ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวนทอดน่องเกาะสีชัง เยือน ‘พระจุฑาธุชราชฐาน’ หมุนเข็มนาฬิกาส่องการค้าโลกยุคทวารวดี

วนมาอีกครั้งอย่างรวดเร็ว สำหรับรายการ ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว ซึ่งทั้งคู่ไม่ปล่อยให้ฤดูร้อนแสนสดใสผ่านไปด้วยการใช้ชีวิตในห้องแอร์ ศุกร์ 11 พฤษภาคมนี้ 2 เพื่อนซี้แต่วัยหนุ่มจะลงเรือฝ่าคลื่นลมไปพบความตระการตาของ “พระจุฑาธุชราชฐาน” บนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ที่แม้จะถูกสร้างขึ้นมาเนิ่นนานกว่า 1 ศตวรรษ ทว่ายังคงความงดงามไม่แปรเปลี่ยน เนื่องด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียดของการอนุรักษ์โดยการดูแลของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ประกอบขึ้นด้วยประวัติศาสตร์ ความทรงจำ อีกทั้งศิลปสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าซึ่งเดินทางข้ามผ่านกาลเวลามาถึงวันนี้

แห่งเดียวในสยาม
พระราชวังงดงามบนเกาะสีชัง

ทริปนี้ขรรค์ชัยและสุจิตต์มีนัดหมายกับ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ราชสำนักอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ซึ่งจะมาร่วมบอกเล่าเรื่องราวมากมายของพระจุฑาธุชราชฐานอันเป็นพระราชวังบนเกาะแห่งเดียวในประเทศไทย โดยสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2432 เพื่อเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานและพระราชวงศ์ ทว่าต้องสะดุดลงชั่วคราวเนื่องด้วยกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์ รศ.112 ภายหลังจึงโปรดให้รื้อถอนไปสร้างใหม่ที่พระราชวังดุสิตและพระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ” นั่นเอง

ฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ ซึ่งถูกรื้อลงแล้วนำไปสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆในพระราชวังดุสิต

ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ ให้ดูแลโบราณวัตถุสถานในพื้นที่ โดยส่วนหนึ่งมีการจัดตั้งสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกหัดนิสิต ต่อมา ใน พ.ศ.2533 ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ แล้วจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2545 ประกอบด้วยนิทรรศการน่าสนใจให้ชมอย่างเพลินตาทั้งยังสาระหนักแน่น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญบนเกาะสีชังสมัย ร.5 นิทรรศการ

พระราชประวัติและประวัติบุคคลสำคัญผู้มีบทบาทเกี่ยวกับเกาะสีชังในอดีต รวมถึงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัย ร.5 ชวนให้จินตนาการย้อนกลับไปในอดีตด้วยภาพถ่ายเก่าเปี่ยมคุณค่าที่ชี้ให้เห็นถึงการอนุรักษ์ในแต่ละขั้นตอน

Advertisement
เรือนวัฒนา

ร่องรอยกาลเวลาที่เรือนวัฒนา
เรือนผ่องศรี เรือนอภิรมย์

มาถึงเกาะสีชัง ต้องทำความรู้จักกับกลุ่มสถาปัตยกรรมที่สวยงามอ่อนหวาน อย่าง “เรือนวัฒนา” ซึ่งสะดุดตาด้วยโครงสร้างของหลังคาทรงปั้นหยา ทำด้วยไม้สัก มุงกระเบื้องเกล็ดเต่า แผนผังเป็นตึกสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน มีเฉลียงด้านหน้าให้รับลมทะเลแสนชื่นใจ รูปแบบศิลปะเป็นไปตามอย่างอารยธรรมตะวันตกซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น ชื่อของเรือนตั้งตามพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ภายในจัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชังสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ได้ย้อนเวลากลับไปเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว

บนเนินเขา ยังเป็นที่ตั้งของ “เรือนผ่องศรี” ซึ่งได้ชื่อตามพระนามของ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี อาคารนี้ดูแปลกตาด้วยโถงที่มีแผนผังกลม รายล้อมด้วยช่องประตูมากมายถึง 9 ประตู เพดานทำจากไม้ มีช่องระบายอากาศเป็นรูปดอกไม้ มอบกลิ่นไอศิลปกรรมแบบตะวันตกเช่นกัน โดยด้านในนำเสนอเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อเกาะสีชัง

ต่อมาคือ “เรือนอภิรมย์” ตั้งชื่อตามพระนามของ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เป็นอาคารชั้นเดียวแผนผังยาว มี 5 ห้อง ประกอบด้วยครัวไฟ ห้องน้ำ และเฉลียงไม้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ปัจจุบันจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมต่างๆ บนเกาะอันงดงามแห่งนี้

Advertisement

เรือนทั้ง 3 หลัง ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยและพักฟื้น เรียกว่า อาคารอาไศรยสฐาน นั่นเอง

วัดอัษฎางคนิมิตร

วัดอัษฎางคนิมิตร
เมื่อสถาปัตย์ ‘โกธิค’ พบเจดีย์ลังกา

ถัดจากเรือนทั้ง 3 ยังมีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่อาจพลาดในการเยี่ยมเยือนก็คือวัดอัษฎางคนิมิตร ซึ่งเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมโกธิคของยุโรปกับเสน่ห์เอเชียอย่างเจดีย์ทรงลังกา ออกแบบโดยช่างชาวอิตาเลียน

กระจกสีและลวดลายตระการตาประตูหน้าต่างโค้งยอดแหลมในแบบตะวันตก จึงปรากฏตัวอย่างสง่างามเคียงคู่องค์ระฆังและปล้องไฉนซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของหลังคา

