บทเรียน ‘มาเลเซีย’ เมื่อประชาชนอดทนรอ เปลี่ยน ‘ประเทศ’ ด้วย ‘เลือกตั้ง’

มหาธีร์ขณะร่วมชุมนุมต้านรัฐบาลกับกลุ่มเบอร์ซีห์ เมื่อปลายปี 2559 พร้อมมุครีซ มหาธีร์ ลูกชาย และมุห์ยิดดีน ยัสซีน อดีตรองนายกฯ (เอเอฟพี)

ผลจากการเลือกตั้งมาเลเซียและชะตากรรมพลิกผันที่เกิดขึ้นกับ “นาจิบ ราซัค” อาจทำให้ผู้นำหลายประเทศเห็นว่าอะไรที่คิดว่าแน่นอนก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นตลอดไป

เมื่อพรรคฝ่ายค้านนำโดย “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” กลับมาคว้าชัยในการเลือกตั้งด้วยวัย 92 ปี ปิดฉากการปกครองประเทศของพรรคแนวร่วมรัฐบาล กลุ่มบาริซาน เนชั่นแนล (บีเอ็น) ที่มีมากว่า 6 ทศวรรษ

บทสรุปจากการลงคะแนนเสียงได้พลิกทุกความคาดหมายของสำนักวิเคราะห์ต่างๆ เพราะกระทั่งช่วงที่มีข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตและมีผู้ออกมาประท้วงจำนวนมากยังไม่สามารถเขย่าเก้าอี้นายกฯนาจิบได้

จนรัฐบาลนาจิบชิงประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพรรคร่วมรัฐบาล โดยช่วงก่อนวันเลือกตั้งที่ฝ่ายรัฐบาลใช้หลายกลยุทธ์สร้างปัจจัยให้การเลือกตั้งไม่เอื้อต่อฝ่ายตรงข้าม ทำให้ไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคฝ่ายค้านจะมีความหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้

Advertisement

เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาลที่ไม่คาดหมายว่าจะเสียฐานเสียงในกลุ่มที่เคยสนับสนุนตัวเอง

ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “เลือกตั้งมาเลเซีย: ทำไม ดร.มหาธีร์ จึงชนะเลือกตั้ง กับอนาคตที่ประชาชนเลือกเองได้”

เพื่อตั้งคำถามและหาคำตอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Advertisement
มหาธีร์เริ่มตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการวันแรกด้วยการต้อนรับสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านแห่งบรูไน (เอเอฟพี)

ฐานเสียง ‘ภูมิบุตร’ หนุนความมั่นใจนาจิบ

ความเชื่อมั่นว่านาจิบจะไม่แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพราะคิดว่ายังรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เล่าประสบการณ์ราว 2 ปีก่อนที่ไปมาเลเซียช่วงที่ผู้คนรณรงค์ต่อต้านนาจิบ ราซัค เรื่องคอร์รัปชั่น แต่คนทั่วไปเห็นตรงกันว่าไม่มีทางจะโค่นนาจิบลงได้

“ผมได้พบนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียง ชื่อซูนาร์ (Zunar) ใช้การ์ตูนล้อเลียนเรื่องคอร์รัปชั่นของนาจิบและถูกสั่งห้ามออกนอกประเทศซึ่งการต่อต้านรัฐบาลมีความผิดรุนแรงมาก และซูนาร์กำลังถูกดำเนินคดี หากถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจถูกจำคุกรวมถึง 40 ปี ผมได้ไปดูกลุ่มเบอร์ซีห์เดินขบวน ผู้ประท้วงเรียกร้องให้นายกฯลาออกแล้วเลือกตั้งใหม่ โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ 1.ขอเลือกตั้งที่สะอาด 2.รัฐบาลสะอาด ไม่โกง แต่ไม่ได้ใช้คำว่าคนดี 3.สร้างประชาธิปไตยโดยรัฐสภาให้เข้มแข็ง 4.ให้สิทธิเห็นต่าง 5.ให้อำนาจต่อรองรัฐชายขอบอย่างซาบาห์และซาราวัก

“ทุกคนเชื่อว่าหากยุบสภา นาจิบคงชนะกลับมาได้วันยังค่ำ เพราะฐานเสียงคือคนมลายูที่เรียกว่ากลุ่มภูมิบุตรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนฝ่ายต่อต้านที่เดินขบวนคือคนเชื้อสายจีนและอินเดียในมาเลเซีย ถ้ากลุ่มภูมิบุตรที่มีมากกว่าไม่เปลี่ยนใจ เสียงค้านของคนจีนและอินเดียก็น้อยกว่าวันยังค่ำ” ดร.ชาญวิทย์กล่าว

