ครึ่งศตวรรษที่จากไป ไม่ลืม ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ควันหลงรำลึกครบรอบเสียงปืนลั่น ครั้งแรกเปิดตัวหนังสือความคิดแหวกแนว และเพลงใหม่ในอุดมการณ์เดิม

ผ่านไปแล้วสำหรับงานรำลึก จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมในวันครบรอบวันเสียชีวิตคือ วันที่ 5 พ.ค.2509 หรือเมื่อ 52 ปีก่อน โดยถูกยิงที่ชายป่าในบริเวณใกล้กับที่ตั้งอนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ ในบ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร

แน่นอนว่าบรรยากาศในงาน ก็ยังคงคึกคักดังเช่นทุกปี ชาวบ้าน สหาย นักเรียนในท้องที่ทยอยเข้าร่วมตลอดทั้งวัน ทำเอาความเงียบงันในพื้นที่ซึ่งกลายเป็นสวนยางพาราถูกแทนที่ด้วยสุ้มเสียงของการพูดคุย รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ อีกทั้งบทเพลงซึ่งขับขานอย่างกึกก้อง

ยังไม่นับแผงค้าผ้าย้อมคราม สินค้าเลื่องชื่อเมืองสกล และร้านจำหน่ายเสื้อยืดสกรีนรูปจิตร ภูมิศักดิ์ สีแดงสะดุดตาแขวนโชว์ขายได้อารมณ์อีเวนต์ที่ไม่จำเป็นต้องเศร้าโศกแม้เป็นการหวนคิดถึงวันที่ชายผู้นี้จากไป เพราะปัจจุบันและอนาคตทั้งใกล้และไกล ล้วนมีผู้สืบทอดอุดมการณ์ของเขาอย่างเหนียวแน่น

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พร้อมผู้ร่วมทริปตามรอยจิตร ภูมิศักดิ์ ทำบุญให้จิตร ที่วัดประสิทธิ์สังวร บ้านหนองกุง

งานนี้ร่วมมือกันจัดขึ้นโดยหลายภาคส่วนภายใต้ความร่วมมือของท้องถิ่น สถานศึกษา และมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งมี ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นประธาน โดยการมอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนค่ายจิตร ภูมิศักดิ์ พิธีการทั้งหมด เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองอันสลับซับซ้อน ทว่า เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

Advertisement

บทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ถูกขับร้องประสานเสียงโดยเด็กๆ ที่ตั้งแถวเบื้องหน้าประติมากรรมโลหะรูปจิตร ภูมิศักดิ์ ดอกดาวเรืองสีเหลืองสดใส ถูกแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงานนำไปวางที่อนุสาวรีย์ นอกจากนี้ยังมีการร่วมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกคุณงามความดีของจิตร รวมถึง “จินตนา เนียมประดิษฐ์” เพื่อนผู้พิมพ์เผยแพร่ผลงานของเขา จนทำให้ต้องถูกจำคุกในเวลาต่อมา

ในปีนี้ อารยานี เนียมประดิษฐ์ หรือ “ขาว” บุตรสาวคนที่ 4 ของจินตนาเดินทางมาร่วมด้วย โดยจับไมค์กล่าวต่อเยาวชนและคนที่มาร่วมรำลึกว่า ผู้ที่มารวมกันในวันนี้ล้วนแต่มีหัวใจเดียวกัน คือใจที่มีจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้นำ แม่ของตนเป็นเพื่อนร่วมถนนสายเดียวกันกับจิตร ติดคุกมาด้วยกัน มีอุดมการณ์เดียวกันคือต้องการทำให้ประชาชนมีภราดรภาพ อยู่ดีกินดี มีความสุขสมบูรณ์อย่างแท้จริง

จากซ้าย สหายสวรรค์ และอารยานี เนียมประดิษฐ์ บุตรสาวคนที่ 4 ของ “ป้าจินตนา” เพื่อนผู้ตีพิมพ์ผลงานของจิตร

ศ.ดร.ชาญวิทย์ยังกล่าวถึง “พี่จินตนา” รวมถึง “อาจารย์ยิ้ม” รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คนเดือนตุลาผู้ล่วงลับว่า ที่ผ่านมาจะต้องเดินทางมาด้วยกัน แต่ในปีนี้ทั้งคู่ไม่ได้มาด้วย

Advertisement

ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ ก่อนตามมาด้วยเสียงสั่นเครือของเจ้าตัว

“หลายปีที่ผ่านมาเรามาบ้านหนองกุงเพื่อรำลึกถึงจิตร ภูมิศักดิ์ มากันหลายปี จนกระทั่งบริเวณนี้ได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างความบันดาลใจหลายๆ คน ปีนี้พี่จินตนาไม่ได้มากับเรา อ.ดร.สุธาชัยก็ไม่ได้มากับเรา นี่เป็นสัจธรรม เรามาแล้วเราก็ต้องไป คนแต่ละรุ่นมาแล้วก็ผ่านไป คนรุ่นใหม่ก็ก้าวเข้ามาแทนที่ วันนี้เรามารำลึกถึงคนที่จากไป แต่ก็ต้องนึกถึงคนที่จะมาแทนที่ด้วย”