สำหรับนามของวัดแห่งนี้ รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ซึ่งทรงประชวรแล้วเสด็จมาประทับรักษาพระวรกายที่เกาะสีชังแห่งนี้

หลักฐานจากราชกิจจานุเบกษาระบุว่า ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม เมื่อ พ.ศ.2435 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จในการพระราชกุศลวิสาขบุรณมี เนื่องในวันวิสาขบูชา โดยทรงเวียนเทียนรอบพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร มีทหารเรือทำเพลงแตรถวาย ข้าราชบริพารก็พากันจัดโคมวิสาขะนำมาแขวนบนเนินที่ตั้งพระอุโบสถอย่างงดงาม

เรือนไม้ริมทะเล

เรือนไม้ริมทะเล และสะพานอัษฎางค์
ขอบฟ้ากว้างขนานท้องทะเล

หนึ่งในภาพจำของนักเดินทางมากมายที่มีต่อเกาะสีชัง ก็คือสะพานไม้ที่ทอดยาวลงสู่ท้องทะเลบริเวณ “แหลมวัง” หน้าเขตพระราชฐาน สะพานแห่งนี้มีชื่อว่า “สะพานอัษฎางค์” ซึ่งมีความเป็นมายาวนานโดยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นโดยมีพระราชดำริว่าที่เกาะสีชังนี้ เวลาน้ำขึ้นลงเป็นที่ลำบาก บางครั้งถูกกาบหอยบาด

สะพานท่าเรือขนาดใหญ่จึงถูกเนรมิตขึ้นด้วยไม้สักทาสีสบายตา ดำเนินการโดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์จ้างลูกจ้างออกมาทำการไม้ ขุนพรหมรักษาเป็นนายด้าน ส่วนการต่อยและขนศิลากับทั้งก่อเสารับสะพานนั้นใช้แรงลูกจ้างบ้าง พวกช่างเกณฑ์บุญบ้าง พระยาสมุทรบุรานุรักษ์เป็นนายด้าน ทำการตามตัวอย่างของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ นายช่างใหญ่

เสร็จสิ้นอย่างว่องไวในเวลาเพียง 30 วัน ปรากฏป้ายชื่อด้วยฟ้อนต์อักษรสุดคลาสสิกว่า “สะพานอัษฎางค์ รัตนโกสินทร์ศก 110”

ครั้นเมื่อกวาดสายตากลับมายังปลายสะพาน เป็นที่ตั้งของเรือนไม้สไตล์ตะวันตกสีเขียวเข้ม ตัดกับท้องฟ้าสีครามและน้ำทะเลใสแจ๋ว สันนิษฐานว่าเป็นเรือนพักชาวต่างชาติ ต่อมาถูกปรับปรุงเป็นเรือนพักของพระราชวงศ์ ทุกวันนี้เปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ให้จิบเครื่องดื่มหย่อนอารมณ์ นั่งชมทะเลและเรือประมงเล็กๆ ที่แวะเวียนมายังเกาะสีชังอย่างไม่ขาดสาย

ภาพมุมมสูงพระจุฑาธุชราชฐาน บนเกาะสีชัง พระราชวังบนเกาะเพียงแห่งเดียวในไทย

ชุมชนคนท้องถิ่นและศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่

แน่นอนว่าบนพื้นที่ราว 8 ตารางกิโลเมตรของเกาะสีชัง ซึ่งตั้งอยู่โดดเด่นบริเวณปากอ่าว อันเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลอ่าวไทย และทะเลหลวงภายนอก ไม่เพียงมีพระราชฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ หากแต่ยังมีชุมชนชาวบ้านที่อยู่อาศัยสืบเนื่องยาวนาน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าโลกในยุคทวารวดีเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว

ทุกวันนี้มีแหล่งหลอมรวมจิตใจคือศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ที่โดดเด่นมาแต่ไกลเมื่อมองมาจากในฝั่งทะเลด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน เป็นที่เคารพสักการะของชาวประมงที่ต้องมาไหว้ขอพรให้ปลอดภัยและหากุ้งหอยปูปลาได้อย่างมากมายไร้อุปสรรค บ้านไม้เก่าแก่ของคนท้องถิ่นยังคงมีให้เห็น แม้อยู่ในสภาพทรุดโทรมแต่มีเค้าลางของความงามในอดีตอย่างเด่นชัด รายล้อมด้วยอาคารพาณิชย์ในยุคหลัง ปะปนกับร้านค้า ร้านอาหาร และรีสอร์ตเก๋ไก๋ที่ผุดขึ้นเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว

นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องราวมากมายอีกทั้งเพลินใจจากการท่องเที่ยวแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันบนพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องร่วมกันขบคิด โดยวิทยากรทั้ง 3 ท่านในทริปทอดน่องเกาะสีชังในครั้งนี้ จะมีความคิด ความเห็น และมุมมองอย่างไร ต้องติดตาม!


 

 

ธงทอง จันทรางศุ

 

รายการ ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “เกาะสีชัง มีพระราชวังสมัย ร.5 บนเส้นทางการค้าโลกยุคทวารวดี” ถ่ายทอดสดจากพระจุฑาธุชราชฐาน ผ่านเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์

ในวันศุกร์ที่ 11 พ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป วิทยากรกิตติมศักดิ์ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

 

ทัศนียภาพชุมชนบนเกาะสีชัง มองเห็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ซึ่งเป็นที่สักการะของชาวบ้าน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image