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชัยวัฒน์ มีสันฐาน, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ และอัครพงษ์ ค่ำคูณ ดำเนินรายการ
ภาพการ์ตูนเสียดสีการเมือง โดยซูนาร์ ซึ่งเขียนถึงกรณีทุจริตกองทุนวันเอ็มดีบีอย่างต่อเนื่อง

ประเมิน ‘ความกล้าเสี่ยง’ ของประชาชนพลาด

“เลือกตั้งรอบนี้หักทุกสถาบันวิเคราะห์กระทั่งในมาเลเซียเอง”

ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกพร้อมรอยยิ้ม และยอมรับว่าเขาเองก็คาดไม่ถึง

ดร.ชัยวัฒน์มองย้อนไปตั้งแต่ปี 2558 ตั้งแต่มีข่าวทุจริตเงินกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย หรือวันเอ็มดีบี มีการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ แล้วไม่มีคำอธิบาย แต่แม้ในช่วงรุนแรงสุดที่มีคนพยายามออกมาต่อต้านก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาเลเซียให้อำนาจนายกฯมาก โดยพื้นฐานแนวคิดที่ว่า “นายกฯเป็นคนดี” จึงสามารถจัดการกิจการต่างๆ ในรัฐได้ และเผยว่ามีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงได้ คือ 1.การเลือกตั้ง 2.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้น เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายรัฐบาล ใครแย้งขึ้นมาก็จะถูกปลดออก 3.อำนาจสมเด็จพระราชาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ แต่มาเลเซียเปลี่ยนสมเด็จพระราชาธิบดีทุก 5 ปี ทำให้ไม่มีการแทรกแซงการเมืองนัก

ทางเดียวที่จะเปลี่ยนได้คือการเลือกตั้ง

“เราประเมินความกล้าเสี่ยงของคนมาเลเซียน้อยเกินไป กระทั่งแกนนำพรรคฝ่ายค้านเองยังคิดว่าอาจชนะสูสี ไม่คิดว่าเยอะขนาดนี้”

ดร.ชัยวัฒน์มองว่า เหตุที่นาจิบจะถูกสั่นคลอนได้ยากมี 2 ประการ

1.คนมาเลเซียหรือภูมิบุตรที่เป็นคนส่วนใหญ่ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐซาบาห์ ซาราวัก และคนเชื้อสายสยามยังยึดติดผลประโยชน์ที่ได้จากพรรคอัมโน จึงไม่น่าเสี่ยงเลือกพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคดี

เอพีซึ่งมีนโยบายไม่เอาภูมิบุตร 2.สรรพกำลังที่นาจิบมีต่อการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงทะเบียนยืนยันสิทธิล่วงหน้า ส่วนใหญ่จึงลงทะเบียนที่บ้านเกิด แต่นาจิบจัดให้มีเลือกตั้งวันพุธซึ่งเป็นวันทำงาน ขัดขวางผู้มาใช้สิทธิ ผู้จัดการเลือกตั้งทั้งหมดก็เป็นคนของรัฐบาล

อีกทั้งประกาศวันเลือกตั้งกระชั้นชิด ฝ่ายค้านมีเวลาหาเสียงน้อยมาก จะหาเสียงนอกพื้นที่ก็ต้องทำเรื่องแจ้งล่วงหน้าหลายวัน รวมถึงมีการอนุมัติกฎหมายข่าวลวงก่อนเลือกตั้ง ป้องกันการวิจารณ์เรื่องทุจริตวันเอ็มดีบี ที่ศาลยังไม่ตัดสิน

“นาจิบจึงไม่คิดว่าตัวเองจะแพ้ เพราะไม่มีแผนสองใดๆ ทั้งสิ้น” ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

“เขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แม้ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่การอยู่ของนาจิบเป็นสิ่งที่คนมาเลเซียรับไม่ได้ จึงใช้โอกาสที่มีอยู่ครั้งเดียว 1 วินาทีในการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลง”

ส่วนอนาคตข้างหน้า มหาธีร์มีนโยบายว่าจะทำให้มาเลเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยมีวิสัยทัศน์ 2020 มุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

