ทำไมต้องอ่าน? ‘อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ’ ขรรค์ชัย สุจิตต์ ประภัสสร์ ลัดคลองบางหลวง สำรวจชุมชนต้นกรุงเก่าที่เราหลงลืม

ท่ามกลางกระแสออเจ้าที่เพิ่งสร่างซาลงไปแม้จะยังมีการฉายรีรันอีกทั้งตามมาติดๆ ด้วยละครย้อนยุคอย่างหนึ่งด้าวฟ้าเดียว แต่ก็ดูเหมือนดีกรีจะดรอปลงไปหลายระดับ

ประเด็นสืบเนื่องที่พูดกันแทบทุกวงเสวนา คือทำอย่างไรให้กระแสที่ว่านี้อยู่ยั่งยืนยง ไม่เป็นเพียงไฟไหม้ฟางที่โชติช่วงชัชวาลย์วับวาวเอาวูบเดียว หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจคือต้องกระทำการเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ให้เคียงคู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ตัดขาดอดีตจากปัจจุบัน ไม่แยกปัจจุบันจากอนาคต

เช่นเดียวกับรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ที่ไม่เคยจับแยกยุคสมัยให้ขาดตอน หากแต่มองห้วงเวลาทั้ง 3 อย่างสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านมุมมองของ (อดีต) 2 กุมารสยามเป็นประจำเดือนละครั้ง ดังเช่นในตอน “ชุมชนเมือง ยุคต้นอยุธยา 500 ปีที่กรุงเทพฯ คลองบางหลวง” เมื่อไม่นานมานี้ที่ทั้งคู่นัดหมายออกไปสำรวจชุมชนโบราณ โดยเช็กอินที่ “วัดกำแพงบางจาก” พร้อมด้วย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เจ้าของฉายา “อาจารย์โบราณคดีเดินเท้า 2 ปี” ที่ได้มาเมื่อครั้งเผยแพร่ผลงาน “วัดร้างในบางกอก” เมื่อปี 2559

หลังโซเชียลฮือฮาในความอินดี้อย่างมีจุดมุ่งหมาย กระทั่งพบวัดร้างมากมายจนรวมเล่มเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กออกมาได้ แถมยังพิมพ์อย่างไวถึง 2 หน ล่าสุด เจ้าตัวทำคลอดหนังสือเล่มใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้เล่มแรก อย่าง “อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ” ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชนออกปากชมไม่หยุดระหว่างถ่ายทอดสดรายการดังกล่าว โดยย้อนเล่าถึงอดีตแสนหวานอันระคนไปด้วยความสะพรึงนิดๆ พอให้ขนลุกเบาๆ กับเรื่องราวครั้งวัยหนุ่ม

Advertisement
ย่านคลองบางหลวง บริเวณหน้าวัดคูหาสวรรค์ มองเห็นวัดกำแพงบางจากและเจดีย์วัดปากน้ำ รายล้อมด้วยบ้านเรือนและตึกสูงเป็นฉากหลัง

สามเกลอ ‘เจอผี’ หนีเที่ยววัด

“สมัยผมเรียนวัดนวลนรดิศห้องเดียวกับคุณขรรค์ชัย อยู่ห้องติดกันกับคุณเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รวม 3 คน ใครเป็นหัวโจกไม่ทราบ แต่ผมเป็นผู้ตาม เพราะไม่ใช่คนย่านนี้ แต่อีก 2 คนเขาเป็นคนแถวนี้ ก็พาผมหนีโรงเรียน บอกมาเที่ยววัดกำแพง ผ่านวัดทองศาลางามเข้ามา ไม่มีบ้านคนสักหลังเดียว มีแต่ต้นไม้ ต้นหญ้า เป็นป่ารกไปหมด แต่จำอะไรไม่ได้เลย จนกระทั่งมาอ่านหนังสือของอาจารย์ประภัสสร์ 2 เล่ม คือวัดร้างในบางกอก และอยุธยาในย่านกรุงเทพฯ” สุจิตต์เกริ่น ก่อนโดนเสียงเรือหางยาวเจ้าถิ่นริมคลองบางหลวงข่มโดยไม่เจตนา เลยหยุดชั่วขณะหันไปยิ้มหวานให้นักท่องเที่ยวในเรือที่โบกไม้โบกมือให้กล้อง “มติชนทีวี” ที่กำลังถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์”

