ชวน ‘ออเจ้า’ ขบคิด อีกแง่มุมของ ‘บุพเพสันนิวาส’ สะท้อนภาพ ‘พหุวัฒนธรรม’ ในสังคมไทยอย่างไร?

ละครจบ อารมณ์ไม่จบ!

“ลาจอ” ไปแล้วสำหรับ “บุพเพสันนิวาส” ละครที่สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้กับสังคมไทย อีกทั้งยังทิ้งความเศร้าหมองให้กับผู้ชมทั่วประเทศ

เมื่อละครจบ คนดูอย่างเรายังไม่จบ วันนี้จึงขอหยิบยกเรื่องราว “บุพเพสันนิวาส” มาพูดคุยต้อนรับตอนพิเศษในวันพุธที่จะถึงนี้

แน่นอนว่าเป้าประสงค์หลักของการชมละครก็เพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย แต่บางครั้งการดูละครก็ให้อะไรกลับมามากกว่า นั่นคือ “เกิดการตั้งคำถาม” และ “การศึกษาหาความรู้” ที่นำไปต่อยอดการศึกษาประวัติศาสตร์ งานนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่พลาดที่จะจัดเสวนาวิชาการ “บุพเพสันนิวาส : ภาพสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมไทย” ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย นับจากอดีตถึงปัจจุบันผ่านละครย้อนยุคเรื่องนี้

Advertisement

ไม่ได้มาเพื่อ ‘จับผิด’ แต่มาเพื่อ ‘ต่อยอด’
พร้อมชวนคิด ‘พวกฝรั่ง’ เป็นผู้ร้ายอย่างในละครจริงหรือ?

“ละครทำหน้าที่คล้ายนักประวัติศาสตร์ที่ทำตลอดมา นั่นคือ ‘ฟื้นอดีต’ แต่นักประวัติศาสตร์ฟื้นอดีตผ่านตัวอักษร ส่วนละครฟื้นอดีตจากการเล่าเรื่องผ่านภาพ แม้ทำหน้าที่คล้ายกันก็จริง แต่อย่าลืมว่าทั้งสองมีวัตถุประสงค์ในการรื้อฟื้นอดีตที่ไม่เหมือนกัน”

เป็นคำกล่าวของ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผอ.ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ พร้อมกับย้ำว่า การเสวนาวันนี้ไม่ใช่การจับผิดละคร แต่เพื่อต่อยอดให้เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น

Advertisement

“อดีตที่นักประวัติศาสตร์ฟื้น คือฟื้นอดีตจากข้อมูลหลักฐานอันหลากหลาย วันนี้จะมาร่วมฟื้นอดีตของยุคสมัยพระนารายณ์ผ่านผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลหลักฐาน จะเหมือนหรือไม่เหมือนกับละครไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะต้องการจะฟื้นอดีตให้ได้ชัดเจน ถูกต้องตามข้อมูลหลักฐานให้มากที่สุด”

ศ.ดร.สุเนตรบอกอีกว่า ละครเกิดจาก “ข้อยุติ” ชุดใดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยข้อยุติชุดนี้เป็นข้อยุติที่เชื่อกันมาตลอดคือ “การรุกรานจากภายนอก” ซึ่ง “บุพเพสันนิวาส” นำเสนอภาพนี้คือการที่พระนารายณ์ทรงนำ คอนสแตนติน ฟอลคอน เข้ามา พร้อมสานสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเพื่อคานอำนาจฮอลันดา แม้สุดท้ายจะเป็นภัยใกล้ตัว เมื่อชาวตะวันตกเหล่านี้เริ่มมีอำนาจในอยุธยา จนอาจนำไปสู่การตกเป็น “อาณานิคม”

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ย่อมมีหลายมุมมอง อาทิ ข้อเสนอของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ปรากฏในหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์” ว่า การที่พระนารายณ์ดึงเอาชาวตะวันตกเข้ามาเพราะปัญหาความขัดแย้ง ภายในเป็นหลัก ซึ่งต้องย้อนไปถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรที่เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ คือการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยการลดทอนอำนาจของเจ้าเมืองและเทครัวหัวเมืองเหนือมาอยุธยาทั้งหมด ทำให้ศูนย์กลางอำนาจซึ่งคืออยุธยาเติบโตอย่างมหาศาล พร้อมกับการเติบโตทางอำนาจของพระมหากษัตริย์และขุนนางผู้ใหญ่คู่ขนานกันไป

