‘อยากลืมกลับจำ’ อีกแง่มุมหนึ่ง ‘ท่านผู้นำ’ คำบอกเล่า ‘จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม’

สำหรับผู้ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่ม “คณะราษฎร” ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหนึ่งบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงนี้ การได้อ่านหนังสือที่มีชื่อปกว่า “อยากลืมกลับจำ” คล้ายกำลังใช้แว่นขยายส่องดูรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้เราปะติดปะต่อเห็นภาพใหญ่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เรื่องราวของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อ 24 มิถุนายน, เบื้องลึกเบื้องหลังของกลุ่มคนที่เรียกว่าคณะราษฎร รวมถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ต่างๆ, สภาพบ้านเมืองในยุคนั้น ตลอดจน การได้รับรู้อีกหนึ่งแง่มุมชีวิตของ “ท่านผู้นำ” จากปากคำของบุตรสาวคือ “ป้าจีร์-จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม”

“อยากลืมกลับจำ” เป็นหนังสือสารคดีที่ ณัฐพล ใจจริง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา, ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกันสัมภาษณ์ “ป้าจีร์” ในวัย 95 ปี โดยมี นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการเล่ม

ไม่เพียงแต่คำบอกเล่าของผู้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “วงใน” ทันเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ยังมีเอกสารที่ “ป้าจีร์” มอบให้คณะผู้จัดทำ ยิ่งเมื่อผนวกรวมกับการค้นคว้าอย่างรอบด้านของอาจารย์ผู้เขียนทั้ง 3 ท่านแล้ว ก็ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าและน่าอ่านมาก

Advertisement

ติดตามอ่านเรื่องราวใน “อยากลืมกลับจำ” อย่างชนิดวางไม่ลง กระทั่งจบหน้าสุดท้าย รู้สึกอยากชวนผู้เขียนพูดคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงาน ซักถามถึงบางประเด็นที่ยังติดค้างข้องใจ

รุดไปที่ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อพบกับอาจารย์ศรัญญู หนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้

ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ประโยคแรกที่ชวนอาจารย์หนุ่มคุยคือ ความน่าทึ่งในการจดจำเรื่องราว รายละเอียดต่างๆ ของป้าจีร์ ด้วยขณะทำงานนี้ท่านมีอายุถึง 95 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์ที่พรั่งพรูออกมา ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน “อะไรที่ทำให้ป้าจีร์ความจำดีขนาดนั้น?” คือประโยคคุยเล่นคลายสงสัย

Advertisement

ศรัญญูนิ่งไปสักพัก ก่อนจะบอกว่า มีโอกาสได้เจอป้าจีร์และเริ่มต้นสัมภาษณ์ราวต้นปี 2559 จากนั้นก็ต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สิ่งแรกที่ประทับใจคือ ป้าจีร์พูดคุยเล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้ฟังอย่างเป็นกันเอง ท่านเป็นคนสุขภาพดี อายุ 90 กว่าแล้วยังแข็งแรง อาจเป็นเพราะเป็นนักกีฬา มีกิจกรรมสังคมต่างๆ เช่น การเล่นกอล์ฟ

“สำหรับสิ่งที่ผมคิดว่าช่วยเรื่องความจำของป้าจีร์มากๆ ก็คือการเล่นไพ่บริดจ์” ศรัญญูเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี ทั้งยังบอกด้วยว่า ช่วงที่นัดสัมภาษณ์ป้าจีร์ บางทีก็อาจต้องเลี่ยงเวลาที่ไม่ชนกับการเล่นไพ่ซึ่งเป็นกิจกรรมยามว่าง (ฮา)

‘ป้าจีร์’ วัยเด็ก-สาว
ปฏิวัติ 2475 และสงครามโลกครั้งที่ 2

“ต้องบอกก่อนว่า ความทรงจำป้าจีร์ ด้านหนึ่งเป็นภาพที่ผ่านประสบการณ์ มุมมองของท่าน และในขณะเดียวกันก็ถูกจัดการความทรงจำบางอย่างแล้วนำเสนอออกมา อาจจะไม่ใช่ภาพจำที่ท่านรับรู้ในขณะนั้น แน่นอนว่าความทรงจำก็เกิดขึ้นพร้อมกับการลืม ซึ่งทางทีมงานก็ตระหนักเรื่องนี้อย่างดี นอกจากฟังแล้วต้องตรวจสอบด้วย”

