‘สมคิด’ ควง 4รมว.กระทรวง ขับเคลื่อนประชารัฐสร้างไทย 8จว.ภาคเหนือ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบาย ‘ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน’ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างเข้าถึงแบบครบวงจร ให้คนไทยตลอดจนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหลุดพ้นความยากจน โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร.อ.ธรรมนัฐ พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมด้วยผู้แทนสถาบันการเงินของรัฐและภาคีเครือข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก นำร่องกลุ่มประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายสมคิด กล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ทุ่มเทกำลังกายสติปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายมอบให้พี่น้องประชาชน งานเราไม่ได้จัดเพื่อหาเสียงทางการเมือง แต่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ให้พี่น้องภาคเหนือได้เห็นและฟังว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อประชาชน ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องแต่ต้องการสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ รัฐมนตรีทุกคนที่มาด้วยหัวใจที่อยากทำให้พี่น้องฐานราก มาพร้อมสมองว่านี่คือทางออกที่จะสามารถก้าวพ้นความยากจนไปสู่การมีรายได้และชุมชนแข็งแรง และเราทำมานานแล้วตั้งแต่ปี 2543 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผลัดกันกองทุนหมู่บ้าน โอท็อป 30 บาทรักษาทุกโรค และยังเราทำอยู่ 6 ปี รักใคร่กันดีไม่มีแบ่งแยก แต่เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็ต้องตก และพรรคการเมืองนั้นตกไปแล้ว แต่พวกผมยังอยู่ เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีทุกคนในที่นี้ช่วยกันมานานแล้ว ด้วยค่านิยมและแนวทางของเรา เมื่อมีโอกาสกลับมาใหม่เราสานต่อเจตนารมย์และความตั้งใจ ทำงานด้วนสมองไม่ใช่ด้วยปาก ให้ผลงานประจักษ์ด้วยสายตา เสนอสิ่งใหม่ๆ ให้หลุดพ้นความยากจนอย่างไร อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขยายความออกไปให้มากที่สุด

“แนวทางการพัฒนาชนบทฐานรากที่แท้จริงทำอย่างไร มองเป็นะรบบเชื่อมต่อทุกอณู การแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่แค่ประกันรายได้ จำนำราคา ซึ่งเป็นปลายเหตุ ที่สำคัญคือชุมชนต้องเข้มแข็ง เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2549 ก่อนที่รัฐบาลนี้จะขึ้นมา การพัฒนายังเหมือนเดิมแบบในอดีตข้าวมีราคาประกันไว้จำนำไว้ แต่ 10 ปีที่ผ่านมายังไม่ไปไหน ในขณะที่ญี่ปุ่นก้าวหน้าไปด้วยวิธีการและวิธีคิด หัวใจสำคัญคือ ชุมชน หลายปีเราคลำทางไม่ถูก ซ้ำซ้อนกันเอง ไม่เกิดผล งบประมาณการเกษตรมหาศาลแต่ส่ิงที่เราเสนอคือ ชุมชนเป็นตัวตั้ง มีดีอะไร จะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร รายได้เพิ่ม โอท็อป การท่องเที่ยวต้องมาเชื่อม รายได้จากของฝากของที่ระลึก ถามตัวเองว่าหมู่บ้านเรามีอะไร ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านอาหาร มีของฝากหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เพิ่มรายได้ เปลี่ยนโฮมสเตย์เป็นโฮมลอร์ด สะอาด ปลอดภัย ชุมชนอยู่ได้” นายสมคิด กล่าว

Advertisement

นายสมคิด กล่าวอีกว่า กองทุนหมู่บ้านยังเป็นเสาหลัก การให้เงินง่ายแต่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มันยาก ก็ต้องคิด นายกรัฐมนตรีพร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนทุกอย่าง แต่เราจะทำอย่างไรให้เกิดรายได้ การท่องเที่ยวเมืองหลักออกไปสู่เมืองรองทำเพื่อชุมชนทุกคนทั้งประเทศ ต้องช่วยกันไม่แข่งกัน แต่เกื้อกูลกัน การรถไฟจากเชียงใหม่ไปลำปางทำได้หรือไม่ เพราะจะเกิดการหมุนเวียนทางสังคม คนยากจนมากเราก็มีบัตรสวัสดิการประชารัฐ คนที่ว่าโครกงารไม่ดีแสดงว่ามีจิตใจลำเอียงและมีอคติ เราช่วยคนที่มีรายได้แค่ 3 หมื่นบาทต่อปี เพื่อให้ลืมตาอ้าปากได้ อยากจะว่าก็ว่าไป เราใจบริสุทธิ์เราจะทำต่อไป เศรษฐกิจไม่มีดีเราออกนโยบายชิมช้อปใช้ เพื่อให้คนพอมีเงินได้ไปเที่ยวชนบท ให้เงินหมุนได้ เกษตรกร โรงแรม ของฝากขายได้ นี่คือโมเดลที่เรานำเสนอและเห็นว่าสามารถเกิดได้ในประเทศต่างๆ จากที่ยากจนเขาพลิกจนรวยมหาศาล

