่มีไอทีเป็นศูนย์กลางก็ตาม แต่หนังสือยังคงอยู่ ยังไม่ตาย และยังไงหนังสือก็ยังมีความสำคัญอยู่

“ผมว่าหนังสือไม่ตายไปง่ายๆ แน่นอนว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น คนไม่ไปเเผงหนังสืออีกแล้ว ดังนั้นวิธีการของเราคือเอาหนังสือไปให้คน ไปให้เด็ก ให้นักเรียน ให้ครูอาจารย์ ให้ห้องสมุด ตรงนี้เป็นเเนวทางของเรา”

สมหมายบอกอีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่เราเลือกมาทำโครงการนี้เพราะเรารู้สึกว่าคุณภาพการศึกษาของเรามีปัญหา ทั้งด้านโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพของตัวการศึกษาเอง เราพบว่าโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) จะมีการทดสอบ 3 เรื่อง คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องการอ่านจำเป็นจริงๆ ซึ่งผลที่ออกมา การทดสอบของประเทศไทยยังอยู่ในอันดับต่ำ เพราะเด็กเราอ่านแล้วตีโจทย์ไม่แตก ดังนั้นถ้าเราสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นมาได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น ทำให้เด็กของเราสามารถพัฒนาตัวเองได้

“เราพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าด้านใดก็มักจะเป็นนักอ่าน เพราะการจะพัฒนาได้ เกิดจากการอ่านและสร้างการอ่านเป็นนิสัย ฉะนั้นโครงการเล็กๆ นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการหนุนเสริมในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” สมหมายอธิบาย

โรงเรียน I see U มติ​ชน 30 ปี

หลายคนอาจจะสงสัยว่าที่ผ่านมาสังคมไทยสนับสนุนการอ่านอย่างมาก แต่ทำไมผลที่ได้กลับไม่เป็นที่น่าพอใจ

ในมุมมองนี้ สมหมายให้ความเห็นว่า มีการพูดถึงวัฒนธรรมการอ่าน มีการเชิญชวนให้อ่านเยอะมาก แม้แต่ผู้นำประเทศยังเชิญชวนให้เห็นถึงความสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติจริงการส่งเสริมโดยการตั้งงบประมาณให้กับโรงเรียน ตลอดจนการฟื้นฟูพื้นที่อ่านหนังสือในทางปฏิบัติยังค่อนข้างหว้าเหว่

“เห็นได้จากที่อ่านหนังสือของหมู่บ้าน ของชุมชน รกร้างว่างเปล่าไม่มีหนังสือ สิ่งที่น่าพิจารณามากสำหรับภาครัฐคือขณะนี้เปิดไอซีทีชุมชนเยอะมาก แล้วทำไมในไอซีทีชุมชนจะมีที่อ่านหนังสือด้วยไม่ได้ แล้วตามสถานีรถไฟ สนามบิน โรงพยาบาลของรัฐ เราเห็นที่เเขวนหนังสือแต่ไม่มีหนังสือเลย”

เป็นมุมมองที่สะท้อนให้เห็นว่าการส่งเสริมการอ่านยังคงสวนทางการปฏิบัติให้เกิดการอ่านในสังคม

โรงเรียน I see U มติ​ชน 30 ปี

ขณะเดียวกันผู้อ่านก็มีปัญหาเช่นกัน สมหมายบอกว่า เรื่องการอ่านในปัจจุบัน เรามีปัญหา 2 เรื่อง คือ

1.ไม่มีหนังสืออ่าน

2.มีหนังสือแต่ไม่อ่าน

ซึ่งประการหลังพบเยอะมาก นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหา คืออ่านออกแต่อ่านเอาเรื่องไม่ได้ เพราะจับใจความไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ไม่เกิดความเข้าใจ ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ดังนั้นเราต้องกลับมาส่งเสริมส่วนนี้

“ผมว่าถ้าไม่มีการส่งเสริมเรื่องการอ่านสังคมจะถดถอย ศักยภาพของบุคคลและศักยภาพการแข่งขันที่ผู้นำประเทศเรียกร้องจะไม่เป็นไปตามนั้น การหนีออกจากกับดักประเทศกำลังพัฒนาจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงจะยิ่งล่าช้าออกไป”

และสิ่งสำคัญอีกประการที่จะเกิดขึ้นจากการจัดโครงการนี้ คือการสะท้อนและเชิญชวนให้เกิดวัฒนธรรมการ “ให้”

ซึ่งการให้ครั้งนี้จะส่งต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

สมหมายกล่าวว่า โรงเรียนที่สนใจต้องการเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ สามารถเสนอชื่อเข้ามาโดยเราจะพิจารณาส่งมอบหนังสือให้ โรงเรียนที่ห่างไกล ยากลำบากเเละขาดเเคลนหนังสือจริงๆ ก่อนตามลำดับ

“โดยหนังสือทั้ง 10 เล่ม จะเป็นหนังสือที่พิจารณาเเล้วว่าส่งเสริมการอ่าน ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมจินตนาการ ได้แก่ หนังสือ สถิตในใจชน, Knockdown Money ออมเงินให้อยู่หมัด, คำส่องใจ, 7 กฎเหล็ก สู่ความเป็นซูเปอร์ฮีโร่, 50 สิ่งแรกในเมืองไทย, พ่อแม่หมายเลข ๑, คือลมหายใจ ไม่ใช่อากาศ, 50 คนดังนอกตำรา, ซุนวู ฉบับการ์ตูนคลาสสิก และ ชีวิตไม่ทิ้งให้ว่างเปล่า”

“โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มส่งต่อหนังสือในช่วงเปิดเทอมใหม่ที่จะถึงนี้ ผ่านสำนักงานเขตการศึกษาในพื้นที่ สำหรับหน่วยงานที่สนใจหรืออาจมีหนังสือส่งต่อให้กับโรงเรียน สามารถติดต่อให้เราประสานกับโรงเรียน โดยแจ้งว่ามีหนังสืออะไรบ้างแต่ไม่ต้องขนหนังสือมาให้เรานะ เราจะเป็นส่วนของคนกลางติดต่อให้ส่งไปยังโรงเรียนที่ต้องการต่อไป” สมหมายกล่าวทิ้งท้าย



สำหรับโรงเรียนที่ต้องการร่วมโครงการ “10 เล่ม 1,000 โรงเรียน” เพื่อนำหนังสือเข้าห้องสมุด สามารถดำเนินการโดยเสนอชื่อโรงเรียนให้คณะกรรมการโครงการพิจารณาคัดเลือก โดยระบุชื่อโรงเรียน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และชื่อผู้ติดต่อ ตำเเหน่ง เบอร์โทรศัพท์ เเละอีเมล์ เพื่อใช้ในการจัดส่งหนังสือ โดยสามารถส่งรายละเอียดผ่านไปรษณีย์ หรืออีเมล์มาที่ นายนพดล เเดงเเตง บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร 0-2589-0020 ต่อ 1702 อีเมล์ : [email protected] ภายในวันที่ 30 เมษายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image