“เฉลิมชัย” ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่สุรินทร์ พร้อมรับฟังปัญหาย้ำพท.ต้องหาทางแก้ปัญหาเร่งด่วน (มีคลิป)

วันนี้ (31 ก.ค.62) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่จุดบ่อระเบิดหินเก่าบริเวณวนอุทยานพนมสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานของโครงการชลประทานสุรินทร์ การประปา ทหาร และภาคเอกชน ในการดำเนินการติดตั้งท่อขนาดใหญ่ เพื่อทำการผันน้ำจากบ่อระเบิดหิน เข้าสู่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ในการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง น้ำดิบผลิตประปาแห้งขอด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่น้ำในเก็บน้ำจะแห้งขอดไม่มีน้ำผลิตประปาแจกจ่ายในเทศบาลเมืองสุรินทร์และนอกเขตเทศบาล

โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคณะได้เดินทางไปบังอ่างเก็บน้ำลำพอก ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวนา เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากฝนทิ้งช่วงทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงต้องลงมาร่วมรับฟังและเน้นย้ำแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ทั้งปัญหาน้ำที่มีไม่พอเพียง การช่วยเหลือทางด้านผลผลิตทางการเกษตร และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตในรอบเพาะปลูกถัดไป อย่างทันเหตุการณ์

จากนั้นได้เดินทางมายังโครงการชลประทานห้วยเสนง ที่ตำบลเฉียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อประชุมร่วมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบสถานการณ์ภัยแล้งและมอบแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่และภาคเอกชน เข้าประชุมร่วม จากนั้นรัฐมนตรีฯพร้อมคณะได้ปล่อยขบวนรถน้ำเพื่อไปแจกจ่ายให้กับราษฎรในพ้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ทำฝนเทียม ที่สนามบินสุรินทรภักดี ต.นอกเมือง อ.เมืองสุรินทร์

สำหรับจังหวัดสุรินทร์มีความเสี่ยง เนื่องจากปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ข้าวเหี่ยวเฉาไม่สมบูรณ์ คาดว่าจะมีพื้นที่เสียหาย 438,997 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 200,251 ครัวเรือน สำหรับปริมาณน้ำเก็บกักจากอ่างเก็บน้ำ เช่นอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหัวใจหลักในส่งน้ำดิบผลิตประปา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 0.806 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 ของความจุอ่าง และอ่างเก็บน้ำห้วยอำปึล ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 0.261 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 0.94 ซึ่งสาเหตุการเกิดภัยแล้งสืบเนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ในขณะที่การทำฝนเทียมในพื้นที่ ยังคงเร่งปฏิบัติการทำฝนเทียมต่อเนื่อง จากกรมฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตั้งตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบินสุริทรภักดี แม้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ

Advertisement

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในส่วนของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงซึ่งถือว่าวิกฤต ก็ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนไปก่อน เรื่องของน้ำอุปโภค-บริโภค ซึ่งก็แผนในการผันน้ำจากบ่อหินเก่าเข้ามายังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเพื่อแก้ปัญหาและทำฝนเทียมไปพร้อมกัน หากกรมอุตุคาดการณ์ไม่พลาดภายในอาทิตย์นี้ก็น่าจะมีฝนตกลงมากและมีน้ำเติมเข้าอ่าง

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ส่วนปริมาณฝนที่น้อยและกำลังจะสิ้นหน้าฝนแล้ว ซึ่งจะต้องรับสถานการณ์แล้งในปีหน้านี้ด้วย ซึ่งการวางแผนรับมือจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะน้ำอุปโภค-บริโภค ซึ่งจะต้องบริหารการจัดการน้ำให้ได้ถึงเมษายนหน้านี้ หากวิกฤตจริงๆในส่วนของการดำเนินการต้องไปดูการวางแผนระยะยาว จะต้องเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ อาจจะต้องมีการขุดลอกในส่วนของห้วย หรือแก้มลิงและอ่างอื่นๆ ซึ่งจุดนี่น่าจะดำเนินการได้ในงบประมาณปีหน้านี้ จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็ได้มาเจอปัญหาจริงๆ ดีกว่าดูจากรูปภาพแล้วได้รับฟังปัญหาจากเจ้าของพื้นที่จริงๆ จะทำให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ส่วนปัญหาเรืองเมล็ดพันธุ์ข้าวกับปัญหาเรื่องโรคระบาดนั้นทางกระทรวงมีนโยบายให้ทางด้านกรมพันธุ์ข้าวได้นำเมล็ดพันธุ์ไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่ได้รับความเสียหาย ในส่วนของแมลงหรือว่าโรคเกี่ยวกับข้าว ทางกรมวิชาการเกษตรก็ได้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ทางเกษตรอำเภอ เกษตรตำบลทุกที่ลงพื้นที่ตรวจดูเกษตรกรที่ทำการเกษตรแล้วรายงานโดยตรง ซึ่งเราจะแก้ไขปัญหาวันต่อวันไม่ปล่อยให้ยืดยาว

Advertisement

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ส่วนปัญหาน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลัก ที่ลดลงน้อยหากปีหน้า นี้แน่นอนหากวิกฤตจริงๆ เราก็ต้องมีแผนการบริหารจัดการน้ำ และขอความร่วมมือกับเกษตรกรปลูกพืชจำนวนมาก ให้ใช้พืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชที่เลี้ยงครอบครัวอยู่ได้ ซึ่งก็ต้องมีมาตรการควบคู่กันไป เป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและประชาชนพร้อมกันด้วยถึงจะได้ผล

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า เรื่องของการชดเชยให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ในตอนนี้ก็ได้มีการเร่งทางเกษตรมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องรอให้เข้าหลักเกณฑ์ให้แต่ละจังหวัดประกาศภัยแล้งหรือภัยพิบัติ ซึ่งเราสามารถดำเนินการชดเชยให้ได้ในทันที เพราะได้เตรียมเม็ดเงินไว้แล้ว โดยรัฐบาลได้เตรียมงบกลางที่จะมาชดเชยให้อยู่แล้ว จะไม่ให้ยึดเยื้อสามารถดำเนินการได้ภายใน 30 หรือ 60 วัน ได้เลย ซึ่งมีหลักเกณฑ์อยู่แล้วหากเข้าหลักเกณฑ์ก็ประกาศได้ทันที ไม่จำเป็นต้องเดือนไหน

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องของการทำฝนเทียมทั่วประเทศ ได้มีการบินทำฝนเทียมมา 140 วันแล้ว ซึ่งทางเหล่าทัพก็ส่งเครื่องบินเข้ามาช่วยเพิ่มจากเดิม 2-3 ลำ ก็เพิ่มขึ้นมา 7 ลำ ก็ดำเนินการอยู่ ซึ่งเราจะไม่รอให้ปัญหาเกิดขึ้น แต่เราวิ่งเข้าไปหาปัญหาที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร แล้วแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆเลย ส่วนแนวทางอื่นที่จะเพิ่มน้ำให้กับแหล่งนำใหญ่ก็คือการผันน้ำเข้ามา เป็นโครงการระยะยาวที่คิดไว้อยู่ที่เราจะเติมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ โดยการผันน้ำเข้ามา เป็นโครงการใหญ่ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง เช่นการเติมน้ำเข้าสู่เขื่อนภูมิพล ก็ได้ศึกษามาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งปี 63 หรือ 64 หน้าจะได้เริ่มโครงการ แต่บอกว่าใช้งบเป็นหมื่นล้านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ได้ศึกษาแล้ว เพราะรู้แล้วว่าวิกฤตมันเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะต้องแก้ไขไปถึงวันข้างหน้าด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image