มองหลังกระแส ‘ออเจ้าฟีเวอร์’ ความหวังส่งออกวัฒนธรรมไทย?

ละครดังแห่งยุคได้ปิดฉากลงไปอย่างสวยงาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บุพเพสันนิวาส” นำสิ่งต่างๆ เข้าสู่สังคมไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระแสแต่งชุดไทย ความสนใจใคร่รู้ประวัติศาสตร์ที่มาพร้อมกับยอดเข้าชมโบราณสถานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทุกสิ่งอย่างเหล่านี้ผู้อ่านทุกท่านอาจได้ยินได้ฟังจนเบื่อกันเเล้ว จึงอยากลองมาชวนคิดเรื่องใหม่ในหัวข้อเดิมๆ

ตั้งแต่ประเด็นว่า อะไรคือกุญแจแห่งความสำเร็จของละครเรื่องนี้ พร้อมกับคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้เมื่อกระแสและความโหยหาอดีตกำลังจะหายไปพร้อมบุพเพสันนิวาส ประเทศไทยนั้นสามารถจะนำ “วัฒนธรรมไทย” ส่งออกได้อย่างเกาหลีใต้หรือไม่? สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คือ “การโหนกระแส”?

ร่วมฟังบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์ อย่าง ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่จะมาช่วยกันไขข้อข้องใจ ในงานเสวนา “บุพเพฯ เสวนา ปรากฏการณ์ออเจ้ากับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์” ที่ทางสำนักพิมพ์มติชนร่วมกับสโมสรศิลปวัฒนธรรมและข่าวสดจัดขึ้นมาเอาใจแฟนละคร

Advertisement

‘ไข’ ความสำเร็จ ‘บุพเพฯ’ ก้าวพ้น ‘เพดาน’
หลุดกรอบคิดประวัติศาสตร์ชาติ

ชวนผู้อ่านสังเกตว่า ก่อนที่ “บุพเพสันนิวาส” ออนแอร์ ละครหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของไทยส่วนมากจะเกี่ยวกับราชวงศ์ศึกสงครามและการรักษาเอกราชของประเทศที่สัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเราเท่านั้น

“สมัยก่อนละครหรือภาพจะทำภายใต้ ‘เพดาน’ หนึ่งที่เรียกว่าเป็นการฟื้นอดีตภายใต้เพดาน หรือกรอบคิดทางประวัติศาสตร์ที่เราคิดไม่พ้นคือ ‘กรอบคิดประวัติศาสตร์ชาติ'” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว

แม้บุพเพสันนิวาสจะไม่สามารถลบภาพ ‘กรอบประวัติศาสตร์ชาติ’ ไปได้หมด เพราะยังมีประเด็นการรักษาเอกราชของสยามอยู่ แต่ที่บุพเพฯสามารถครองใจผู้คนได้เพราะมีดีมากกว่าแกว่งดาบหรือสู้รบกัน

Advertisement

ทุกตัวละครในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จพระนารายณ์ ออกญาโหราธิบดี โกษาเหล็ก โกษาปาน ล้วนเป็นชื่อที่คุ้นหูมาตั้งแต่ในแบบเรียน และบุคคลเหล่านี้มาโลดแล่นให้เห็นในหน้าจอโทรทัศน์ ผู้เขียนและผู้จัดละครสามารถที่จะดึงเอาบุคคลเหล่านี้มาสอดแทรกเรื่องราวให้น่าสนใจ ตื่นเต้น ทำให้ละครเรื่องนี้แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ

สอดคล้องกับ ศ.พิเศษธงทองคิดเห็นว่า ละครและวรรณกรรมที่เห็นส่วนมากเป็นเรื่องของราชวงศ์ ศึกสงครามและการกอบกู้เอกราชเท่านั้น

“แต่บุพเพสันนิวาสนั้น มีความเป็นมนุษย์สามัญมากอยู่ เป็นเรื่องของทาส มีมิติของความเป็นมนุษย์ เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ระดู เป็นชีวิตส่วนตัวมากของคนสมัยก่อน ซึ่งเราก็อยากรู้และอยากเห็น”