“ยิ่งอยุธยาเติบโตเท่าไร ขุนนางยิ่งมีอำนาจมากเท่านั้น จนท้ายที่สุดขุนนางสามารถลุกขึ้นมาโค่นอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ ด้วยเหตุนี้เอง พระนารายณ์จะทรงทำอย่างไรเพื่อลดทอนอำนาจกลุ่มขุนนางได้ จึงทรงดึงชาวตะวันตกเข้ามาเป็นหมากในการช่วยหนุนอำนาจของตน”

แม้ภาพที่ละครนำเสนอกับการตีความทางประวัติศาสตร์อาจแตกต่างกัน คำถามที่ตามมาคือ อะไรเป็นสาเหตุให้พระนารายณ์

ทรงดึงชาวตะวันตกเข้ามา และคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นผู้ร้ายอย่างที่ละครเสนอจริงหรือไม่?

ชาวเเขก ด้านบน “ฟานิก” แขกขายผ้าผู้เป็นพ่อของแม่มะลิ ด้านล่าง “หลวงศรียศ” เเขกผู้รับราชการในราชสำนักพระนารายณ์

สะท้อนความหลากหลาย ‘จีน-แขก’ ในอยุธยา
มีแค่ตีกระทะกับขายผ้าจริงหรือ?

ภาพชาวจีนในละครจะเห็น “จีนฮง” ผู้ทำกระทะให้แม่การะเกดและเหล่าพี่จีนผู้คุมซ่องโสเภณีเท่านั้น

เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษาได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ชาวจีนเข้ามาในอยุธยาจากการอพยพโยกย้าย เช่น หนีเหตุการณ์ทางการเมือง หนีความยากจน ซึ่งตามหลักฐานประวัติศาสตร์พบว่าในอยุธยามีชาวจีนทำอาชีพหลากหลาย อาทิ รับราชการเป็นขุนนาง พ่อค้า กุลี

“สิ่งที่อยุธยาให้กับคนจีนคือ คนจีนที่เข้ามาส่วนใหญ่นั้นแสวงหาโอกาส หาชีวิตใหม่ที่มีความอิสระ ซึ่งอยุธยามีตรงนี้ให้ และสิ่งที่อยุธยาได้กลับมาคือ อาชีพ เทคนิค การแลกเปลี่ยนความรู้ หากดูในด้านศิลปกรรมจะเห็นการแลกเปลี่ยนกัน สิ่งที่เป็นจีนซึมซับเข้ามาในวัฒนธรรมไทย”

“ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถือเป็นยุคทองของชาวแขก”

เป็น ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ให้คำนิยามของชาวแขกในสมัยอยุธยา แต่ “กลุ่มแขก” ตามประวัติศาสตร์อยุธยา แน่นอนว่ามีมากกว่า “หลวงศรียศ” และ “แขกขายผ้า” พ่อของมะลิอย่างที่เห็นในละครแน่นอน

ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์กล่าวต่อว่า แขกในอยุธยามีคำเรียกหลากหลายมาก ซึ่งแขกที่เข้ามาสามารถแบ่งกลุ่มได้ดังนี้ กลุ่มแรกคือแขกจาม มลายู และมักกะสัน กลุ่มที่สอง แขกใหญ่ (เซ็น) แขกเหล่านี้แตกต่างจากแขกกลุ่มอื่นคือนับถือนิกายซูอะ กลุ่มที่สาม พราหมณ์เทศ และกลุ่มสี่ แขกแพ ปลูกแพต่อกันในแม่น้ำเจ้าพระยา

