10 ปีโลกไม่มี ‘พิเศษ สังข์สุวรรณ’ ย้อนชีวิตผู้มาก่อนกาล ศิลปินกินเงินเดือนสวรรค์

พิเศษ สังข์สุวรรณ เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานหลากหลาย ที่โดดเด่นคือการประพันธ์เพลง

บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่มนุษย์เกิดขึ้น ใช้ชีวิตแล้วจากไปไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกจดจำ ระลึกถึง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ผลงาน ความรัก เรื่องราวที่เคยสร้างเมื่อครั้งยังมีลมหายใจ

เป็นเวลา 1 ทศวรรษ ที่ “พิเศษ สังข์สุวรรณ” จากโลกนี้ไปอย่างสงบในช่วงเช้าตรู่ของเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ไม่เพียงทิ้งไว้ซึ่งบทเพลงมากมายที่เจ้าตัวเรียงร้อยถ้อยคำงดงามราวบทกวี อีกทั้งงานศิลปะนับไม่ถ้วน ทว่า 59 ปีของชีวิต ผู้ชายคนนี้ยังเนรมิตจักรวาลแห่งความรักที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน

หนังสืองานศพของเขาเมื่อ 10 ปีก่อน กลายเป็นวรรณกรรมรวมข้อเขียนของบุคคลสำคัญแห่งยุคสมัย ที่ร่วมไว้อาลัยผ่านบทความกวีนิพนธ์ และภาพถ่ายแห่งความทรงจำ

Advertisement
รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ภาพไม่คุ้นตาของ พิเศษ สังข์สุวรรณ เมื่อเป็นทหารยศร้อยโท

ชีวิตสุดพิเศษของพิเศษ สังข์สุวรรณ

บัณฑิตคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร ข้าราชการกองพันทหารม้า เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. นักแต่งเพลง มือเขียนบท ผู้กำกับ อาชีพเหล่านี้อาจดูไม่เข้ากันสักเท่าไหร่ แต่ในช่วงชีวิตอันแสนพิเศษของเขา ได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ก่อนตกลงปลงใจใช้ชีวิตเป็นคนในแวดวงศิลปะอย่างเต็มตัว ทุ่มเทสุดกำลังในทุกชิ้นงาน ทุกถ้อยคำ ทุกตัวอักษร การันตีด้วยผลงานมากมายที่ได้รางวัลนับไม่ถ้วน

เริ่มเป็นที่รู้จักจากการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์โฆษณารถยนต์ “โตโยต้า โคโรลล่า” ซึ่งได้ใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่โดดเด่นสมเป็นนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ ศรีราชา จากนั้นจึงได้โชว์ฝีมือในเพลงประกอบภาพยนตร์ดังอย่าง “ทองพูน โคกโพธิ์ ราษฎรเต็มขั้น” ซึ่งส่งผลให้เจ้าตัวได้แต่งเพลงประกอบหนังของ “ท่านมุ้ย” หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ต่อมาอีกหลายเรื่อง

คว้ารางวัลประดับชีวประวัติมากมาย อาทิรางวัลพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ปี 2526 จากเรื่อง “มือปืน” ประเภทดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, ปี 2537 จากเรื่อง “เสียดาย” ประเภทเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง “เสียดาย 2” ประเภทดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รางวัลสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (สุพรรณหงส์ทองคำ), ปี 2533 จากเรื่อง “คนเลี้ยงช้าง” ประเภทดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, ปี 2536 จากเรื่อง “มือปืน 2 สาละวิน” ประเภทเพลงนำยอดเยี่ยม

เพลงโฆษณาชุด “ผึ้ง” ของธนาคารกสิกรไทย ยังได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ไม่เพียงเท่านั้น ยังคว้ารางวัลเมขลาจากการเขียนบทและกำกับละครส่งเสริมภาพลักษณ์ตำรวจ เรื่อง “พรุ่งนี้ไปทำงาน ไม่รู้จะได้กลับบ้านหรือเปล่า” ทั้งยังเขียนบทสารคดีหลากหลายเรื่องที่คุ้นหูมาจนทุกวันนี้

ยังไม่นับผลงานที่พิเศษลงแรงเล่นเป็น “นักแสดง” ด้วยตัวเอง อย่างเรื่อง “กล่อง”, เพื่อเพื่อน เพื่อฝัน เพื่อวันเกียรติยศ และ ลองของ เป็นต้น

หากนี่ฟังดูมากมาย อาจต้องแปลกใจที่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง และอาจเป็นส่วนน้อยของงานที่ยังสืบค้นได้ไม่หมด ทั้งยังมีต้นฉบับลายมือจำนวนมากถูกพบหลังการเสียชีวิต