“แม้มาเลเซียมีอุปสรรรค แต่ประชาชนยังเลือกเดินบนเป้าหมาย ทำให้เห็นว่าการเดินตามกติกา รอจังหวะที่ดี สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และประชาธิปไตย 1 วินาทีที่หลายคนดูถูกสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง” ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

นาจิบ ราซัค ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุน โชว์นิ้วเปื้อนหมึกหลังลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 9 พ.ค. ที่แนวร่วมรัฐบาลของเขาพ่ายแพ้ (เอเอฟพี)

ยุคโซเชียล บิดเบือนข่าวแบบเก่าไม่ได้

อีกความเห็นจากนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ มองว่า มหาธีร์ชนะได้ด้วยคำว่า “เบื่อ”

“ก่อนเลือกตั้ง เวลาสื่อสัมภาษณ์เรื่องการเมืองคนทั่วไปไม่กล้าตอบ แต่ส่วนใหญ่จะพูดว่า ‘เบื่อ’ ซึ่งเป็นคำกลางๆ ที่ห้ามประมาท คำว่าเบื่อทำให้การเมืองพลิกมาหลายครั้งหลายที่แล้ว”

ความเบื่อที่ว่านี้เป็นเรื่องเหตุผลบวกกับอารมณ์ เบื่อจากที่เศรษฐกิจไม่ดี นาจิบอยู่มานานแล้ว แผนพัฒนาไม่คืบหน้าก็มีเรื่องทุจริตอีก

“มหาธีร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอัมโน จนออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะลูกชายโดนนาจิบปลด เลยคิดว่านาจิบคงไม่ไหวแล้ว เมื่อที่ปรึกษาก็เบื่อด้วย ความเบื่อนี้ก็ขยายวงมาก”

ชัยชนะไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว เพราะสะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่กลุ่มเบอร์ซีห์นัดชุมนุมหลายครั้ง และพรรคฝ่ายค้านก็ค่อยๆ สะสมคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนหน้า

“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันช้า เรารู้สึกมีส่วนร่วมกับชัยชนะของประชาชนชาวมาเลเซีย เพราะเขาใช้เส้นทางประชาธิปไตย แต่มันช่างช้าเหลือเกิน”

ส่วนการใช้สื่อในการเลือกตั้ง รศ.ดร.อุบลรัตน์บอกว่า พรรคอัมโนทุ่มเงินและยุทธศาสตร์ลงไปกับโซเชียลมีเดียมาก แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้

นักวิจัยบางคนมองว่าโซเชียลมีเดียจะมีประสิทธิภาพมากหากใช้ร่วมกับการรณรงค์เลือกตั้งแบบเดิมอย่างการปราศรัย

“เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประชากรมาเลเซียเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 77% โดยใช้มือถือ 90% และส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊กกับวอตส์แอพพ์ และโซเชียลมีเดียสำคัญมากขึ้นเมื่อรัฐคุมเข้มกับเสรีภาพสื่อ ล่าสุดก่อนเลือกตั้งเพิ่งออก พ.ร.บ.ข่าวลวง ป้องกันการวิจารณ์วันเอ็มดีบี มีโทษทั้งจำและปรับที่สูง จากเดิมที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เอาคนเข้าคุกจำนวนมาก สื่อเอกชนถูกรัฐคุม กิจการโทรทัศน์ก็มีรัฐเป็นเจ้าของ จนฝ่ายค้านแทบไม่มีพื้นที่หาเสียงในสื่อกระแสหลัก

“ในทางกลับ รัฐบาลก็ส่งข่าวลวงให้ประชาชนได้ข้อมูลผิดพลาด จ้างบริษัทสื่อรณรงค์เลือกตั้งด้วยเงินจำนวนมาก ฝ่ายประชาชนก็มีเครือข่ายทางโซเชียลมีเดียระดมคนออกไปเลือกตั้ง หาข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็นกัน พอรัฐบาลส่งข่าวลวงมาก็ตรวจสอบข่าวได้ ไม่ได้รับข่าวทางเดียว ประชาชนจึงได้ข่าวสารจากทั้งสองฝ่าย”

รศ.ดร.อุบลรัตน์เล่าว่า ในการปราศรัยคืนสุดท้าย นาจิบสัญญาเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้สนับสนุนทางโทรทัศน์ ส่วนมหาธีร์ใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ที่แม้สัญญาณจะขาดๆ หายๆ แต่ก็มีผู้ติดตามชมจำนวนมาก น่าสังเกตว่านาจิบที่อายุน้อยกว่ากลับเลือกใช้ทีวีที่เป็นสื่อเก่า แต่มหาธีร์ที่อายุมากใช้เฟซบุ๊กไลฟ์สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ดี

