เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จี้ผู้ว่าฯ สั่งยกเลิกปล่อยโคมไฟทั้งจังหวัด หวั่นเสี่ยงไฟไหม้

เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จี้ผู้ว่าฯ สั่งยกเลิกปล่อยโคมไฟทั้งจังหวัด หวั่นเสี่ยงไฟไหม้ เผยพื้นที่ทหารลานเนินนุ่ม-ธุดงคสถานล้านนาเตรียมปล่อยอีกนับหมื่นลูก ชี้บิดเบือนประเพณีขายทัวร์จีน-ยุโรปฟันกำไรมหาศาล

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 16 สิงหาคม ที่อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนและเครือข่ายภาคีภาคประชาสังคม จังหวัดเชียงใหม่ รวม 22 องค์กร นำโดยนางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เข้ายื่นหนังสือเรื่องขอให้ยกเลิกการปล่อยโคมไฟเวลากลางคืนในงานเทศกาลลอยกระทงและเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ รับหนังสือด้วยตนเองพร้อมรับปากว่า จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียร่วมประชุมหามาตรการในการแก้ปัญหาโคมลอยที่เกิดซ้ำซากเป็นประจำทุกปีในเร็วๆ นี้

นางเสาวคนธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.สืบสกุล บัวระวงศ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มีคำสั่งยกเลิกการจัดกิจกรรมลอยกระทงนานาชาติ ที่จะมีการปล่อยโคมลอยมากที่สุดในโลก เพื่อบันทึกลงในกินเนสบุ๊คในพื้นที่โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ไปแล้ว หลังมีการแสคัดค้านของคนเชียงใหม่ แต่เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ก็ยังกังวล เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่เตรียมจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน และเกือบทั้งหมดเป็นขายตั๋วราคาแพงให้กับนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวเชียงใหม่ ทั้งลานเนินนุ่ม อำเภอแม่ริม พื้นที่ของกรมการสัตว์ทหารบก และธุดงคสถานล้านนา อำเภอสันทราย รวมทั้งอีกหลายๆ สถานที่ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งทราบว่ามีการขายบัตรเข้าร่วมกิจกรรมให้กับนักท่องเที่ยวไปจำนวนมาก

Advertisement

“แต่ละจุดพบว่าจะมีการปล่อยโคมลอยนับหมื่นดวง ส่งผลกระทบต่อชาวเชียงใหม่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจากโคมลอยที่จะตกใส่ และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง การใช้วัฒนธรรมประเพณีมาเป็นจุดขายในธุรกิจท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบให้รอบด้าน โดยทางเครือข่ายมองว่า การปล่อยโคมลอยเป็นกิจกรรมที่บิดเบือนประเพณีและยังทำให้เกิดปัญหา ทั้งยังไม่ได้เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่น เพราะโคมลอยที่นำมาปล่อยในระยะหลัง เป็นโคมลอยที่ผลิตจากจีน เช่นเดียวกับกลุ่มทุนที่จัดกิจกรรมก็เป็นกลุ่มทุนต่างชาติ”

นางเสาวคนธ์ กล่าวว่า หากทุกภาคส่วนจะมาสนับสนุนกิจกรรมอื่นที่เป็นไปตามประเพณีที่แท้จริง อาทิ การจุดผางประติ๊ด หรือการประดับโคมไฟทั่วเมือง ก็เชื่อว่าจะสร้างเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับชาวเชียงใหม่ สำหรับการผลิตโคมไฟมีต้นทุนเพียงไม่กี่บาท โดยโคมไฟขายเฉลี่ยลูกละ 20 – 50 บาทแล้วแต่ขนาด แต่พบว่าเมื่อถูกนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวโดยขายแพ็คเกจทัวร์พ่วงปล่อยโคมลอย จะมีราคาสูงตั้งแต่ 2,000 – 6,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image