แสดงหนังเรื่อง “เป็ดน้อย” ของอัศวินภาพยนตร์ในพระองค์ชายใหญ่ฯ

โบราณคดีโมเดิร์น บทกวีที่ไม่มีวันตาย

“สมัยก่อนคณะโบราณคดีทำอะไรก็ต้องเป็นไทยๆ ไปหมด (ไม่ใช่ไม่ดี แต่มันก็ซ้ำๆ รูปแบบเดิม) ก็ไอ้เศษนี่แหละเป็นคนแรกที่ทำให้คณะก้าวออกมาจากรูปแบบเดิมๆ”

คือคำบอกเล่าของ สมิทธิ ศิริภัทร์ เพื่อนร่วมรุ่นปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ล่วงลับ

สะท้อนถึงแนวคิดและรูปแบบผลงานของ พิเศษ

ผู้ปลุกกระแส “โมเดิร์นแดนซ์” ในคณะวิชาที่ศึกษาอารยธรรมโบราณตะวันออก นำความเก่าและใหม่เข้าผสมผสาน ปะทะสังสรรค์อย่างลงตัว จากการแต่งเพลงร้องกันในคณะโบราณคดียุคนั้นด้วยการนำทำนองร่วมสมัยใส่เนื้อร้องด้วยถ้อยคำที่มีกลิ่นอายของวรรณคดีได้กลายเป็นหนึ่งในลายเซ็นที่ยากจะมีใครทำสำเนาได้เหมือน โดยในเวลาต่อมาได้ปรากฏอย่างเด่นชัดดังเช่นเพลง “กล่อมเวไนย” ประกอบภาพยนตร์เรื่องมือปืน ที่ยังได้รับการกล่าวขวัญจนถึงทุกวันนี้

“ขอมุกสีทันดร ขอพรพระปิ่นโมฬี

ประดับศอยอดชีวี ประดับศรียอดชีวัน

แต่งตัวให้เด็กน้อย เอารุ้งมาร้อยสายสร้อยเสี้ยวจันทร์

ขอดนตรีที่องค์คนธรรพ์ เล่นเพลงสวรรค์กล่อมให้เจ้านอน”

ต่อคำถามที่ว่า ความสามารถเข้าข่ายอัจฉริยะในวรรณศิลป์เช่นนี้มาจากไหน

พีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษย วิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รุ่นน้องโบราณคดีที่เรียกเขาว่า “พี่ต้า” ทุกคำมองว่า

“เพราะพี่ต้าไม่ได้เรียนเฉพาะในตำรา และเป็นคนมีจินตนาการสูง ลองคิดดูว่าเขาเป็นคนไม่รู้โน้ต แต่กลับสร้างสรรค์งานขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้ สิ่งที่คิดว่าพี่ต้าประสบความสำเร็จมากๆ คือการบริหารจินตนาการของตัวเอง แกเป็นคนพิเศษสมชื่อ เป็นคนมีแนวคิดก้าวหน้ามากในยุคนั้น สนใจงานด้านมานุษยวิทยาแบบที่ไม่ใช่แค่กลุ่มชาติพันธุ์ มีความคิดเชิงวิพากษ์ แม้กระทั่งวิพากษ์ตัวเอง จนมีคนพูดว่า แกเป็นผู้มาก่อนกาล คือเกิดผิดยุคสมัย”

นำเทรนด์โมเดิร์นแดนซ์ในศิลปากร แต่งเพลงคณะโบราณคดีที่ยังร้องกันจนถึงวันนี้ อาทิ แววมยุรา และมาลัยใบจันทน์ ซึ่งใช้รับขวัญน้องปี 1
สามคนกึ่งกลางภาพ จากซ้าย พิเศษ สังข์สุวรรณ และสองกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ครั้งเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี เมื่อพิเศษเสียชีวิต ทั้งคู่เขียนโคลงและกลอนตีพิมพ์ในหนังสืองานศพ สุจิตต์ ไปงานศพทุกวัน

ศิลปินกินเงินเดือนสวรรค์

พันธนาการที่ไม่อาจรัดรึง

ในฐานะรุ่นน้องที่สนิทสนม พีรพนยังเล่าถึงอุปนิสัยส่วนตัวว่าเป็นคนขี้เล่น ขี้อำแบบ “ข้ามปี” ไม่เคยเห็นโกรธใคร จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเป็น “ผู้ถูกรัก” ของคนมากมายไม่จำกัดชนชั้นและวงการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับคือวิถีที่เขาเป็นอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีตามอุดมคติของสังคม ไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัว ก้าวข้ามพันธการต่างๆ ของชีวิต

