ทัวร์..ออกพระเพทราชา ‘ฮีโร่’ แห่งกรุงศรีฯ เยือน ‘นิวาสเดิม-วัดทรงผนวช’ กับตำนาน ‘ชายนอนหลับ-กุฏิทองคำ’

วัดกฎีทอง

กล่าวกันตามพระราชพงศาวดาร ประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางค่อนไปทางปลาย ค่อนข้างคึกคักและมีสีสัน ด้วยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดสยามประเทศต้อนรับนานาอารยประเทศ

โดยมี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน สมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นตัวจักรสำคัญ และเป็นสะพานนำพาประเทศสยามไปรู้จักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อสานสัมพันธ์กับฝรั่งเศส

ฟอลคอนมีนโยบายต่อต้านอิทธิพลของฮอลันดาที่คุกคามสยามประเทศ เหตุเพราะเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการค้าของตัวเองด้วย จึงเป็นคนกลางดึงฝรั่งเศสเข้ามาถ่วงดุล สร้างความพอใจให้กับทั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

รวมทั้งฟอลคอนยังขันอาสาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าจะโน้มน้าวพระทัยให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาเป็นคาทอลิก

Advertisement

ตัวตนของฟอลคอนในสายตาของพระเพทราชา เจ้ากรมพระคชบาล พระสหายที่ถูกเลี้ยงดูคู่มากับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะพระนมเปรม พระมารดาของพระองค์ เป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมองว่าฟอลคอนเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ และรับงานพวกฝรั่งเพื่อให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเข้ารีต

ในช่วงปี พ.ศ.2231 พระเพทราชา เป็นศูนย์กลางของการต่อต้านอิทธิพลของคริสต์ศาสนาและฝรั่งเศส และเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร ร่วมด้วย ออกญาสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ กำจัดผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติ 3 ราย พระเจ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชา 2 องค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมทั้งพระปีย์ โอรสบุญธรรม ตลอดจนสำเร็จโทษเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน สมุหนายกคนสำคัญ

การก่อรัฐประหารเกิดขึ้นระหว่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรหนัก โดยพระเพทราชา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตหลังการก่อรัฐประหารปิดฉากลง

Advertisement

ปี พ.ศ.2232 หลวงสรศักดิ์พร้อมขุนนางชั้นผู้ใหญ่อัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 ของอาณาจักรอยุธยา เมื่อมีพระชนมายุได้ 56 พรรษา และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม

เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ขับไล่กองกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา

มุมมองหนึ่ง พระเพทราชากลายเป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” หรือ “ฮีโร่” ในสายตาชาวกรุงศรีอยุธยา ได้รับการขนานนามเป็น “พระมหาบุรุษ” ปกปักพระพุทธศาสนา ช่วยกอบบ้านกู้เมืองให้พ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

พระเพทราชาทรงครองราชย์ได้ 15 ปี และเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2246 ขณะพระชนมายุ 71 พรรษา

เมื่อละครบุพเพสันนิวาสนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคกรุงศรีอยุธยาครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงครองราชย์ จนถึงช่วงถูกรัฐประหาร มาเผยแพร่เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ เอาใจคนรุ่นใหม่ ด้วยบทละครที่สร้างสีสันให้สนุกสนาน กลายเป็นกระแสออเจ้า และก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ โดย “พระเพทราชา” จัดเป็นกษัตริย์คนสำคัญในประวัติศาสตร์

“มติชนอคาเดมี” พาท่านร่วมศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเพทราชา ไปกับ “ทัวร์ออกพระเพทราชา ‘ฮีโร่’ แห่งกรุงศรีฯ จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา” หลังจาก “ทัวร์ตามรอยแม่การะเกดที่อยุธยา” ถึง “ทัวร์ไปเฝ้าขุนหลวงนารายณ์ที่ละโว้” ก่อนหน้านี้ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น

“ทัวร์ ออกพระเพทราชา ‘ฮีโร่’ แห่งกรุงศรีฯ จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา” จะพาท่านไปเยี่ยมชม 5 สถานที่สำคัญของ “พระเพทราชา”