เป็นประโยคที่ศรัญญูออกตัวและทำความเข้าใจกันก่อนเริ่มการพูดคุย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยอมรับว่า เรื่องทั้งหมดที่ป้าจีร์เล่า ทำให้เขาได้เห็นภาพอะไรบางอย่างที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลย เช่น ก่อนปี 2475 บรรดาสมาชิกผู้ก่อการชุมนุมกันที่ไหน ร้านอาหารไหนที่ชอบไปนั่ง การสร้างเครือข่ายต่างๆ มาอย่างไร หลังปฏิวัติสำเร็จแล้ว จอมพล ป. ไปทำอะไร

เพราะเอกสารหรือบันทึกทางการ ส่วนใหญ่มีแต่เรื่องบทบาทของผู้นำ หากแต่นี่เป็นคำบอกเล่าของคนที่อยู่ข้างหลัง ศรัญญูบอกว่า เวลาเรารับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคณะราษฎร หรืออาจจะเรียกว่าเครือข่ายของ จอมพล ป. มักจะรับรู้ผ่านทางหนังสืองานศพหรือหนังสือสารคดีการเมือง แต่การได้สัมภาษณ์ป้าจีร์ เนื่องจากท่านเห็นเหตุการณ์ เป็นลูกผู้ก่อการคนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็โตพอจะรู้เรื่องราวต่างๆ จึงเห็นคณะราษฎรมีบทบาทในช่วงนั้นว่าเป็นอย่างไร

“การที่ผู้ก่อการมาประชุมที่บ้าน หลวงอดุลเดชจรัส มานอนค้างอยู่ที่บ้านเป็นเดือนๆ ก่อนการปฏิวัติ คุณประยูร ภมรมนตรี ชอบมาพาลูกๆ ของจอมพล ป. ออกไปขับรถเที่ยว หรืออย่างเขาคุยกันตรงไหน กินข้าวกันตรงไหน เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนุก ซึ่งแม้ว่าภายหลังคนกลุ่มนี้จะมีการทะเลาะ มีทัศนคติทางการเมืองต่างกัน แต่ก็มองว่า พวก 2475 ก็ไม่ทิ้งกันเมื่อเกิดปัญหา คือสิ่งที่ป้าจีร์อธิบายถึงกลุ่มผู้ก่อการปฏิวัติ” ศรัญญูกล่าว

ตอนที่เกิดการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ป้าจีร์มีอายุ 11 ปี

ครอบครัวพิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2466 ก่อนจอมพล ป. เดินทางไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส

และขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก (พ.ศ.2481-2487) นั้น ป้าจีร์โตเป็นสาว ขณะเดียวกันก็มีโอกาสเดินทางไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ก่อนจะเกิดเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลไทยอยู่ข้างฝ่ายอักษะ ยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน เป็นเหตุให้เกิด “ขบวนการเสรีไท” ในต่างแดน

มีแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งข้อมูลกระแสหลักมักให้ภาพจอมพล ป. เป็น “เผด็จการ” ที่เลือกข้าง “ญี่ปุ่น” อย่างเต็มใจ ไม่มีโต้แย้ง

หากแต่ในบทสัมภาษณ์ของลูกสาว หาได้เป็นอย่างนั้น ป้าจีร์มองว่า บริบทตอนนั้นที่ทำให้จอมพล ป. ต้องยอมร่วมมือกับญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ก็ไม่ได้หวานชื่นเหมือนชีวิต “โกโบริกับอังศุมาลิน” จดหมายรักระหว่างป้าจีร์กับ ดร.รักษ ปันยารชุน ช่วยให้เห็นภาพสิ่งที่ป้าจีร์นึกคิดสมัยวัยสาวที่มีต่อเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงสงคราม

และคำยืนยันของหญิงวัย 95 ปีผู้นี้คือ “พ่อค่อนข้างรักษาระยะห่างจากญี่ปุ่นมากๆ”

ศรัญญูช่วยยืนยัน โดยบอกว่า ถ้าดูจากบันทึก นายพลนากามูระ อาเคโตะ ที่เข้ามาบัญชาการกองทัพในประเทศไทย มีบันทึกเรื่องนี้ คือบอกว่าจะขอพบจอมพล ป. ก็ไม่ให้พบ หนีไปอยู่ลพบุรี ซึ่งบันทึกก็บอกว่าไม่ค่อยไว้ใจจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่าไหร่ ตรงนี้น่าสนใจ เพราะบางทีเวลานึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ บันทึก หรือสารคดีต่างๆ ที่พูดถึงจอมพล ป. จะมองว่าเป็นเผด็จการ เข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นแบบเต็มตัว แล้วทำให้ประเทศเข้าสู่สงคราม

“แต่จากข้อมูลชุดนี้ เราจะพบว่า จอมพล ป. มีระยะห่างกับญี่ปุ่น รวมถึงอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามลุกขึ้นสู้กับญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงคราม เช่น โครงการจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ พร้อมๆ กันนี้ก็มีการสร้างลพบุรีเป็นเมืองทหาร” ศรัญญูกล่าว

ป้าจีร์กับ ดร.รักษ เมื่อครั้งทั้งคู่ยังหนุ่มสาว

การสร้างชาติของ ‘ท่านผู้นำ’
นักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรก

เหตุเพราะการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรนี่เอง ทำให้ป้าจีร์และพี่ชายอีก 2 คนที่กำลังเรียนต่ออยู่ต่างประเทศต้องเดินทางกลับ

จอมพล ป. ยื่นคำขาด นักเรียนไทยในต่างแดนคนไหนจะเป็นอิสระ เป็นเสรีไทอย่างไรก็ตาม แต่ลูก 3 คนของท่านต้องกลับ ซึ่งในคำบอกเล่าของป้าจีร์นั้นบอกด้วยว่า ถ้าพ่อไม่มีคำสั่งนี้ ตัวเองจะไปเป็นเสรีไท

ภาพของจอมพล ป. อย่างหนึ่งที่คนรุ่นหลังมองกลับไปแล้วมักเห็นเป็นเรื่องตลก นั่นก็คือการปฏิรูปทางวัฒนธรรมต่างๆ อาทิ การลดตัวอักษรไทยบางตัว การให้แต่งกายชุดสากลใส่หมวกแบบตะวันตก ฯลฯ

นักเรียนนายร้อยหญิงฝึกยิงปืนในท่ายืน

ป้าจีร์ได้อธิบายทั้ง 2 เรื่องนี้ว่า ช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นอยู่บนแผ่นดินไทย เขาจะบังคับให้เรียนภาษาญี่ปุ่น ดังนั้น จอมพล ป. ต้องอ้างเรื่องนี้ ว่าคนไทยกำลังเรียนภาษาใหม่ ขณะที่การแต่งชุดสากลนั้นก็เพื่อจะอ้างว่า เราเป็นตะวันตกแล้ว เพราะญี่ปุ่นให้แต่งชุดกิโมโน

ศรัญญูพูดถึงตรงส่วนนี้ว่า เป็นมุมมองของป้าจีร์ที่มีต่อเหตุการณ์ช่วงนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพที่เราเห็นในประเด็นด้านวัฒนธรรมที่มีต่อจอมพล ป. ส่วนใหญ่คือด้านลบ การนำเสนอผ่านสื่อมักเป็นด้านไม่ดี แต่เราอย่าลืมว่า สิ่งที่จอมพล ป. ทำ เป็นมรดกถึงเราในปัจจุบันเยอะมากๆ โดยเฉพาะประเด็นทางด้านวัฒนธรรม