“ใครที่บอกว่ารัฐบาลนี้เอื้อคนรวยช่วยคนจน ไม่ใช่ เราต้องเอื้อกัน หน้าที่รัฐบาลคือ ประเทศแข่งขันกับเขาได้ กระจายรายได้ ตัวเลขจีดีพีสูงจะไม่มีประโยชน์เลยหากไม่กระจายไปสู่คนทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนจนที่เราอยากช่วยเหลือ บัตรสวัสดิการประชารัฐจะมีการประกันอุบัติเหตุให้ประชาชนและอะไรอีกหลายอย่างที่จะตามมา ชิมช้อปใช้จะตามาอีก ไม่ให้คนฟุ่มเฟือยแต่สามารถช่วยคนไทยด้วยกันเอง ยกระดับวิสาหกิจชุมชน นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ยกระดับชุมชนฐานรากมีอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนา ให้ทุนมหาวิทยาลัยดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านชุมชน ใช้ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลข่าวสารที่สอนได้ ค้าขายผ่านออนไลน์อย่างไร ทำการค้า ท่องเที่ยวเชื่อมต่อได้หมด นี่คือโมเดลหารพัฒนาแบบใหม่ที่เราต้องการเสนอพี่น้องประชาชนชาวไทย ถามว่าความคิดเหล่านี้ผิดหรือไม่ ช่วยแต่ธุรกิจรายใหญ่จริงหรือไม่ ประชาชนตอบได้ นี่จุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกคนต้องมาช่วยเหลือกัน ธนาคาคออมสิน ธกส. ผู้ว่าฯ ต้องช่วยให้เกิดการพัฒนา ไม่โจมตีใครพรรคการเมืองไหน แต่นี่คือการสร้างโอกาส สุดท้านคือการสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ คนไทยต้องยืนหยัดและจิตใจเข้มแข็ง คนจีนพัฒนามาได้ขนาดนี้เพราะเขาจิดใจเข้มแข็ง ปัจจุบันเซิ่นเจิ้นพัฒนาไปไกลมากเพราะการพัฒนาตนเอง ประธานาธิบดีจีนบอกว่าเราเป็นนกที่อ่อนแอทำอย่างไรจะบินไปให้สูงบินไปต่างประเทศอย่างเข้มแข้ง” นายสมคิด กล่าว

Advertisement

นายสมคิด กล่าวว่า มีการตกใจกับการประกาศตัดจีเอสพี แต่รู้หรือไม่ว่าจีเอสพีคือการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา แต่ปัจจุบันเราไม่ใช่แล้ว เราพัฒนาแล้ว และต้องเข้มแข็ง แต่เราก็บอกสหรัฐไปว่าอย่าให้บรรยากาศเสีย มาคุยกันแบบเป็นมิตร และจะสร้างอะไรในระยะยาว เราต้องยืนหยัดด้วยตนเอง มีทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาชน ร่วมมือกันให้แข็งแรง ท้ายสุดประชาธิปไตยก็จะดีขึ้น ไม่ใช่มาหลอกกันง่ายๆ อย่าเก็บไว้ในห้องประชุมแต่ขยายการพัฒนาออกไป

“เศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ได้เพราะมีกิจกรรมในชนบท แบบตลาดประชารัฐที่จะเปิดในวันนี้ ชุมชนและชนบทมีกิจกรรรม เขาก็จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาก คนโจมตีไม่ได้มาดูว่ามันมีรายได้ไม่น้อยนะ ถ้าทำกันทั้งประเทศไม่น้อยเลย ไปดูตัวเลขการท่องเที่ยวในชนบทช่วยได้มาก” นายสมคิด กล่าว