จากนั้นจึงเล่าต่อไปถึงความประทับใจที่มีต่อหนังสือทั้ง 2 เล่มที่ฉายภาพ “ซ้อนทับ” ของอดีตกับปัจจุบัน และชวนให้วาดฝันถึงอนาคตอย่างมีรากเหง้า

“วัดร้างในบางกอก มันส์มาก อร่อย ขายดี พิมพ์แล้ว 2 ครั้ง ผมชอบไอเดียการออกแบบปกมาก ถ้าผมมีตังค์เท่าคุณขรรค์ชัย จะให้รางวัลเขา แต่ไม่มีเท่า เลยไม่ได้ให้ (หัวเราะ) พอมาเจอเล่มอยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ยิ่งไปกันใหญ่ อ่านแล้วติด วางไม่ลง เสียเวลาทำงานอย่างอื่นหมดเลย แค่ปกก็ยอดเยี่ยมกระเทียมดอง ท่ามกลางตึกสูงของกรุงเทพฯ เขาเอาพระปรางค์มาใส่เฉยเลย เจ๋ง !”

Advertisement
เจ้าของร้านกาแฟในตลาดน้ำคลองบางหลวงขอถ่ายภาพ เผยเป็น ‘แฟนคลับ’ บ่นเสียดายลืมหยิบหนังสือของขรรค์ชัย-สุจิตต์จากบ้านมาให้เซ็น

สานต่อ น. ณ ปากน้ำ
เชื่อ ‘สมบูรณ์ที่สุดใน พ.ศ.นี้’

สุจิตต์บอกอีกว่า “อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ” เป็นงานสำรวจวิจัยทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลปะในย่านกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมดที่ตนเชื่อว่าอาจสมบูรณ์ที่สุดในยุคนี้ เนื้อหาด้านในล้วนสำคัญอย่างยิ่ง สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศควรทำความเข้าใจให้ดี เพราะมีความกี่ยวพันกับการเกิดขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์โดยตรง ควรซื้อหาเก็บไว้เป็น “คัมภีร์”

“หลักฐานก่อนกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ในเล่มนี้หมด ไปหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เป็นงานที่คิดว่าสมบูรณ์มาก และอาจสมบูรณ์ที่สุดใน พ.ศ.นี้ ไม่มีใครทำได้เท่านี้อีกแล้ว งานสำรวจแบบนี้เคยมีคนทำคือ 1.อาจารย์มานิต วัลลิโภดม 2.อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ 3.น. ณ ปากน้ำ หรือ อาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ 4.อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม 3 คนแรกถึงแก่กรรมหมดแล้ว ประภัสสร์ เป็นคนที่ทำงานต่อยอดจากอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้สมบูรณ์ที่สุดในยุคนี้ โดยขยายขอบเขตจากงานของท่านและลงลึกในรายละเอียด ผู้ที่สนใจเรื่องแบบนี้ต้องซื้อเก็บไว้”

เล่นใหญ่ให้คะแนนสูงขนาดนี้ “เอกภัทร์ เชิดธรรมธร” ผู้ดำเนินรายการออกปากแซวว่า อาจารย์ประภัสสร์ยืนเขินม้วนแล้ว

สุจิตต์ยังมองว่าหนังสือแบบนี้ ไม่ใช่แนว “ตลาดจ๋า” ที่ขายได้ถล่มทลาย การลงทุนจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “มติชน” จึงเป็น “เรื่องของใจ” “นักวิชาการ ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่ทำงาน นอนทอดหุ่ยอยู่เฉยๆ ที่เรียกว่าพวกหอคอยงาช้าง ในขณะที่อาจารย์ประภัสสร์ทำงานโดยมีศรัทธาเป็นพลัง ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีทางทำได้ เขาไม่มีรถยนต์ส่วนตัว รถประจำตัวคือรถเมล์ บขส. ขสมก. ชำนาญมาก หลับตาบอกได้หมด ข้อสำคัญคือเดินโคตรๆ เดินจนพลังงานน้ำมันหมูหมดตัว (หัวเราะ)”

อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ผลงาน ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ออกแบบปกโดย นักรบ มูลมานัส

ตั้งแต่เกิดจนตาย ‘ไม่พ้นวัด’

จากนั้นเข้าสู่โหมดยุทธวิธีศึกษา “ประวัติศาสตร์สังคม” กันสักนิด สุจิตต์บอกว่า หลายคนบ่น “เอะอะก็วัดๆๆ” ไม้ยมกหลายตัว ทั้งที่จริงๆ แล้ว หากจะศึกษาประวัติศาสตร์สังคมไทยต้องศึกษาจากวัด

“เชื่อเถอะครับ ตั้งแต่เกิดจนตายไม่มีวันพ้นวัดหรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ไม่เข้าวัดก็เจ๊งตั้งแต่แรก คุณจะเลื่อมใสศาสนาผีก็ตามใจ แต่ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์ต้องมาวัด เพราะเป็นศูนย์กลางชุมชน อาคารทำด้วยอิฐ จึงเหลือซากซึ่งคือหัวใจที่ชี้อะไรได้หลายอย่าง สังคมอุษาคเนย์ บ้านเรือนทำด้วยไม้โดยเฉพาะเรือนไพร่ แม้กระทั่งเรือนรับราชทูตยุคพระนารายณ์ก็ปลูกด้วยไม้ไผ่ ฝนตกฟ้าร้อง ไม่กี่ปีก็ผุ ปลวก มอดขึ้นหมด ไม่เหลือซาก”

เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ย่านคลองบางหลวงที่หลงเหลือหลักฐานด้านศิลปกรรมอยุธยามากมาย อาทิ พระพุทธรูปสำริดปางสมาธิขนาดใหญ่เดิมอยู่ที่วัดศาลาสี่หน้า หรือวัดคูหาสวรรค์ ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สะท้อนว่าย่านนี้ต้องเป็นชุมชนระดับเมืองใหญ่ มีเจ้านายปกครองดูแลมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ราว 500 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย นี่คือย่านเก่าสุดของกรุงเทพฯ ส่วนร่องรอยจากวรรณคดียุคอยุธยาคือ “กำสรวลสมุทร” ก็กล่าวถึงย่านที่ต่อเนื่องกัน ได้แก่ บางจาก บางระมาด และบางเชือกหนัง ว่าเป็นย่านที่มีข้าวของขายมากมาย

ถ่ายทอดสดรายการ ‘ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วย บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรมช่วยถือแผนที่

เมืองหลวงใหม่ซ้อนทับ
เสน่ห์อยุธยาในกรุงเทพฯ

ถึงคิว “ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร” อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ” ที่ถูกชมกันซึ่งหน้า ก่อนจะกระทำการถ่อมตนตามสไตล์ว่าตนยังศึกษาไม่ลึกซึ้ง อยากให้มีคนมาทำงานต่อยอดไปอีก จากนั้นก็พา “เดินเท้า” สมฉายา พร้อมเล่าว่า ย่านนี้มีความสำคัญมาก ปราฏหลักฐานศิลปกรรมยุคกรุงศรีอยุธยาหนาแน่นผิดปกติ ย่านคลองบางหลวงมีจุดเชื่อมต่อคือ “คลองบางจาก” เข้าไปข้างใน ถือเป็นพื้นที่ “ชุมทาง” ซึ่งสำคัญมากในอดีตเพราะสามารถเชื่อมต่อการไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้หลายเส้นทาง จึงมีชุมชนขนาดใหญ่กว่าปกติตั้งอยู่นั่นเอง

“ย่านนี้มีวัดเรียงชิดติดกันจำนวนมาก ทั้งวัดคูหาสวรรค์ วัดโบสถ์อินทรสารเพชร วัดร้างสุวรรณคีรี วัดกำแพงบางจาก และวัดทองศาลางาม ซึ่งยังมีโบสถ์อยุธยาตอนปลายอยู่ หลักฐานศิลปกรรมอยุธยาในกรุงเทพฯอาจนิยามยากนิดหนึ่ง เพราะถูกเมืองหลวงใหม่ซ้อนทับอยู่ มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยหลังเยอะมาก”

