เยือนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘เซเปียน เซน้ำน้อย’ ไขปริศนา ‘อ่างเก็บน้ำ 3 ระดับ’ พร้อมเดินเครื่องปี ’62

ภาพการเดินทางไป “เขื่อนเซน้ำน้อย” แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ยังคงแจ่มชัด

นอกจากระยะทางและความกว้างสุดลูกหูลูกตาแล้ว ที่นี่ยังเป็น “พื้นที่รับน้ำมากที่สุด” ในบรรดาอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง ของ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย” ด้วย

หากอ้างอิงข้อมูลจากฝ่ายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า งานบริหารสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้อธิบายไว้ว่า เขื่อนเซน้ำน้อยมีพื้นที่รับน้ำฝน ปริมาณ 48.26 ตารางกิโลเมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำ 1,043.27 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนระบบส่งไฟฟ้า คำนวณระยะทางจากโรงไฟฟ้าถึงพรมแดนได้ราว 170 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน “โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย” ถือเป็นความท้าทายด้าน “การออกแบบ” และ “การก่อสร้างทางวิศวกรรมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ” แห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ เนื่องจากเป็นการออกแบบอ่างเก็บน้ำ 3 ระดับ มีการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำในแนวราบยาวกว่า 13.59 กิโลเมตร ด้วยเทคโนโลยี Tunnel Boring Machine และแนวดิ่งสูงกว่า 458 เมตร

Advertisement

ส่งผลให้ “เพิ่มระดับความสูงของน้ำ” กว่า 650 เมตร เพื่อสร้างแรงดันน้ำในการหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า โดยใช้น้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตลอดจนภายในเขื่อนเซน้ำน้อยยังมี “ประตูปล่อยน้ำ” ให้ประชาชนชาวลาวใช้สอยได้ตามปกติอีกด้วย

เขื่อนเซน้ำน้อย

ผนึกพันธมิตร ผสานความร่วมมือ ขยายกรอบรับซื้อต่อเนื่อง

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ตั้งอยู่พื้นที่ทางใต้ บริเวณแขวงจำปาสักและอัตตะปือ สปป.ลาว เป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตร 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25%, บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 26%, บริษัท โคเรีย เวสเทิร์น เพาเวอร์ ถือหุ้น 25% และบริษัท ลาว โฮลดิ้ง สเตรท เอ็นเตอร์ไพรส์ ถือหุ้น 24%

เป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ที่ราชบุรีโฮลดิ้งเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว โดยก่อนหน้านี้คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 แขวงเวียงจันทน์ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา แขวงไซยะบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์

Advertisement

พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ฉบับที่ 4 ลงนามไปเมื่อปี 2550 โดยกำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 7,000 เมกะวัตต์

ขณะที่เอ็มโอยูฉบับแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2536 กำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ กระทั่งเกิดเอ็มโอยูฉบับที่ 2-4 ตามมา พร้อมขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุด เดือนกันยายน ปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอ็มโอยูด้านพลังงานไฟฟ้า ระหว่างไทยและ สปป.ลาว ฉบับที่ 5 โดยขยายกรอบการซื้อไฟฟ้าเป็น 9,000 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้น 2,000 เมกะวัตต์) พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมด้านพลังงานน้ำ เพื่อต่อยอดวิสัยทัศน์ ASEAN Power Grid

หากความจริงแล้ว สปป.ลาว มีศักยภาพผลิตพลังงานไฟฟ้าประมาณ 23,000 เมกะวัตต์ โดยประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ประมาณ 5,941 เมกะวัตต์ โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 3,584 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่เมื่อพิจารณาจากเอ็มโอยูฉบับล่าสุดแล้ว ยังมีโอกาสให้หลายภาคส่วนร่วมลงทุนอีกเกือบ 3,000 เมกะวัตต์เลยทีเดียว

ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับทบทวนว่า ระบุให้ สปป.ลาวเริ่มรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศได้ในปีไหนด้วย

อย่างไรก็ตาม ราชบุรีโฮลดิ้งพร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) “โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย” ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยจำหน่ายแก่ กฟผ. 354 เมกะวัตต์ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว มหาชน 40 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 27 ปี (2562-2589)

หลังคาสีเขียวด้านซ้ายคือโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย (Power House) ด้านขวาคือลานไกไฟฟ้า

เปิดแผนความก้าวหน้า
‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย’

“โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างรวม 64 เดือน โดยขณะนี้มีความก้าวหน้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว”

เป็นคำกล่าวของ กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง พร้อมอธิบายต่อว่า โครงการนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน บวกกับการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนโยบายสมาร์ทซิตี้ของรัฐบาล

กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ

สำหรับกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจำหน่ายนั้น จะส่งผ่านชายแดนลาวเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ที่สถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี 3 ด้วยสายส่ง 500 เควี ระยะทางประมาณ 54 กิโลเมตรจากปากเซ สปป.ลาว ในอัตราค่าไฟไม่เกิน 2.50 บาทต่อหน่วย และไฟฟ้าอีกส่วนหนึ่งจะผลิตป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในแขวงจำปาสักและอัตตะปือ

ขณะเดียวกัน กิจจายังเผยความคืบหน้าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 ระดับ ในแขวงจำปาสัก คือ ฝายห้วยหมากจัน เขื่อนเซเปียนและเขื่อนเซน้ำน้อยว่าก่อสร้าง “เสร็จสมบูรณ์” และ “เริ่มเก็บน้ำแล้ว” ตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำราว 71% ส่วนงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแขวงอัตตะปืออยู่ระหว่างติดตั้งกังหันพลังน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 4 ชุด

“เราพร้อมทดสอบโรงไฟฟ้าปลายปีนี้ โดยเดินเครื่องตัวแรกราวเดือนตุลาคม ตัวที่ 2 เดือนพฤศจิกายน และตัวที่ 3 เดือนธันวาคม จากนั้นหากไม่มีปัญหาใดจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าตามแผนคือเดือนกุมภาพันธ์ 2562” กิจจาระบุ

1 โรงไฟฟ้า = มากคุณประโยชน์

ผลจากการเซ็นเอ็มโอยูเรื่องการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว จนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อยนั้น รฦก สัตยาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาโครงการ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า โครงการนี้มีการผลิตพลังงานที่สามารถใช้ร่วมกันได้กว่า 1,879 กิกะวัตต์/ปี คิดเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 1,020 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัญญาสัมปทานนานกว่า 27 ปี เกิดการเทรนนิ่งด้านเทคนิคและอาชีพต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงมีการทรานเฟอร์เทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกันด้วย

“ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้ามีคุณค่ากับทั้ง 2 ประเทศ และจะเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาต่อไปในอนาคต” รฦกกล่าว

รฦก สัตยาภรณ์

นอกจากนี้ สปป.ลาวยังปริมาณน้ำมาก เนื่องจากฝนตกบ่อยครั้ง บวกกับอยากพัฒนาประเทศ โดยการลงทุนโรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นได้ ทำให้ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย คณะทำงานต้องทำการสำรวจและวัดปริมาณน้ำทั้ง 3 อ่างเก็บน้ำ เพื่อให้มี “ต้นทุนผลิตไฟฟ้า” อย่างเพียงพอ

“จะเห็นว่าโครงการนี้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) ตั้งแต่ปี 2551 และเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันในปี 2556 โดยตลอดเวลา 5 ปี มีการวัดศักยภาพน้ำทั้งหมด ประกอบกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้นับว่าใช้ศักยภาพของลุ่มน้ำได้ดีมาก เพราะมีการผันน้ำต่อเนื่องถึง 3 ระดับ เป็นการออกแบบที่มีการผันน้ำเข้าสู่อ่างใหญ่เป็นลำดับลงมาเรื่อยๆ โดยน้ำทั้งหมดจะไปลงที่แม่น้ำเซกอง ก่อนไปรวมกับเซน้ำน้อย และไหลลงกัมพูชาต่อไป” รฦกอธิบาย

ทว่า ความพิเศษของโครงการนี้ นอกจากจะเป็นการรวบรวมศักยภาพของลุ่มน้ำ ทำให้ได้พลังงานศักย์ของน้ำในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า 150 เมตร เป็นการประหยัดน้ำ และสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ปริมาณมากแล้ว โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ยังได้รับการจัดอันดับ “ความสูง” ให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

“เราใช้ความรู้ ความชำนาญในระดับสากล มีที่ปรึกษาจากต่างประเทศและพาร์ตเนอร์อย่างเอสเค เอ็นจิเนียริ่ง และโคเรียเวสเทิร์น ร่วมกันออกแบบ จนโครงการนี้ประสบความสำเร็จ” รฦกสรุปปิดท้าย

สำหรับทิศทางการลงทุนของราชบุรีโฮลดิ้งใน สปป.ลาว ยังคงเน้นการร่วมทุนกับพันธมิตรในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ และเป็นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่เซกอง โครงการน้ำประปาซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาครั้งสุดท้าย และเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pallet) โดย สปป.ลาว ถือเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญ เนื่องจากกำลังผลิตใน สปป.ลาว มีสัดส่วนราว 15 เปอร์เซ็นต์ของกำลังผลิตตามการลงทุนรวมของบริษัท (7,552.4 เมกะวัตต์) โดยปี 2560 ที่ผ่านมา ธุรกิจใน สปป.ลาว สร้างรายได้เป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม

เป็นการร่วมทุนที่สร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างแท้จริง

บรรยากาศในโรงไฟฟ้า
ลานไกไฟฟ้า (Switchyard)
เขื่อนเซเปียน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image