นายอุตตม กล่าวว่า ประชารัฐสร้างไทยที่รัฐบาลริเริ่มที่กรุงเทพฯ และวันนี้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดแรก ที่เราจะมาเสนอตัวช่วยกัน เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานมาจับมือทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ การสร้างคนไทยในทุกที่ ทุกชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถช่วยตนเองได้และมีความยั่งยืน สะสมทุน กำลังทรัพย์ สร้างโอกาสและรายได้ ทุกพื้นที่มีศักยภาพเราต้องทำให้เกิดอาชีพ รายได้ สืบทอดอย่างยั่งยืนและเติบโตไปเรื่อยๆ เปิดช่องทางที่มีมากมายให้เกิดการค้าขายได้จริง มีทั้งธนาคารและเงินทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเกิดการลงทุน เกิดธุรกิจชุมชน ธุรกิจสร้างไทย จากการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 250,000 ล้านบาท เพื่อสร้างคนสร้างอาชีพ ในรูปแบบประชารัฐสร้างสุขสู่ชุมชนเมือง โครงการตลาดนัดประชารัฐสร้างไทย จริงจังจากการผลิตสู่การค้าขายได้จริง สินเชื่อโฮมสเตย์สามารถพัฒนาได้รายละ 1 ล้านบาท สินเชื่อแรงงานและสินเชื่อที่ต้องแก้ไขจากหนี้นอกระบบ สร้างตลาดชุมชนสำหรับประชาชนอย่างแม้จริง ทั้งธนาคารออมสิน แล ะธกส. พร้อมแล้ว วันนี้เราต้องค้าขายแบบออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ เพื่อช่วยร้านค้า เพราะนักท่องเที่ยวไม่ใช่เงินสดแล้ว กระทรวงการคลังมีเครือข่ายและจะขยายไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้แผงลอยก็มีแล้ว กองทุนหมู่บ้านก็มาเพราะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มาเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาสู่การท่องเที่ยว ขอเพียงเราทำอย่างจริงจังจากข้อมูลของประชาชน วิถีชีวิตเป็นอย่างไร ต้องการอะไร และจะสร้างอาชีพ แก้ปัญหาที่สะสม ความยากจนความเหลื่อมล้ำของประเทศ มาคุยกันตั้งโจทย์ชัดแล้วมีคำตอบ ดึงจุดแข็งของพื้นที่มาส่งเสริมให้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ โลกเปลี่ยนเราก็ต้องดูแลกลไกที่ขาดเพื่อปรับให้เข้าระบบ สวัสดิการที่มียังไม่ครบเราก็ต้องปรับให้ ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำประชารัฐสวัสดิการ 14.6 ล้านกว่าเข้ามาอยู่ในโครงการ มีภาระค่าใช้จ่ายเข้ามาอยู่ในโครงการ สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานตอบโจทย์ชีวิตของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน ต้องมีโครงการช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดความเชี่ยวชาญ

“ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบที่ต้องแก้ไข เราทำเต็มที่ ออมสิน ธกส. มีโครงการช่วยเหลือจะได้ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ การเข้าถึงแหล่งเงินทุกของตนเองในพื้นที่ การสร้างเครือข่ายธนาคารประชาชนดูแลโดยประชาชนเพื่อชุมชน มีออมสิน และ ธกส. ดูแลเป็นพี่เลี้ยง กำลังเตรียมการที่จะเริ่มซึ่งมีกรอบและกฎเกณฑที่ชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหา และการดูแลในยามที่ยากลำบากเวลาเกิดเหตุนอกประเทศ มีมาตรการดูแลภัยแล้ง ภัยพิบัติ ผลกระทบราคาสินค้า วันนี้มีต้นทุนการปลูกข้าว วันนี้มีเงินออกไปแล้วสู่เกษตรกร 34,000 ล้านบาท ส่วนโครงการชิมช้อบใช้ออกแบบมาเพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานราก ยึดโยงให้การบริโภคไหลเวียน เพื่อร้านค้าได้หายใจได้ ไม่ใช่การแจกเงินเฉยๆ รอบแรกที่มีประชาชนใช้ 10 ล้านคน รอบสองเช้านี้เต็มแล้ว มีร้านค้า 80,000 ร้านเข้าร่วมโครงการใช้ยาวไปถึงสิ้นปี ผลประโยชน์ตกอยู่กับพื้นที่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาพการก่อสร้างวัตถุดิบ ค่าธรรมเนียมการโอนจดจำนอง 0.1%ต่อปี วันนี้การซื้อขายที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เราอยากช่วยประชาชนที่ไม่มีบ้าน เตรียมเงินไว้แล้ว 50,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2%ต่อปี พยายามดูแลทุกคน ให้ชุมชนดูแลกันเองได้ในอนาคตส่งต่อลูกหลาน เป็นความเข้มแข็งจากชุมชน จากฐานราก” นายอุตตม กล่าว