“แขกเหล่านี้มีความสามารถเรื่องการเดินเรือ ค้าขายเก่งมากซึ่งอยุธยาต้องอาศัยแขกในการเดินเรือค้าขาย ราชสำนักสยามจึงนำบุคคลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์คือ ‘กรมอาสาจาม’ ทำหน้าที่ในการรบทางเรือ จนมีช่วงหนึ่งที่แขกเป็นกลุ่มชาติที่มีอิทธิพลอย่างมากในราชสำนักของพระนารายณ์ ก่อนที่ชาติตะวันตกจะเข้ามา”

ชาวจีน ด้านบนคือ “จีนฮง” ผู้ทำกระทะให้การะเกด ด้านล่างคือนักเลงคุมซ่องโสเภณี

ละครเนื้อดี เป็นบทเรียนชวนให้คิด
ความเป็น’พหุวัฒนธรรม’อันหลากหลายในสังคมไทย

ศ.ดร.สุเนตรกล่าวว่า “บุพเพสันนิวาส” เสนอความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ซับซ้อนในอยุธยา คือ หนึ่ง ความเป็นพหุที่หลากหลายโดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกัน สอง ความแตกต่างในพหุเรื่องความคิดและการดำรงอยู่

ผศ.ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายเพิ่มว่า หลังจากการเสียกรุงครั้งที่ 1 อยุธยาถูกกวาดต้อนเอาประชากรออกไป เป้าหมายของอยุธยาจึงเป็นการสะสมประชากรใหม่ เป็นสังคมที่ต้องการกำลังคน เพราะฉะนั้น ใครที่เข้ามาสามารถมอบทักษะ มีความสามารถบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่ออยุธยาก็เป็นที่ต้อนรับ

“อยุธยาไม่ใช่ความหลากหลายที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจและจงใจของผู้มีอำนาจในการปกครอง จะเห็นได้ว่าอยุธยามีการบริหารจัดการความหลากหลายอย่างมีโครงสร้าง มีระบบ เช่น ราชสำนักเป็นผู้กำหนดการตั้งถิ่นฐานของชุมชนต่างๆ การควบคุมเคลื่อนไหวของคนต่างชาติ แม้อยุธยาจะอนุญาตให้ชุมชนต่างชาติปกครองตนเอง แต่ต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมายกฎระเบียบของอยุธยา”

ประเด็นนี้ ศ.ดร.สุเนตรกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่บุพเพสันนิวาสให้กลับมาคือ “บทเรียน” เตือนให้สำนึกและเข้าใจว่าเรามีต้นทุนที่สูงตั้งแต่อดีต มีองค์ประกอบของสังคมที่มีความหลากหลาย คือมีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่สูงมาก “ในปัจจุบันสังคมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้นแต่เราได้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายที่มีอยู่ให้สมกับเป็นต้นทุนของเราหรือไม่? หรือยังคงเป็นต้นทุนซ่อนเร้นที่เรามองไม่เห็นถึงคุณค่า และเราจะบริหารจัดการเพื่อประโยชน์กับปัจจุบันและอนาคตอย่างไร?”

ด้านผู้กำกับละคร ภวัต พนังคศิริ กล่าวทิ้งท้ายอย่างติดตลกว่า “สำหรับเรื่องนี้ ด้วยความที่หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายเชื้อชาติ ทำให้ได้คิดว่า การทำเรื่องบุพเพสันนิวาสสามารถใส่อะไรก็ได้เข้าไปในละคร เช่น ตะเกียงจากเปอร์เซีย เตียงที่มาจากจีนของนางเอก เพราะอยุธยาช่วงนั้นคือการรวบรวมความหลากหลายไว้ ซึ่งถ้าเป็นการถ่ายทำละครเชิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่นคงไม่กล้าที่จะทำแบบนี้”

อย่าเพิ่งเสียใจกันไป แม้บุพเพสันนิวาสจะลาจอแล้ว แต่ผู้จัดยังใจดีแถมตอนพิเศษมาให้เราดูแบบเต็มอิ่มถึง 3 ตอน นอกจากจะดูเพื่อความสนุกแล้ว วันนี้ลองมานั่งสังเกตดูความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ละครสะท้อนออกมาด้วยดีหรือไม่ ออเจ้า?

แฟ้มภาพ
จากซ้ายไปขวา ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์, เศรษฐพงษ์ จงสงวน, ผศ.ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์, ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ และภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับละคร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image