สักการะพระธาตุเหนือ สู่ ‘ธรรมยาตรา’ ภาค 2

จุดหมายแรกพระพุทธบาทสระบุรี

พระพุทธศาสนา รุ่งเรืองในดินแดนสุวรรณภูมิและลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย แม้แต่ทางด้านเหนือคือ จีน มานานหลายศตวรรษ

มีหลักฐานปรากฏเป็นตำนาน บันทึกประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้างศาสนสถานมากมาย ได้แก่ พระพุทธรูป วัดวาอาราม เจดีย์ พระธาตุ พระปรางค์ ที่เก่าแก่ตั้งแต่กว่าพันปีลงมา

ตั้งตระหง่านอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วดินแดน กลายเป็นมรดกตกทอดอันล้ำค่า ทั้งในเชิงหลักฐานสัญลักษณ์ทางศาสนา และทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ประเทศในลุ่มน้ำโขง แม้มีอุปสรรคทางด้านภาษาและวัฒนธรรม และการเมือง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการเผยแผ่ หรือร่วมกันทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา อันเป็นแนวคิดยึดเหนี่ยวและฝังลึกในความคิดจิตใจของศาสนิกชนทุกชาติทุกภาษา

Advertisement

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 องค์กรของภาคเอกชน ที่เน้นการศึกษาเผยแผ่ศาสนาพุทธ เล็งเห็นความเชื่อมโยงเหล่านี้ และจัดโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งแรกในปี 2560

เป็นกิจกรรมที่ใช้พื้นที่กว้างขวาง มีการเดินทางไปยัง 5 ประเทศ ใช้เวลาไม่น้อย ได้รับการตอบสนองด้านศรัทธาจากประชาชน และได้การสนับสนุนจากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอย่างดี

ทำให้ทางสถาบันมองไปข้างหน้า และจัดกิจกรรมต่อเนื่อง หาข้อมูลในหลายสถานที่ ในภาคอีสาน ภาคเหนือ เพื่อนำไปสู่การจัดสำคัญ งานธรรมยาตราครั้งต่อไป

ล่าสุดระหว่างวันที่ 19-24 พ.ค.ที่ผ่านมา สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ได้นำคณะเดินทางกราบสักการะพระธาตุและวัดสำคัญต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือ

คณะเดินทาง นำโดย พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ผู้อำนวยการสถาบันโพธิคยาฯ พระธรรมวรนายก ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา นายชัช ชลวร ประธานชมรมโพธิคยาวิชชาลัย 980 นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธาน นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบัน และเลขานุการชมรม นายเกษม มูลจันทร์ และ นายสุรพล มณีพงศ์ เป็นรองเลขาฯ

ออกเดินทางจากบริษัทไทยนครพัฒนา แจ้งวัฒนะ จุดหมายแรกคือ วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ศาสนสถานเก่าแก่ ที่มีหลักฐานย้อนถึงอยุธยาตอนกลาง

พระพุทธบาทสระบุรี

หยุดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ จ.พิจิตร ซึ่งมีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับชาวเวียดนามในอดีต และเป็นประเทศจุดหมายหนึ่งของธรรมยาตรา

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.พิจิตรมาต้อนรับพร้อมด้วยนายอำเภอวชิรบารมี และกลุ่มแม่บ้าน อ.วชิรบารมี

จากนั้นพุ่งเข้าสู่ จ.พิษณุโลก สักการะพระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร และนมัสการ พระธรรมเสนานุวัตร เจ้าอาวาส วัดพระพุทธชินราช

ก่อนเดินทางต่อไปสักการะ พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และพักค้างคืนที่ จ.น่าน

วันที่ 20 พ.ค. เดินทางไปยังหออัตลักษณ์ จ.น่าน รับฟังความเป็นมาและประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเก่าแก่ และเต็มไปด้วยสีสันของนครน่าน จากการบรรยายของ อ.สมเจตน์ วิมลเกษม แล้วไปสักการะพระบรมธาตุแช่แห้ง ที่ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ที่ อ.ภูเพียง จ.น่าน

ที่ จ.น่าน ชาวคณะยังได้สักการะพระธาตุจามเทวี พระประธาน คือพระเจ้าในโขงซึ่งประดิษฐานในซุ้ม และพระเจ้าฝนแสนห่า ที่จะเชิญมาแห่ยามฝนแล้งในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่ วัดพญาวัด ติดแนวกำแพงเมืองโบราณของเมืองน่าน