นอกจากจะสะท้อนชีวิตของผู้คนธรรมดา ละครเรื่องนี้ปลุกจิตสำนึกของคำว่า “ประวัติศาสตร์” ขึ้นมาใหม่ แต่เดิมนั้นประวัติศาสตร์ในสำนึกของเราน่าเบื่อ เป็นเรื่องของการท่องจำ ศึกสงคราม ราชวงศ์ แต่ในเวลานี้ผู้คนสนใจว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร เกิดเวทีเสวนาในมิติที่แตกต่างกัน เกิดความอยากเรียนรู้

พูดง่ายๆ ว่า “บุพเพสันนิวาส” ที่โด่งดังจนเป็นกระแสและปรากฏการณ์นั้น เสนอเนื้อหาที่ถูก “จริต” ของคนไทย เพราะไม่ได้เน้นเรื่องในรั้วในวังที่ถือว่าเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประชาชน แต่บุพเพสันนิวาสนั้นเสนอภาพครอบครัวขุนนางที่เปรียบเหมือนชนชั้นกลาง ชีวิตไพร่ และทาส

พร้อมทั้งยังสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนโบราณ เห็นภาพชีวิตประจำวัน การกินอยู่ หลับนอน เข้าส้วม และการเที่ยวเตร่ เป็นต้น ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงและ “อิน” ไปกับเนื้อเรื่องได้ง่าย

“จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้ได้กระแสตอบรับจากนานาชาติ ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่นเราหมกมุ่นอยู่กับสงครามของเรา ซึ่งผู้ชมจากต่างประเทศเข้าไม่ถึง ไม่รู้เรี่องว่าเรากำลังทะเลาะกัน แย่งชิง หรือรบกันเรื่องอะไร” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว

จากที่กล่าวมาทั้งหมด “บุพเพสันนิวาส” จึงมีนัยยะของความเป็นสากล เป็นวัฒนธรรมที่รักษา “อัตลักษณ์ของไทย” พร้อมสามารถ “แชร์” สิ่งเหล่านี้ข้ามวัฒนธรรมได้ ซึ่งคล้ายกับ “แดจังกึม” ซีรีส์เกาหลี ที่แม้จะเป็นเรื่องราวในวังหลวงแต่จะเกี่ยวกับอาหารการกิน เป็นเรื่องราวที่เบสิกเข้ากับได้ทุกวัฒนธรรม จึงสามารถโด่งดังไปยังต่างประเทศได้

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “บุพเพสันนิวาส” นั้นประสบความสำเร็จเพราะ จังหวะ และ อุบัติเหตุ

ศ.พิเศษธงทองกล่าวว่า ความสำเร็จของบุพเพสันนิวาสคิดว่าเป็นเรื่องของจังหวะและอุบัติเหตุ เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เกิด “งานอุ่นไอรัก” ที่เชิญชวนประชาชนร่วมงานแต่งกายย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 5 หรือสวมใส่ผ้าไทย พร้อมกับเป็น “จังหวะ” ที่บุพเพสันนิวาสเข้ามาฉายเป็นช่วงต่อ พอละครใกล้จบก็เข้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อ ทำให้คงกระแสการแต่งชุดไทยมายาวนาน

“อีกทั้งโซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ เวลาผู้ชมดูละครจะโพสต์ความคิดเห็น แสดงความรู้สึกลงในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นรีแอ๊กชั่นที่เกิดขึ้นทันทีสิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ที่สัมผัสได้ แตะต้องได้”

เพราะแตกต่างจึงโดดเด่น
‘การะเกด’ ผู้ลบภาพ A good old days
พร้อมตั้งคำถามกับอดีต

เพราะการะเกดแตกต่างจากตัวละครย้อนอดีตตัวอื่น

การเขียนตัวละคร “เกศสุรางค์” ที่เข้ามาอยู่ในร่าง “การะเกด” ในอดีตนั้นมีความแตกต่างจากตัวละครที่ย้อนอดีตมาเช่นกัน เช่น แม่มณี ในบทประพันธ์ชื่อดัง ทวิภพ

เมื่อพูดว่าตัวละครการะเกดนั้นแตกต่าง คำถามคือแตกต่างจากตัวละครอื่นอย่างไร?