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า วันนี้เราทราบดีถึงความยากลำบากของพี่น้อง เราจึงมาเพื่อรับทราบปัญหาและจะช่วยให้พี่น้องมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นครั้งแรกที่เราจะร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง การมีกองทุนหมู่บ้านเพียงอย่างเดียวช่วยไม่ได้ทั้งหมดเราต้องสานพลังทุกกระทรวง ในส่วนของพลังงานเราจะทำให้เป็นของทุกคนไม่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นของประชาชนทุกคน มีโซลาเซลล์จากพลังงานน้ำ นอกจากได้ไฟฟ้าใช้ในบ้าน เรายังนำมาอบสินค้าเกษตร ปีนี้เราจะสนับสนุนชุมชนที่มีความเข้มแข็งผ่านการสนับสนุนของกระทรวงพลังงาน จากการเชื่อมโยงของทุกกระทรวง ยกตัวอย่าง 40-50 ครัวเรือนที่ จ.กาญจนบุรี เขามีโซลาเซลล์บนหลังคาบ้าน ใช้ไฟฟรีจากฟ้า ตั้งแต่ลดน้ำผัก เขาปลูกผักออแกนิกไปขายโรงพยาบาล สินค้าไม่เพียงพอ ผลิตน้ำแข็งขายกิโลกรัมละ 2 บาท เป็นธุรกิจเชื่อมโยงไปมา อยากเห็นทุกหมู่บ้านทุกตำบล เราเลิกจนแน่นอน ไม่ต้องซื้อไฟใช้แต่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น จากรายได้ที่เรามี

“สิ่งที่อยากส่งเสริมอีกอย่างคือ การนำเศษไม้มาอบเป็นถ่าน นำไปใส่เตาที่ออกแบบเอง จุดต่อไปที่เตาแก๊ส ทำแก๊สใช้เอง ไม่ต้องซื้อ ทำน้ำมันดีเซลจากเศษพลาสติก คุณภาพชีวิตดีขึ้น นโยบายคือให้ประชาชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเอง ชุมชนไหนพร้อมหน่วยงานพร้อมจะร่วมลงทุน ตอนนี้มีเงินลงทุนแล้วมากกว่า 2 แสนล้านบาท พี่น้องแม่แจ่มไม่ต้องเผาซังข้าวโพดแล้ว เอามาทำโรงไฟฟ้าจากซังข้าวโพด 8 หมื่นตัน กิโลกรัมละ 70 สตางค์ จะทำให้พี่น้องมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นแสนบาทจากนโยบายประชารัฐ ทุกวันนี้ที่ให้เงิน 300-500 บาท ก็เพราะยังยากจนอยู่ พี่น้องต้องมาช่วยกันและจับมือกันประกาศว่าเราร่วมมือกัน เพื่อให้พี่น้องอยู่ดีกินดี” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ส่วนนายสุริยะ กล่าวเสริมว่า ขอชื่นชมภูมิปัญญาเกษตรกรที่สามารถผลิตสินค้าแปรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรองนากยรัฐมนตรี สิ่งที่เราตั้งเป้าคือสนับสนุน SMEs สู่ยุคดิจิทัล บ่มเพาะผู้ประกอบการให้ก้าวหน้า สิ่งสำคัญคือการมีเงินไปทำธุรกิจ ขณะนี้เรามีสินเชื่อ 3 พันล้านเพื่อธุกิจอุตสาหกรรมและแปรรูป การแพทย์ สปา สิ่งทอ และเครื่องหนัง เงินกู้ระยะยาว 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% และวงเงิน 1 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 7 ปี ในการผ่อนส่ง เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เป็นแหล่งในการสร้างงานพี่น้องประชาชน

ร.อ.ธรรมนัฐ กล่าวว่า ในฐานะคนล้านนาขอพูดคำเมืองกับพี่น้องภาคเหนือ สำหรับเชียงใหม่ถือเป็นเมืองหลวงของล้านนา โครงการประชารัฐทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาชนทุกคน รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าต้องการให้พี่น้องอยู่ดีกินดีและมีความสุข โดยเฉพาะการยกระดับพี่น้องฐานราก จากที่ดิน 40 กว่าล้านไร่ทั่วไทยที่จะจัดสรรให้พี่น้องได้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัย ทำให้พี่น้องไปต่อยอดไม่ได้จากที่ดินที่ได้รับมอบ แต่วันนี้รัฐบาลมีโครงการดีๆ มามอบให้จากแหล่งทุน แก้ปัญหานี้นอกระบบให้หมดไป เร่งฟื้นฟูตลาด อตก. ทุกแห่ง เพื่อรองรับพืชผลทางการเกษตร ให้มีหน้าที่ผลิตเพื่อส่งไปจำหน่ายในตลาดที่เราเตรียมไว้ให้ ขจัดปัญหาไม่มีที่วางจำหน่ายสินค้า ตั้งเป้าให้เกษตรและธุรกิจ SMEs กลับมามีโอกาสอีกครั้ง สังคมไทยมีความเข้มแข็งให้ได้ และพี่น้องอยู่ดีกินดีและมีความสุขจากโครงการประชารัฐ