จากนั้นไปยัง วัดพญาภู สักการะพระธาตุ และพระพุทธนันทบุรีศากยมุนี

ช่วงบ่ายเดินทางถึง วัดภูมินทร์ วัดคู่บ้านคู่เมืองของ จ.น่าน

สักการะพระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนี พระประธานจตุรทิศ ที่ประกอบด้วย 4 องค์หันหน้าไปทุกทิศ และชมภาพ “กระซิบรัก” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

วันที่ 21 พ.ค. ออกจากน่านไปยัง วัดจองคำ อ.งาว จ.ลำปาง สักการะพระมหาเจดีย์พุทธคยาจำลอง แล้วเข้า จ.พะเยา ในห้วงเวลาที่น้ำในกว๊านพะเยา อยู่ในระดับสวยงามจากฝนที่ตกก่อนฤดูกาล

สักการะพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา ที่วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา

พระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำพะเยา

ในเย็นวันเดียวกันนั้น เดินทางถึง จ.เชียงราย สักการะพ่อขุนเม็งรายมหาราช ที่อนุสาวรีย์พ่อขุนฯ แล้วเดินทางไปยัง วัดพระแก้ว เชียงราย พระธรรมราชานุวัตรเจ้าคณะภาค 6 และเจ้าอาวาสได้มาบรรยายความเป็นมาของพระแก้ว เนื่องจากเป็นจุดที่พบพระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก เมื่อพันกว่าปีก่อน หลังจากฟ้าผ่าเจดีย์เมื่อปี พ.ศ.1977 ก่อนอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ ในล้านนา ล้านช้าง และมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กระทั่งปัจจุบัน

วันที่ 22 พ.ค. ยังคงอยู่ที่เชียงราย เดินทางไปสักการะ พระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน ซึ่งตำนานระบุว่าพระเจ้าพังคราช โปรดเกล้าฯให้สร้าง เมื่อ พ.ศ.1483

ก่อนไปยัง วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน สร้างเมื่อปี พ.ศ.1887 โดยพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพ่อขุนเม็งรายมหาราช เป็นวัดที่ยังรักษาสภาพเดิมๆ บริเวณรอบวัด วิหาร และองค์พระธาตุเจดีย์ที่สูงเด่นสง่างาม

ภาคบ่ายไปยัง พระธาตุผาเงา ชมพระพุทธรูปในโบสถ์ ที่อยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ชำรุด ขณะที่องค์พระธาตุประดิษฐานบนหินก้อนใหญ่ที่ต้องเดินขึ้นบันไดไป

วันที่ 23 พ.ค. เดินทางไปยัง อ.แม่สาย นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอเชียงแสน มาบอกเล่าความเป็นมาและสภาพของพื้นที่ ก่อนเดินทางสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากอง องค์จำลอง แล้วนมัสการครูบาแสงหล้า เจ้าอาวาส วัดพระธาตุสายเมือง

พระธาตุดอยตุง เชียงราย

แล้วเดินทางขึ้นดอยตุง เหนือระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร ไปสักการะ พระธาตุดอยตุง ที่เก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ และสวยงามด้วยภูมิปัญญาโบราณสัดส่วนของพระธาตุคู่ และอุโบสถ รวมถึงการจัดตกแต่งรอบๆ ที่ลงตัว มองเห็นทิวทัศน์กว้างไกล

โปรแกรมสุดท้ายของวันคือการไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ที่กำลังเติบโต รองรับการเรียนรู้ของเยาวชนภาคเหนือ มีผู้บริหารการศึกษาที่ผสมผสานคนรุ่นใหม่ สร้างความทันสมัยให้กับการเรียนรู้

อาคารแคมปัสของ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สวยงามและเรียบง่าย สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น

วันรุ่งขึ้น 24 พ.ค. เดินทางสักการะพระธาตุลำปางหลวง ก่อนเดินทางกลับ กทม. เป็นการเดินทางที่ยาวนานอีกครั้ง แต่คุ้มค่าด้วยความรู้และความสงบจากจิตใจที่ได้รับ

ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งที่ 2 ที่กำหนดไว้ในปี 2562 ความร่วมมือจากปี 2560 จะได้รับการพัฒนาให้หนักแน่นและกว้างขวางยิ่งขึ้น

นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ ระบุว่าภายหลังได้จัดกิจกรรม สักการะศาสนสถานภาคอีสานก่อนหน้านี้ และภาคเหนือในครั้งนี้ ได้ข้อมูลมากมาย ชี้ชัดว่าเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ และลุ่มแม่น้ำโขง มีความเชื่อมโยงกัน

ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งที่ 1 เริ่มจากภาคอีสานของประเทศไทย ผ่านประเทศ สปป.ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา และเมียนมา ไปปิดกิจกรรมที่วัดสุวรรณภูมิ ที่ จ.สมุทรปราการ

สำหรับธรรมยาตรา ครั้งที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการปรึกษาหารือและพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เส้นทางจะเชื่อมโยง วัดวาอาราม พระธาตุ และศาสนสถานสำคัญๆ ในประเทศไทย ไปสู่พื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบว่าล้วนแต่ผูกพันนับถือพุทธศาสนามาแต่โบราณกาล และมีหลักฐานเป็นศาสนสถานต่างๆ

เพื่อประกาศดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขงหรือในดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นดินแดนพระพุทธศาสนามา 2,300 ปี

ระธรรมเสนานุวัตร และพระธรรมวรนายก

นายสุภชัยกล่าวว่า ภูมิภาคนี้กำลังเจริญเติบโต แต่ในฐานะที่เป็นเมืองพุทธ และเพื่อนบ้านเป็นชาวพุทธ เราอยากจะเห็นความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุและจิตใจไปด้วยกัน เพื่อให้สังคมไม่เสื่อม ไม่เอาเปรียบกัน ไม่ชิงดีชิงเด่นกัน ช่วยให้ทั้งภูมิภาคเกิดความสงบสุข

พระเมธีวรญาณ หรือท่านเจ้าคุณสายเพชร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กทม. หนึ่งในคณะเดินทาง ระบุว่า หากประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงร่วมมือกันในด้านพระพุทธศาสนาจะเกิดผลดีทำให้เกิดการเชื่อมประสานสัมพันธ์ พุทธมีเอกภาพโดยไม่มีการจำกัดว่าสายเถรวาทหรือสายมหายาน อีกอย่างจะช่วยบ้านเมืองติดต่อประสานงานความร่วมมือกันโดยอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นตัวนำ

จากการจัดโครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 1 ประชาชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้การต้อนรับมีความตื่นตัว ซึ่งการจัดงานใหญ่ในเรื่องของพระพุทธศาสนา ในประเทศบางประเทศเป็นเรื่องยาก คณะของธรรมยาตราเข้าไปทำกิจกรรม สวดมนต์ไหว้พระ ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ อย่างเช่นประเทศลาว ประชาชนตื่นตัวอย่างมากทำให้ผู้ปกครองในประเทศนั้นให้การสนับสนุนในเรื่องของพระพุทธศาสนามากขึ้น

ส่วนภาพที่ธรรมยาตราเข้าไปทำกิจกรรมในต่างประเทศ ก็จะสะท้อนมายังประเทศของเราว่าประชาชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยังตื่นตัวในเรื่องพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นตัวอย่างให้คนในประเทศเราตื่นตัวตามไปด้วย

นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานชมรมโพธิคยาฯ เล่าว่าเมื่อปี 2560 ได้จัดธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งแรก ได้นำความสุขให้กับชาวพุทธในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ในครั้งนั้นทางสถาบันคิดกันว่าในปี 2562 เราจะดำเนินการจัดงานเช่นนี้อีก โดยจะมีการพัฒนาโครงการไปพอสมควร

ทางสถาบันเห็นว่าประชาชนทุกประเทศนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนมากอยู่แล้ว แม้ว่าจะอยู่คนละประเทศ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่ใจอยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวพระองค์นั้น

“พุทธบริษัท 4 เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่ารอให้พระพุทธศาสนาของประเทศไทยเหลือแค่ในตำนาน” รองประธานชมรมทิ้งท้ายหลังจากการเดินทางสักการะพระธาตุฯ สิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จอีกครั้ง

นมัสการครูบาแสงหล้า ท่าขี้เหล็ก พม่า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image