1.วัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดหน่อ ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นแขวงบ้านพลูหลวง อันเป็นนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง พร้อมชมภายในพระอุโบสถที่มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างเขียนนานาชาติ ทั้งชาวลาว-ญวณ-พวน-จีน ร่วมกันเขียนภาพชาดกพระธาตุจุฬามณี และภาพเทพชุมนุมในแบบที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง

วัดหน่อพุทธางกูร

2.วัดกุฎีทอง (เซิงหวาย) ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี วัดแห่งนี้ มีผู้เฒ่าผู้แก่ชาววัดกุฎีทอง เล่าประวัติวัดสืบต่อกันมาเป็นตำนานว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชายคนหนึ่งมานอนหลับอยู่ที่วัดเซิงหวาย (ชื่อเก่าของวัด) ชายคนนี้นอนกรนเป็นเสียงดนตรี ลูกศิษย์วัดเห็นแปลกประหลาดจึงไปบอกให้เจ้าอาวาสมาดู ปรากฏว่าเสียงกรนของชายคนนั้นเป็นเสียงดนตรีจริงๆ

พอชายผู้นั้นตื่นขึ้นก็ตกใจ เอามือขยี้ตาแล้วลุกขึ้นคุกเข่าพนมมือไหว้เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสจึงถามว่าไปยังไงมายังไงจึงมานอนหลับอยู่ที่นี่ ชายผู้นั้นบอกว่าเขาเกิดที่บ้านพลูหลวง (ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) ถนัดในการเลี้ยงช้าง จะเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อสมัครเป็นทหารในกองช้าง

เจ้าอาวาสพิจารณาดูลักษณะของชายผู้นั้นแล้วพูดขึ้นว่า “ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ต่อไปวันข้างหน้าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในแผ่นดิน” ชายผู้นั้นพูดว่า “ถ้าเป็นจริงดั่งคำกล่าวของท่านอาจารย์ จะกลับมาสร้างกุฏิทองถวาย” แล้วกราบลาเจ้าอาวาส เดินทางมุ่งหน้าเข้ากรุงศรีอยุธยา สมัครเป็นทหารในกองช้างของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ต่อมาชายผู้นั้นมีพระนามว่าพระเพทราชา เป็นนายกองช้างที่มีความสามารถอย่างยิ่ง!

ตำนานชายนอนหลับ ตามประวัติวัดกุฎีทอง เล่าว่า เมื่อพระเพทราชาเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา โปรดให้คนมาสร้างกุฏิเป็นทอง (สร้างกุฏิแล้วลงรักปิดทองด้วยแผ่นทองคำ) ถวายให้วัดเซิงหวาย และทรงเปลี่ยนชื่อวัดเซิงหวายเป็นวัดกุฎีทอง

ที่วัดกุฎีทองแห่งนี้ยังมีหลักฐานตามตำนาน คือ เสลี่ยง (คานหาม) ที่ชาวบ้านกุฎีทองต่างร่ำลือกันว่าเป็นพระราชยานที่พระเพทราชาประทับมาเมื่อครั้งเสด็จมาสมโภชเฉลิมฉลองวัดกุฎีทอง และมิได้ทรงนำกลับไป ทรงถวายเสลี่ยงไว้เป็นสมบัติของวัด ปัจจุบันทางวัดยังเก็บรักษาและบูรณะเสลี่ยงจนถึงทุกวันนี้

เสลี่ยง

3.เพนียดคล้องช้าง จ.พระนครศรีอยุธยา สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ในการจับช้าง เพื่อนำมาใช้ในกิจการของบ้านเมือง โดยเพนียดแห่งนี้ย้ายมาจากเพนียดแห่งเดิมใกล้กับพระราชวังจันทรเกษม ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ทุกท่านจะได้ขึ้นชมด้านบนพลับพลาพร้อมฟังเรื่องราวของตำแหน่ง “พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์องคสมุหะฯ” จางวางกรมพระคชบาลหรือกรมช้าง ถือเป็นกรมใหญ่และสำคัญของกรุงศรีอยุธยา พร้อมความสำคัญของช้างในฐานะของสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ สินค้าส่งออกสำคัญ และเทียบได้กับรถถังในการสงครามยุคโบราณ

