96 ชั่วโมงสุดท้ายใน 2 ศตวรรษ ‘ป้อมมหากาฬ’ สิ้นแล้วชุมชนชานพระนคร

ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง สำหรับการปิดตำนานการต่อสู้ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมร่วมกับโบราณสถานสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างตัวป้อมและกำแพงพระนคร

สงครามทางความคิดในครั้งนี้จบลงที่ชาวบ้านต้องย้ายออกทั้งหมด บ้านทุกหลังถูกรื้อถอนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ก็ล้วนพังราบลงมากองกับพื้น

แม้มีการประชุมคณะกรรมการหลากหลายฝ่ายเป็นเวลาหลายเดือนระหว่างปี 2560 แม้นักวิชาการทั้งไทยและนานาชาติจะคัดค้านพร้อมร่วมเสนอ “ทางออก” ตลอดมา แม้ชาวบ้านยืนยันขอมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองอย่างแข็งขัน

ทว่า 25 ปีเต็มของศึกชานกำแพงแห่งนี้ที่กำลังเข้าสู่ปีที่ 26 ก็เป็นอันจบลงในพุทธศักราช 2561 เดือนเดียวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยยื่นคำขาดให้ชาวบ้านย้ายออกภายใน 25 เมษายน เพื่อเตรียมปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์เกือบกึ่งศตวรรษที่แล้ว

Advertisement

เหตุการณ์ต่อไปนี้ คือลำดับเวลาใน 96 ชั่วโมงสุดท้ายในความเป็น “ชุมชน” ของชาวป้อมมหากาฬ เป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายหลังกำแพงที่มีหลักฐานชัดแจ้งว่ามากมายด้วยบ้านเรือนของผู้คนมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อราว 200 ปีล่วงมาแล้ว

Advertisement

22 เมษา ‘น้ำตาหยดสุดท้าย’

หลังได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นในท่าทีของภาครัฐโดยกำหนดเดดไลน์ให้ย้ายออก ในที่สุด ชาวบ้านที่เหลืออยู่ไม่ถึง 30 ราย ในบ้าน 7 หลัง ได้ตัดสินใจดำเนินตามคำขาด โดยรับว่าได้ต่อสู้มาจนเหนื่อยล้าและ “สุดทาง” แล้ว ก่อนบอกลาถิ่นฐานจึงจัดงาน “อำลามหากาฬ” โดย ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ระบุว่ากระทำตามธรรมเนียมไทย “ไปก็ลา มาก็ไหว้” พร้อมอยากเอ่ยคำ “ขอบคุณ” ต่อนักวิชาการมากมายที่ไม่อาจเอ่ยนามได้หมด รวมถึงสื่อมวลชนที่นำเสนอเรื่องราวของชุมชนตลอด 25 ปีเต็ม

14.00 น. ผู้คนทยอยเข้าชุมชนเพื่อร่วมงาน จับกลุ่มพูดคุยสถานการณ์ล่าสุด

15.00 น. เริ่มงานอำลาอย่างเป็นทางการ ชาวบ้านนั่งบนลานหน้าบ้านเลขที่ 99 เดิมที่ถูกรื้อลงไปกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ประนมมือกล่าวอำลา พร้อมเอ่ยวาทะ “26 ปีเหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวาน ต้องพบแรงเสียดทานที่ไม่อาจต้านได้อีก ท้ายที่สุดต้องเผชิญการถูกลบจากประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ”

อดีตประธานชุมชนร่ำไห้ “ก้มกราบ” ที่พื้น ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือ ซาบซึ้งใจแม้พ่ายแพ้ ลั่น “นี่คือน้ำตาหยดสุดท้าย”

16.00 น. นักวิชาการกล่าวความรู้สึก อาทิ

-สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จับไมค์กล่าวเสียงสั่น ยืนยัน “นี่ไม่ใช่แค่บทเรียนในกระดาษ” แต่กลายเป็นประวัติศาสตร์ พร้อมระบุขอพูดคำสุดท้ายว่านี่คือการทำลายรากเหง้า

-สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ตัวแทนสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชี้ การเห็นคุณค่าของคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน การไม่เห็นคุณค่าไม่ผิด แต่การไม่ศึกษาคือสิ่งที่อันตรายต่อสังคมไทย

-ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง เผยบาดแผลของชาวป้อมมหากาฬ จะรักษาไม่ให้บาดแผลนี้เกิดกับชุมชนอื่น เอกสารการต่อสู้จะถูกใช้ประโยชน์เป็นกรณีศึกษา

17.30 น. รับประทาน “มื้อสุดท้าย” ชุมชนเครือข่ายนำอาหารร่วมแจม

18.30 น. ร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”

19.00 น. ชาวบ้านและเอ็นจีโอยังพูดคุยกับชาวบ้านที่ยังคงพักอาศัยในชุมชน

23 เมษา รื้อต่อ บ้าน ‘ปากตรอกพระยาเพชรปาณี’