น้ำตาไหลมาคลอเบ้า สร้างความสะเทือนใจในบรรยากาศชั่วครู่ ก่อนที่ตัวแทนนิสิตชั้นปีที่ 1 มรภ.สกลนครจะเอ่ยถ้อยความรำลึกที่เน้นย้ำถึงความเคารพในแนวคิดของนักปฏิวัติผู้นี้ โดยระบุว่า 52 ปีหลังจิตรเสียชีวิต ที่นี่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากคนที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงคนที่รับทราบถึงการต่อสู้ของจิตร ในฐานะเยาวชน ตนขอคารวะดวงวิญญาณด้วยหัวใจ

ดีย์บรรจุอัฐิ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่วัดประสิทธิ์สังวร บ้านหนองกุง ไม่ไกลจากสถานที่ซึ่งจิตรถูกยิงเสียชีวิต

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจคือในปีนี้ เพลงหลักๆ ที่ใช้ในงานเป็นเพลงแต่งใหม่ ใช้ชื่อว่า “จิตรเดียวกัน”

วิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งรับหน้าที่พิธีกรในงานนี้พยักหน้ารับว่าเป็นผู้แต่งเพลงดังกล่าวด้วยตนเอง โดยใช้เวลาเพียง 15 นาที เนื่องจากมีความสนใจและคุ้นเคยกับข้อมูลและเรื่องราวของจิตรอยู่แล้ว จึงพรั่งพรูถ้อยคำออกมาเป็นบทเพลงได้อย่างรวดเร็ว

“จิตรเดียวกัน คนสามัญแห่งยุคสมัย จิตรคนนี้คือใคร จิตรคนนี้คือใคร เขาคือขวัญใจของสามัญชน เขาคือปัญญาชนที่ดั้นด้นมาถึงภูพาน เขาคือปราชญ์บัณฑิตเขียนชีวิตท้าทายเผด็จการ…”

คือท่อนที่เริ่มคุ้นหูมากขึ้นทุกที หลังเริ่มใช้เพลงนี้ราว 2 ปีก่อนมาจนถึงวันนี้

สำหรับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง อ.วิชาญบอกว่า สืบเนื่องมาจากมีการพูดคุยกันว่าอยากให้มีเพลงเกี่ยวกับจิตรที่เป็นของท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงตัดสินใจแต่งขึ้นโดยให้วง “จำปาขาว” เป็นเจ้าของเพลง และใช้ในการบรรเลงขับร้องในงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ โดยใช้เป็นเพลงหลักร่วมกับเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ เอง เช่น แสงดาวแห่งศรัทธา

เจ้าตัวยังบอกว่า พิธีการในงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ที่จัดขึ้นทุกปี มีแนวคิดเสมือนว่าจิตรยังมีตัวตน มีเลือดเนื้อ และเป็นปัญญาชน ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงเน้นความเรียบง่าย นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือ จะต้องอยู่กับเด็กๆ ในพื้นที่ ไม่ทอดทิ้งเยาวชน

ในงานรำลึกครั้งนี้ยังมี สหายสวรรค์ หรือ ชาย พรมวิชัย เข้าร่วมเหมือนทุกปี รวมถึง ปรีดา ข้าวบ่อ ผู้ก่อตั้งนิตยสารทางอีศาน และคนเดือนตุลาจำนวนมากที่จับกลุ่มพูดคุยอย่างออกรส กดชัตเตอร์ถ่ายภาพคู่อนุสรณ์สถานด้วยสมาร์ทโฟนตามยุคสมัย ทว่า ในใจยังฝังแน่นด้วยอุดมการณ์ไม่เปลี่ยน

พักเที่ยง รับประทานอาหารพื้นบ้านร่วมกันบริเวณริม “ชายป่า” ที่มองเห็นจุดเสียงปืนลั่นคร่าชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ไกลกัน ยังเป็นที่ตั้งของบ้านที่จิตรและสหายไปขอข้าวเลี้ยงชีวิต

สหายสวรรค์ ในวัยชรา ยังคงเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลานั้นได้ราวกับเพิ่งผ่านไปเมื่อวาน

สำหรับบรรยากาศในช่วงบ่าย เป็นงานมหรสพคบงันสไตล์ชาวบ้านที่แท้จริง ทั้งการประกวดชิงมงฯ เจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งวงการ “ส้มตำ” โดยวาดลีลาประกอบเพลงฮอตฮิตติดทุกชาร์ตของสถานีอย่าง “เต่างอย” ซึ่งคณะกรรมการสวมมาดคอมเมนเตเตอร์รสชาติและปริมาณ “ปลาร้า” รวมถึงท่วงท่าในการแดนซ์ที่พับเก็บคำว่าขวยเขินไว้ในพจนานุกรมเป็นการชั่วคราว