สุดท้ายแล้ว รศ.ดร.อุบลรัตน์มองว่า โลกออฟไลน์และออนไลน์ต้องไปด้วยกัน หากรณรงค์ถกเถียงกันอยู่ในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ออกไปเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย

ผู้สนับสนุนมหาธีร์แสดงความดีใจหลังทราบผลการเลือกตั้ง (เอเอฟพี)

เอาแบบไหน ต้องให้ประชาชนตัดสินใจ

“การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนเป็นพระเอกและนางเอกตัวจริง กระทั่งเซียนวิเคราะห์ก็ตามประชาชนไม่ทัน”

ปรางทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยและผู้สื่อข่าวอิสระที่ได้ร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งมาเลเซีย สะท้อนว่าสิ่งหนึ่งที่การเลือกตั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์มาเลเซีย เพราะนับแต่การก่อตั้งประเทศ ชาวมาเลเซียมีประเด็นคาใจเรื่องความแตกแยกทางเชื้อชาติ

“ปัญหาคาใจที่กระเทือนความรู้สึกของประชาชนเรื่องความมั่นคงทางอัตลักษณ์ กลุ่มภูมิบุตรถูกแบ่งแยกจากกลุ่มอื่นด้วยการเมือง พรรคอัมโนใช้นโยบายเรื่องนี้มาตลอด เป็นอุดมการณ์ที่ไม่เวิร์กอีกแล้ว จนเกิดสึนามิมลายูพัดไปโดยที่ไม่มีใครคาดฝัน”

พรรคอัมโนเริ่มหาเสียงตั้งแต่ช่วง 1 ปีก่อนเลือกตั้ง โดยประกาศทุ่มงบปี 2561 ให้แก่ภูมิบุตร โดยมีกลุ่มคนที่รัฐบาลให้ย้ายไปเขตปฏิรูปที่ดินและกลุ่มทหารเกษียณอายุได้งบเป็นพิเศษ เป็นการหาเสียงล่วงหน้า

“รัฐบาลแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในอาทิตย์สุดท้ายก่อนยุบสภา คนจึงคิดว่าอัมโนชนะแน่ ยกเว้นคนมาเลเซียจะย้ายค่ายครั้งใหญ่ เสียงเงียบของประชาชนมีผลมาก มาเลเซียที่คนทั่วไปดูถูกว่าไม่มีประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งนี้คนจึงตื่นเต้นทั่วภูมิภาค”

ปรางทิพย์ชี้ว่า สถาบันพรรคการเมืองมาเลเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการสะดุดตลอด 62 ปี มีดีร้าย แต่ยังอยู่ในกรอบ ในกระบวนการ แต่ละพรรคพัฒนาบุคลิกอุดมการณ์ฐานเสียงของตัวเองชัดเจน จนแพ้ชนะชัดเจน

“นักการเมืองมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง วันนี้ทำดี อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ประชาชนมาเลเซียเองก็เปลี่ยนแปลงมาก จาก 20 ปีที่แล้วที่ไม่ค่อยมีใครอยากคุยเรื่องการเมือง แต่มาวันนี้พูดไม่หยุด สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนติดอาวุธทางความคิดได้ นอกจากโซเชียลมีเดียก็คือสื่อมวลชน เมื่อสื่อเก่าถูกอัมโนคุมโดยกฎหมาย คนก็หันไปหาสื่อออนไลน์” ปรางทิพย์กล่าว

ก้าวแรกในความเปลี่ยนแปลงของมาเลเซีย สะท้อนให้เห็นพลังการใช้อำนาจตัดสินใจของประชาชน

ในอนาคตข้างหน้า หากสิ่งที่ประชาชนเลือกจะดีร้ายอย่างไร ประชาธิปไตย 1 วินาทีจากการกาบัตรเลือกตั้งก็ยังเป็นทางออกให้เสมอ ถ้าสังคมรู้จักเคารพกติกา

อันวาร์ อิบราฮิม ได้รับการปล่อยตัวหลังมีการอภัยโทษ ตามคำสัญญาที่มหาธีร์ให้ไว้และหวังผลักดันให้อันวาร์เป็นผู้นำใน 2 ปีข้างหน้า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image