ข้อแตกต่างคือ การะเกด ตั้งคำถาม กับอดีต ในขณะที่แม่มณี เป็นตัวละครที่มองอดีต ‘A good old days’ หรือวันวานอันแสนสุข

จนอยากทิ้งปัจจุบันแล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของอดีตหรืออยู่ในอดีตนั้น พร้อมมองว่าอดีตคือสิ่งที่มีค่า

“การะเกดเป็นตัวแทนปัจจุบันที่ลุกขึ้นมาบอกว่า ‘คุณค่าของความเป็นมนุษย์’ ไม่ได้วัดกันที่เป็นอดีตหรือปัจจุบัน ความเก่าหรือใหม่ แต่ละยุคสมัยมีคุณค่าและความดีงามที่ต่างชุดกัน และปัจจุบันมีคุณค่าและความดีงามอย่างที่ปัจจุบัน”

ศ.ดร.สุเนตรได้กล่าวต่อว่า การะเกดไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของอดีต การะเกดยืนหยัดในความเป็นปัจจุบันของตนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ เพศหญิง-ชาย หรือการตั้งคำถามเรื่องการเมืองที่เรียกว่าสะเทือนทั้งไทม์ไลน์ ผู้ชมนั้นต่างลุกมาแสดงออกทางความคิด และวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์

การะเกดจึงเปรียบเหมือนกับเป็นตัวแทนของความคิดที่ทันสมัย มาถกเถียงกับตัวละครในเรื่องที่เป็นตัวแทนความคิดเชิงอนุรักษ์ และการะเกดสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะย้อนไปอยู่ในอดีตแต่ยังสามารถยืนหยัดความเป็นตัวของตัวเองอยู่

นี่คือความแตกต่างในเรื่องของการสร้าง “การะเกด” ขึ้นมา ถือเป็นความโดดเด่นที่ทำให้บุพเพสันนิวาสประสบความสำเร็จ

การะเกดตัวแทนของปัจจุบันมาตั้งคำถามกับอดีต

อย่าเพิ่งเทียบชั้น ‘แดจังกึม’ มองความต่าง
‘การส่งออกวัฒนธรรม’ ไทย VS เกาหลี

บุพเพสันนิวาสเป็นจังหวะและอุบัติเหตุ แต่แดจังกึมเป็นผลผลิตจากการวางรากฐานอย่างมั่นคง

แม้หลายคนต่างยกให้บุพเพสันนิวาสเทียบเท่ากับแดจังกึม แต่ขอชวนผู้อ่านทุกท่านกลับมาอ่านการวิเคราะห์ของ ศ.ดร.สุเนตร ต่อเรื่องนี้

ศ.ดร.สุเนตรมองว่า ข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองเรื่องนี้ คือ “บุพเพสันนิวาส” เป็นจังหวะและอุบัติเหตุ แต่ “แดจังกึม” เป็นผลจากการจัดตั้ง เกิดจากการวางรากฐานอย่างมั่นคงเป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง เพราะประเทศเกาหลีใต้นั้นมีแนวคิดที่จะใช้ “วัฒนธรรม” ของตนเป็นอุตสาหกรรมส่งออก เพื่อนำมาซึ่งรายได้ในประเทศ

“คิดว่าหากเทียบเคียงกับเกาหลี จะเห็นว่ากระแสวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีที่ไม่ตกเลยนั้น เพราะว่ากระแสวัฒนธรรมเกาหลีนั้นมีการวางรากที่แข็งแรง มีขั้นตอน มียุทธศาสตร์ มีโรดแมป มีนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง และต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนไหนบ้าง พร้อมทั้งมีการทำวิจัยศึกษาตลาดที่จะส่งออก ศึกษาวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ว่าจะวางแผนส่งออกในลักษณะไหน ซึ่งการผลักดันในลักษณะนี้ ผลที่ได้มาไม่ใช่แค่ขายละครขายภาพยนตร์เท่านั้น แต่นำพามาด้วยประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศ”