“เรื่องภาษา การลดตัวอักษรต่างๆ ที่มองว่านำไปสู่การเกิดสิ่งที่เรียกว่าภาษาวิบัติ แต่จริงๆ ถามว่าอะไรคือความวิบัติ ด้านหนึ่งคือเป็นคำอธิบายของฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ถ้าไปดูข้อเท็จริงอีกด้านหนึ่ง ล้วนแต่ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยทั้งนั้นที่เข้ามาร่วมปรับปรุงภาษาครั้งนั้น ทั้ง พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร, หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ), หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์), พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เป็นต้น

“ภาษานำไปสู่การเข้าใจความหมาย ถ้าการปฏิวัติ 2475 คือการปฏิวัติทางการเมือง ช่วงนี้ก็คือเรื่องวัฒนธรรม ปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตศักดินา แล้วสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติแบบใหม่ขึ้นมา และที่สำคัญเรื่องภาษา ช่วงนั้นมีได้ดินแดน มีคนลาว เขมร มลายู ฯลฯ ซึ่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เรียนง่ายๆ เอาคนกลุ่มใหม่ที่เป็นคนไทยใหม่มาสื่อสารอย่างไร นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งในการปรับปรุงภาษา ที่ผมมองว่าเป็นการปรับปรุงภาษาจากรากฐาน ลดทอนฐานานุศักดิ์ ลดทอนช่วงชั้นภาษา เช่นการใช้สรรพนามบุรุษต่างๆ ก็มีแค่ ฉัน เธอ และคุณ” ศรัญญูกล่าว

หลังกลับมาจากต่างประเทศ ป้าจีร์สมัครเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยหญิงที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัย “ท่านผู้นำ”

นักเรียนนายร้อยหญิงกำลังฝึกขุดสนามเพลาะ ป้าจีร์คือคนที่ 2 จากขวา

ไม่ใช่แค่การมีไว้เท่ๆ โดยมีการฝึกอะไรมากมาย ดังคำวิจารณ์ของหลายคน หากแต่จากปากคำป้าจีร์ พบว่าการเรียนการสอนของนักเรียนนายร้อยหญิง มีการวางหลักสูตรต่างๆ เป็นโครงการใหญ่ มีสายบังคับบัญชา มีนายสิบ และจะมีเกณฑ์ทหารหญิงด้วย

ถามศรัญญูว่า “มองการเกิดขึ้นของทหารหญิงในยุคจอมพล ป. อย่างไร?”

อาจารย์หนุ่มตอบในทันทีว่า มาพร้อมๆ กับการยกฐานะสตรีในสังคม ซึ่งช่วงนี้มีการชูบทบาทสตรีคู่กับชาย ที่แต่เดิมผู้หญิงมีหน้าที่แต่ในครัวเรือน แต่สมัยนี้จะต้องมีส่วนในการสร้างชาติ มีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ทหารหญิงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการยกสถานะให้ทัดเทียมบุรุษ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีในสังคมไทย

“นอกจากนี้ก็เกิดสำนึกเกี่ยวกับครอบครัวแบบใหม่ มีการจัดพิมพ์คู่มือสมรส ยกสถานะผู้หญิงในความเป็นแม่ เช่น การเกิดขึ้นของวันแม่ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้น จอมพล ป. ไม่ได้รับการโหวตจากสภาต่อ จบบทบาทนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก

ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนต่อมาพยายามรื้อทิ้งโครงการอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับจอมพล ป. ไม่ว่าจะเรื่องภาษา วัฒนธรรม นักเรียนนายร้อยหญิง ทั้งนี้ เป็นเงื่อนไขทางการมืองของนายกรัฐมนตรีและกลุ่มเสรีไท ที่พยายามจะลดบทบาทของจอมพล ป. ลง และหลังจากนั้นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของท่านผู้นำในแง่ลบก็เริ่มต้นขึ้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” ที่ให้คำจำกัดความในเล่มไว้ว่า “สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป. : ชีวิต ความผันผวน และความทรงจำของจีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม”

ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากป้าจีร์

สารคดีที่จะช่วยให้เราเข้าใจ “คณะราษฎร” ได้ดียิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image