ในวันนี้ ชาวบ้านทยอยเก็บของอย่างเป็นจริงเป็นจัง บรรจุใส่ลังกระดาษ เตรียมย้ายไปอาศัยชั่วคราวในชุมชนกัลยาณมิตร ย่านบางซื่อ ในขณะเดียวกันก็มีการรื้อถอนบ้านไม้ 2 ชั้นหลังใหญ่ปากตรอกพระยาเพชรปาณี ที่ตั้งชื่อตามวิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นการดำเนินการต่อจากที่ยังไม่แล้วเสร็จในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

20.36 น. เพจดัง “Kingdom of tigers ทูนหัวของบ่าว” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน ประกาศหาอาสาสมัครช่วยขนย้ายแมวราว 20 ตัว จากชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อ “หาบ้าน” ใหม่ มีเสียงตอบรับล้นหลาม และเป็นกระแสต่อเนื่อง

48 ชั่วโมงก่อนเส้นตาย

ชาวบ้านเก็บของอย่างเงียบๆ ตลอดทั้งวัน บ้านหลักที่มีชาวบ้านเหลืออยู่ได้แก่ บ้านเลขที่ 109 ซึ่งเป็นเรือนปั้นหยาริมคลอง, บ้านเลขที่ 123 หรือ “บ้านขายน้ำประปา” ยุคก่อน พ.ศ.2475, บ้านเลขที่ 127 บ้านไม้ 2 ชั้นริมกำแพง, บ้านนายพรเทพ บูรณะบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชน บริเวณริมคลอง และบ้านนายธวัชชัย ประธานชุมชน ส่วนบ้านหลังอื่นแม้ตัวบ้านยังไม่ถูกรื้อแต่ไม่มีผู้อาศัยแล้ว

17.00 น. เป็นต้นไป สื่อมวลชน ช่างภาพอิสระ รวมถึงนักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าบันทึกภาพชุมชน

18.30 น. บุคคลภายนอกออกจากชุมชนทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าแล้ว

วันสุดท้ายของคำว่า ‘ชุมชน’

เมื่อนิยามของคำว่าชุมชนต้องประกอบด้วย “ชีวิต” 25 เมษายน พ.ศ.2561 จึงนับเป็น 24 ชั่วโมงสุดท้ายของชุมชนป้อมมหากาฬในพื้นที่สำคัญที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน

08.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา เข้าช่วยชาวบ้านขนย้ายสิ่งของไปยังชุมชนกัลยาณมิตร ย่านบางซื่อโดยเตรียมรถขนาดใหญ่ไว้ให้บริการ

10.30 น. เริ่มรื้อถอนบ้านเลขที่ 127 ซึ่งผู้อยู่อาศัยสุดท้ายคือครอบครัวนางสมพร อาปะนนท์ วัย 77 พร้อมลูกชาย และหลานชายอีก 2 คน ซึ่งตัดสินใจพาแมวในชุมชนไปเลี้ยงด้วย 1 ตัว

14.30 น. การรื้อบ้านเลขที่ 127 ใกล้แล้วเสร็จ รถตักดินเข้าเคลียร์พื้นที่ เจ้าหน้าที่ช่วยบ้านเลขที่ 109 ย้ายสิ่งของจำนวนมากออกจากตัวบ้าน โดยเจ้าของบ้านหลังนี้ รวมถึงบ้านของอดีตรองประธานชุมชนและอดีตประธานชุมชนแจ้งความประสงค์ “ขอรื้อเอง” ในวันที่ 27 เมษายน ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ กทม. หวังลดทอนความเจ็บปวดในใจ วางแผนร่วมกันกับอีกหลายครอบครัวที่ย้ายออกไปก่อนหน้า “ออมเงิน” ซื้อที่ดินย่านพุทธมณฑลสาย 2 นำไม้จากการรื้อถอนปลูกเรือนในบรรยากาศเดิม

15.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมผู้บริหาร กทม. เดินทางมายัง “ป้อมมหากาฬ” แต่ไม่เข้าพื้นที่รื้อถอนในชุมชน แถลงต่อสื่อมวลชนถึงแผนการปรับภูมิทัศน์พื้นที่รวมกว่า 4 ไร่ ให้เป็นสวนสาธารณะ หวังเป็นพื้นที่สีเขียว รวมถึงเตรียมจัดสรรงบ 69 ล้าน บูรณะกำแพงเมืองริมถนนมหาไชย และตัวป้อมซึ่งเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร สำหรับบ้าน (เพิ่ง) ร้าง ที่ยังรื้อไม่เสร็จ ขีดเส้นให้จบภายในสิ้นเดือนเมษายน

เป็นอันจบมหากาพย์แห่งสงครามการต่อสู้ซึ่งยุติในปีที่ 26 นับแต่เกิดพระราชกฤษฎีเวนคืนที่ดิน ปี 2535 แม้ในวันเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่หนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึงผู้ว่าฯกทม. เมื่อเวลา 19.45 น. แน่นอนว่าไม่อาจหยุดยั้งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image