พูดง่ายๆ ว่าเกาหลีใต้มีการวางรากฐานที่แข็งแรง มีการศึกษาค้นคว้า ที่สำคัญเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยนั้นจะพบว่าตรงกันข้ามทั้งหมด

แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง ศ.ดร.สุเนตรได้ให้กำลังใจเช่นกันว่า ‘พลังทางวัฒนธรรม’ ของประเทศไทยนั้นมีไม่แพ้เกาหลีเช่นกัน เนื่องจากบุพเพสันนิวาสเป็นหนึ่งในละครน้อยเรื่องมากที่เอามิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาฉายแสง ทำให้เห็นพลังทางวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่มากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภูมิปัญญาของไทยนั้นมีไม่ด้อยไปกว่าเลย

“เพียงแต่ว่าเราหันกลับมามองทุนซ่อนเร้นทางวัฒนธรรมในอดีต และได้หยั่งประโยชน์จากสิ่งนี้ได้มากแค่ไหน ถ้าดำเนินการอย่างตั้งอกตั้งใจ มีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนและวางรากฐานที่มั่นคง เมื่อทุกอย่างมั่นคงไม่ต้องโหนกระแส และไม่ต้องกังวลว่ากระแสที่มีอยู่จะหมดไป”

จะเกิดอะไรเมื่อ ‘ไทยแลนด์’ หมดกระแสบุพเพฯ

บุพเพสันนิวาสจบแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป? คงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นภายในใจผู้ชมละครทุกคน

“ไม่ต้องห่วง ถ้ากระแสตกเป็นเรื่องปกติ สภาวะที่เป็นอยู่ขณะนี้คือสภาวะที่กำลังโหนกระแส” ศ.ดร.สุเนตรกล่าวไว้อย่างตรงจุด

ประเด็นต่อมาคือ จะโหนไปได้นานเท่าไร สภาวะเป็นอยู่ตอนนี้ไม่ยั่งยืน และไม่สามารถบอกได้ว่าความยั่งยืนอยู่ตรงไหน? บอกไม่ได้ว่าจะหากิจกรรมอะไรมาต่อความยั่งยืนนี้

“บุพเพสันนิวาสเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดกระแสแรงขนาดนี้ตั้งรับทันบ้างไม่ทันบ้างและอยากจะเก็บกระแสนั้นไว้ให้ได้นานที่สุดแต่เราต้องคิดอะไรที่ไกลและมั่นคงกว่านี้”

เป็นคำถามที่ ศ.ดร.สุเนตรทิ้งท้ายไว้ให้เราผู้อ่านชวนคิดว่าต่อไปนี้จะทำอย่างไรต่อไป สมควรจะเริ่มทำและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ หรือไม่?

ด้าน ศ.พิเศษธงทองกล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปจากนี้ ได้ยินข่าวมาว่าจะมีการทำบุพเพสันนิวาสภาค 2 หรือในชื่อพรหมลิขิต ตรงนี้ตนมีความคิดเห็นว่า หนังละครทุกเรื่องที่มีภาคสองมักจะสู้ภาคแรกไม่ได้ หากจะทำต้องวางแผนให้ดี

“ลังเลกับการที่มีภาคสองเป็นอย่างมาก บางทีควรเก็บ ‘บุพเพสันนิวาส’ ไว้เป็นความทรงจำและนำเรื่องอื่นมาแทนดีหรือไม่?”

สุดท้ายต้องลองหยั่งเสียงผู้อ่านและแฟนละครบุพเพสันนิวาส กับการสร้างภาค 2 ต่อ ทางหนึ่งคือไม่ทำเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำหรืออาจจะไม่ดีเท่าภาคแรก อีกทางหนึ่งคือเดินหน้าสร้างเพื่อสานกระแสความดังนี้ต่อไป

จากซ้าย สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้ดำเนินรายการ, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image