อย่างไรก็ตาม การผสมผสานของศิลปะต่างยุคอยู่ในสถาปัตยกรรมแห่งเดียว ไม่ใช่ความเละเทะ สับสนปนเป หากแต่เป็น “สเน่ห์” ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะท่านนี้

“เสน่ห์ศิลปะอยุธยาในกรุงเทพฯ คือการมีเค้าโครงที่เห็นเป็นงานสมัยอยุธยา แต่งานประดับในรายละเอียดถูกเปลี่ยนแปลง เป็นงานยุคกรุงเทพฯ ซึ่งเจอแบบนี้หลายแห่ง”

อาจารย์ประภัสสร์ยังชี้ชวนให้ชมอุโบสถวัดกำแพงบางจาก พร้อมอธิบายว่า นี่เป็นอาคารแบบไทยประเพณี คือมีเครื่องไม้ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ก่ออิฐ ผนังสูง สอบขึ้นไป ด้านหลังและหลังมีมุขโถง คือมีเสารองรับชายคา เสาเหลี่ยมย่อมุม มีบัวหัวเสากลีบยาว หรือ “บัวแวง” ซึ่งนิยมสร้างในยุคอยุธยาตอนปลาย

ส่วนหน้าบันเดิมสลักไม้ถูกเปลี่ยนเป็นลายดอกไม้ประดับกระจกสีแบบ ร.3 ทำให้ทราบว่า อ๋อ แม้อาคารนี้จะมีเค้าอยุธยา แต่ถูกซ่อมครั้งใหญ่ช่วง 3 หรือ 4 ซึ่งสอดรับประวัติ มีประวัติว่ามีการบูรณะโดยพระยาต้นตระกูล “พิศาลยบุตร” ซึ่งบรรพบุรุษเป็นคหบดีชาวจีน

สำหรับวิหารน้อยขนาบข้างถูกสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการตกแต่งด้วย “ลายเทศ” ที่นิยมสมัย ร.3 ภายในวิหารด้านทิศใต้ เพิ่งค้นพบพระพุทธรูปยุครัตนโกสินทร์หลังวิหารถูกปิดตายมานาน

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ชมจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดกำแพงบางจาก

เลาะคลอง ‘มองอนาคต’
กับขรรค์ชัย บุนปาน

ปิดท้ายทริปนี้ด้วยข้อคิดดีๆ จาก “ขรรค์ชัย บุนปาน” หัวเรือใหญ่ “มติชน” ซึ่งนั่งรับลมริมคลองแล้วย้อนอดีตให้ฟังว่า ตนคุ้นเคยกับย่านคลองบางหลวงเป็นอย่างดี ในสมัยยังเป็นนักเรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ได้ชักชวนสุจิตต์เดินเท้าจากโรงเรียนมาเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีบ้านอยู่แถวนี้ บรรยากาศในยุคนั้นรายล้อมด้วยเรือกสวนอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อเดินผ่านยังขอผลไม้ชาวบ้าน “กินฟรี” เป็นประจำ สำหรับคลองบางหลวงสมัยก่อนใสสะอาดกว่านี้ สภาพชุมชนริมคลองมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สรรพสิ่งต่างๆ ย่อมต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

“ไม่ได้มาที่วัดกำแพงบางจากนานเป็นสิบปีแล้ว สมัยก่อนเดินมาตามทางสวน วันนี้นั่งรถมา เกือบเข้าไม่ถูก ตอนนี้แถบวัดมีการจัดตลาดน้ำคลองบางหลวง ซึ่งเป็นเรื่องดี ชาวบ้านได้มีอาชีพ มีคนมาคนเที่ยว การบริหารจัดการถ้าทำพื้นที่ให้สะอาด แม่น้ำลำคลองขอให้ภาครัฐดูแลเก็บขยะสม่ำเสมอ”

นี่คือเรื่องราวจากความทรงจำและมุมมองของวิทยาการทั้ง 3 ท่าน ที่ยืนยันถึงการไม่อาจตัดขาดของห้วงเวลาต่างๆ ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

จากซ้าย ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ, เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกร และ ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ที่วัดกำแพงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image