ยังไม่จบแค่นั้น เพราะในช่วงค่ำ ที่โรงแรมเอ็ม เจ เดอะมาเจสติกในตัวเมือง มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ยังจัดเวทีเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ผลงาน เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส แปลโดย อัญชลี สุสายัณห์ ที่ได้นักวิชาการแถวหน้าของไทยอย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ รับหน้าที่บรรณาธิการ

หนังสือเล่มนี้ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 หลังจากพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2534 และนี่คือการเปิดตัวฉบับพิมพ์ใหม่นี้เป็นครั้งแรก

“เคยมีการพูดคุยกันควรมีการจัดพิมพ์ผลงานของจิตรทั้งหมด แต่เป็นงานใหญ่มาก ใน 100 ปี คนมีมันสมองปราดเปรื่องแบบจิตรจะเกิดขึ้นในไทยนั้นไม่ง่าย อ.เคร็ก ผู้เขียน เป็นเพื่อนเรียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันที่ ม.คอร์แนล เขาสนใจประวัติศาสตร์ไทยมาก เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยช่วงหนึ่งสนใจงานของจิตร คนที่บอกว่า จิตรเกิด 2 ครั้ง ก็คือ อ.เคร็ก คือ เกิดจริงๆ 1 ครั้ง และเกิดในช่วงหลัง 14 ตุลาอีก 1 ครั้ง อ.เคร็กอาจเป็นคนเดียวที่จะทำงานนี้ได้ เพราะไม่ใช่คนไทย จึงมองจากข้างนอก ทำงานภาคสนาม คุยกับคนที่รู้จักจิตร ทั้งที่รักและเกลียด เขาอาจทำให้เราต้องมาศึกษาจิตรใหม่อีกครั้ง” ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าวบนเวที พร้อมแจ้งข่าวดีว่า ล่าสุดได้รับอีเมล์จาก อ.เคร็ก ว่าขณะนี้มีการแปลหนังสือดังกล่าวเป็นภาษาจีนด้วย โดยอยู่ระหว่างตรวจแก้

ปิดท้ายด้วยเซอร์ไพรส์เล็กๆ อันเกิดจาก “สหายไฟ” วรรณ์จีรา กาญจนศูนย์ นายกสโมสร 19 ภริยาอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในผู้ขึ้นเวทีเสวนา ขับร้องเพลง “เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ” ของจิตร ภูมิศักดิ์ แบบสดๆ บนเวทีอย่างสะเทือนอารมณ์ เรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง

สหายไฟยังบอกว่าที่ผ่านมาต้องติดตามสามีไปปฏิบัติงานในต่างแดน โดยขณะนี้เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ตั้งใจว่าจะร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตร ภูมิศักดิ์ ให้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสีสันที่เกิดขึ้นในงานรำลึกบุคคลธรรมดาที่ทำในสิ่งไม่ธรรมดา ไม่เพียงผู้คนไม่ลืมเลือน หากแต่สานต่อแนวคิดและผลงานที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยจวบจนทุกวันนี้


งานรำลึก จิตร ภูมิศักดิ์ 5 พ.ค.61 ที่อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

เพลงจิตรเดียวกัน

โดย วิชาญ ฤทธิธรรม

จิตรเดียวกัน คนสามัญแห่งยุคสมัย

จิตรคนนี้คือใคร (ซ้ำ) เขาคือขวัญใจของสามัญชน

เขาคือปัญญาชนที่ดั้นด้นมาถึงภูพาน เขาคือปราชญ์บัณฑิตเขียนชีวิตท้าทายเผด็จการ

เขาคือวีรชน อุทิศตนเพื่อชนชาวบ้าน

บริสุทธิ์ สง่า กล้าหาญ (ซ้ำ) เขาคือวิญญาณรักความเป็นธรรม

จิตรเดียวกัน คนสามัญแห่งยุคสมัย

จิตรคนนี้คือใคร (ซ้ำ) เขาคือขวัญใจของอนุชน

5 พฤษภา พี่น้องเรามา ณ บ้านหนองกุง 50 ปีพ้นผ่านสืบสานตำนานของคนใจสูง

โอ้…..สหายปรีชา ศรัทธาพราวแสงดาวยังรุ่ง เขาตายชายป่าหนองกุง

เขาตายชายป่าหนองกุง แต่จิตรจะรุ่งอยู่กลางใจคน

จิตรเดียวกัน คนสามัญแห่งยุคสมัย

จิตรประชาธิปไตย (ซ้ำ) เขาคือขวัญใจของเราทุกคน

ขอคารวะจิตร ภูมิศักดิ์ (ซ้ำ)

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นที่รักของเราทุกคน

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นมิ่งมิตรของเยาวชน

วันนี้เรามารวมพล (ซ้ำ) พวกเราทุกคนล้วนจิตรเดียวกัน (ซ้ำ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image