“สิ่งที่พี่ต้าเป็นอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนัก แต่แกก็พอใจในสิ่งที่มีแกบริการจัดการชีวิตในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยกำหนดกติกาชีวิตตัวเองเลย เราถูกสังคมกำหนด แต่พี่ต้ากำหนดเองโดยไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน ไม่เคยเบียดเบียนใคร พี่ต้าตัดสิ่งที่ผูกมัดตัวเองออกไป และอยู่อย่างสมถะ จนถึงวาระสุดท้าย เวลาไม่มีกินก็ไม่บ่น หิวก็ไม่บอกใคร และดูไม่ออกด้วยว่าแกหิว”

แน่นอนว่า ด้วยความสามารถและ “ไลฟ์สไตล์” เช่นนี้ ย่อมเข้าข่ายแปะป้าย “ศิลปิน” ซึ่งแท้จริงแล้วเจ้าตัวไม่เคยนิยามตัวเองเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังแต่งกลอนสื่อความหมายคล้าย “ติดกับดัก”

ความว่า

“ฉันเป็นศิลปิน ศิลปินคืออะไร คือแมลงบินชนใย แมงมุมร้ายสบายอุรา”

อีกทั้งวลียั่วล้ออันปรากฏบนหน้าปกหนังสืองานศพของตัวเองว่า “ฉันเป็นศิลปินกินเงินเดือนสวรรค์”

แม้มีภาพ “อิสรชน” อย่างเต็มขั้น แต่คนรอบตัวต่างยืนยันว่า พิเศษ มีกรอบและ “วินัย” ของตัวเอง

อิสรกุล คงธนะ รุ่นน้องโบราณคดีอีกรายที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม คือคนที่ดูแล พิเศษ ในช่วงบั้นปลายซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย เปิดเผยว่า ทุกงานที่รับปาก เขาจะทุ่มเทความสามารถทั้งหมดที่มี

“เมื่อไหร่ที่บอกว่า รับงานนี้ เขาจะทำอย่างสุดความสามารถใช้จินตนาการทั้งหมดที่มี การที่เขาไม่ยึดติด ทำให้งานออกมาสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลง หรือการแสดง”

อิสรกุลยังเล่าถึงนิสัยการยอมรับใน “กติกา” อย่างเมื่อครั้งเดินทางไปสิงคโปร์ซึ่งเคร่งครัดเรื่องการ “ถ่มน้ำลาย” พิเศษที่ป่วยหนักต้องถ่มน้ำลายบ่อยครั้งจึงนำถุงพลาสติกห้อยหูตัวเอง ไม่ให้เปรอะเปื้อนลงพื้น

นี่คือหนึ่งในเรื่องเล่าอีกมากมายซึ่งหลายเรื่องได้กลายเป็นตำนานเวอร์ชั่นหลากหลาย ถูกถ่ายทอดต่อไปไม่รู้จบสิ้น เช่นเดียวกับผลงานที่ไม่มีวันตาย จะอีกกี่ปีที่จากไป “ไม่ลืม พิเศษ สังข์สุวรรณ”

(ซ้าย) ไม่รู้โน้ต แต่แต่งเพลงกวาดรางวัลนับไม่ถ้วน-(ขวา) แม้เบนเข็มทำงานด้านศิลปะ แต่ได้รับการยอมรับว่ามีความรู้โบราณคดีรอบด้าน และนำมาปรับใช้อย่างสหวิทยาการตั้งแต่คำนี้ยังไม่แพร่หลาย


ระหว่างวันที่ 1-20 พฤษภาคม 2561 นี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงาน “โลกที่…พิเศษ…สร้าง” โดยจัดฉายภาพยนตร์ การแสดงดนตรี และนิทรรศการจำลองโลกและผลงานของ พิเศษ สังข์สุวรรณ ให้สาธารณชนได้เรียนรู้ถึงศิลปินผู้มากความสามารถที่ผลิตผลงานมากมาย เพื่อรำลึกถึงวาระการจากไปครบ 10 ปี

มีคลิปสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในหลากหลายแวดวง ภาพถ่าย ผลงานต้นฉบับพิมพ์ดีด และลายมือเขียน

ชมฟรีที่หอภาพยนตร์ ศาลายา ดูโปรแกรมกิจกรรมทั้งหมดได้ที่ http://www.fapot.org/th

และในวันเสาร์ที่ 12 พ.ค. เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรตลิ่งชัน มีงานสัมมนาวิชาการและการแสดงดนตรี รวมถึงฉายภาพยนตร์

เปิดงานโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ

เสวนา “พิเศษ สังข์สุวรรณ : เพลง ดนตรี และโบราณคดี”

โดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ศาสตราจารย์สุรพล ดำริห์กุล และสถาพร ขวัญยืน จากนั้น แสดงดนตรีผลงานเพลงพิเศษ สังข์สุวรรณ โดยคณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image