4.วัดพระยาแมน ต.คลองสระบัว อ.พระนคร ศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จากเอกสารประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏการสร้างวัดที่แน่นอน ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงเพียงว่า สมเด็จพระเพทราชาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2233

นอกจากนี้พระราชพงศาวดารยังกล่าวอีกว่า ก่อนที่สมเด็จพระเพทราชาจะได้ครองราชสมบัตินั้น ได้ผนวชอยู่ที่วัดแห่งนี้เมื่อครั้งทรงเป็นขุนนาง โดยพระอาจารย์อธิการทำนายว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชสมบัติ

รวมทั้งยังได้ให้โอวาทานุสาสน์ในสมณกิจทั้งปวง สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ เจดีย์ทรงปรางค์ 2 องค์ หอระฆัง เป็นต้น โดยมีคูน้ำรอบวัด

วัดหน่อพุทธางกูร
วัดพระยาแมน

5.วัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศตะวันตก เป็นวัดที่สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณย่านป่าตอง ติดคลองฉะไกรน้อย อันเป็นนิวาสสถานบ้านเดิมของพระองค์ท่านขณะประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา วัดแห่งนี้เคยเป็นพระอารามหลวง โดยพระอุโบสถ วิหารการเปรียญ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบแปลกประหลาดกว่าวัดอื่น จึงเรียกกันว่าวัดกระเบื้องเคลือบ

ปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากกรมศิลปากรแล้ว ทุกท่านจะได้ชมเจดีย์ปรางค์ที่มีเอกลักษณ์ และพระอุโบสถที่มีร่องรอยจิตรกรรมหลงเหลืออย่างเลือนรางตามกาลเวลา

โดยตลอดการเดินทางจะมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ความกระจ่างและไขข้อข้องใจในทุกคำถาม

เต็มอิ่มกับละครบุพเพสันนิวาส เต็มอิ่มกับเรื่องราวประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยายุคขุนหลวงนารายณ์แล้ว มาเต็มอิ่มกับเรื่องราวของ “สมเด็จพระเพทราชา” ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ฮีโร่” ในสายตาชาวกรุงศรีอยุธยา

ไปกับมติชนอคาเดมี ครบรสทั้งความสนุกและความรู้หลากหลายแง่มุมในประวัติศาสตร์


 

วัดบรมพุทธาราม

ทัวร์ ออกพระเพทราชา “ฮีโร่” แห่งกรุงศรีฯ
จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา

วิทยากร : รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2561

06.00 น. ลงทะเบียนรับของที่ระลึกและอาหารเช้า ที่มติชนอคาเดมี

07.00 น. ออกเดินทางสู่ จ.สุพรรณบุรี

09.20 น. ถึงวัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นแขวงบ้านพลูหลวง นิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา

10.00 น. เดินทางไปวัดกุฎีทอง (เซิงหวาย) ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

10.30 น. ถึงวัดกุฎีทอง ต้นกำเนิดตำนานชายนอนหลับ กรนเป็นเสียงดนตรี

12.30 น. รับประทานอาหารกลางวันที่สวนอาหารครัวน้องริมแม่น้ำน้อย

13.10 น. เดินทางไปยังเพนียดคล้องช้าง

14.10 น. ถึงเพนียดคล้องช้าง พร้อมฟังเรื่องราวของตำแหน่ง ?พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์องคสมุหะฯ? จางวางกรมพระคชบาลหรือกรมช้าง

15.00 น. เดินทางไปยังวัดพระยาแมน ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

15.10 น. ถึงวัดพระยาแมน วัดที่พระเพทราชาเคยผนวชก่อนขึ้นครองราชย์

16.00 น. เดินทางไปวัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศตะวันตก

16.20 น. ถึงวัดบรมพุทธาราม วัดที่สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณย่านป่าตอง ติดคลองฉะไกรน้อย อันเป็น

นิวาสสถานบ้านเดิมขณะประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา

17.00 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ

19.00 น. ถึงมติชนอคาเดมีโดยสวัสดิภาพพร้อมความประทับใจ

สนใจติดต่อมติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichonacademy

เพนียดคล้องช้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image