ขณะที่นายชาติชาย กล่าวว่า การมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการเงินให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความยากจนนั้น ธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ มีแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐดังกล่าว โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง คือ 1.สร้างอาชีพ สร้างความรู้ 2.สร้างตลาด สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนรายย่อยในระดับฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เข้าถึงการพัฒนาอาชีพ ได้ฝึกฝนและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนอาชีพนอกภาคเกษตรกรในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน สามารถข้ามเส้นความยากจนมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี คิดเป็น 33% และหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี คิดเป็น 1% โดยยุทธศาสตร์ 3 สร้างของธนาคารออมสิน คือ 1.สร้างอาชีพ สร้างความรู้ ให้กับคนไทยผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชนที่ร่วมกับสถาบันการศึกษากว่า 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อฝึกอบรมเสริมศักยภาพทางอาชีพ และโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ที่ให้นักศึกษาในท้องถิ่นเข้าไปถึงประชาชนเพื่อแนะนำอาชีพและฝึกอบรม 2.สร้างตลาด สร้างรายได้ ทั้ง e-Commerce และ e-market เพื่อเป็นช่องทางการหารายได้ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการเปิดช่องทางการตลาดเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสขายสินค้าและบริการ ผ่านโครงการต่างๆของธนาคาร เช่น ตลาดประชารัฐสีชมพู ร้านค้าประชารัฐ และออมสิน e-Market Place ซึ่งครอบคลุมช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้ง Online และ Offline เป็นการช่วยสนับสนุนสินค้าและบริการของผู้มีรายได้น้อยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ด้วยการแนะนำส่งเสริมให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า ทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อ/ขาย ผ่าน QR Code ซึ่งเป็นการสร้างประวัติทางการเงิน หรือ Statement เพื่อเพิ่มความสะดวกและสามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม การมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนของรัฐบาลในครั้งนี้ ธนาคารออมสินมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านอาชีพเพื่อแนะนำและให้คำปรึกษาการเลือกอาชีพ โดยร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำตัวอย่างของอาชีพที่ประสบความสำเร็จที่ฝึกอบรมและเรียนรู้ได้ไม่ยากในระยะสั้น ได้แก่ ช่างประชารัฐ ช่างอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่างเอนกประสงค์ นอกจากนี้ ได้จัดพื้นที่สำหรับค้าขายจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ร้านค้า ซึ่งมีพ่อค้า แม่ค้าที่เป็นลูกค้าธนาคารออมสิน หน่วยงานพันธมิตร และภาคีเครือข่าย อาทิ มีการนำเสนอการค้าในตลาดออนไลน์ O2O (โอทูโอ :ออนไลน์ทูออฟไลน์) ซึ่งธนาคารออมสินได้ร่วมกับ บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ เครือเบทาโกร และ Airbnb บริษัทชั้นนำของโลกด้านธุรกิจบริการที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบนั้น ธนาคารได้เตรียมสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการประชารัฐสร้างไทย เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย ได้นำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ โดยใช้บุคคล หรือ บสย. เป็นหลักประกัน มีวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.50% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะผ่อนชำระเกิน 5 ปี (60 งวด) สามารถยื่นเรื่องขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งทั้งหมดจะมีศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก 17 ศูนย์ของธนาคารออมสิน ที่ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือ จะให้การสนับสนุนทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การให้คำปรึกษาทางการเงิน และเป็นแหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชนด้วย รวมถึงเป็นศูนย์พัฒนาอาชีพด้วย โดยคาดว่าปีหน้าจะขยายเป็น 100 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม

“ธนาคารออมสิน เชื่อมั่นว่า ด้วยการผลักดันนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ร่วมกับการประสานพลังประชารัฐของทุกภาคส่วน และภาคีเครือข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก จะทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ล้านนา 8 จังหวัดนำร่อง ประสบความสำเร็จสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่มีความกินดีอยู่ดี มีความสุข เพื่อสร้างพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะขยายผลประชารัฐสร้างไทยไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

หลังจากนั้นคณะรองนายกรัฐมนตรีได้มอบสินเชื่อให้แก่ลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท ก่อนเดินทางไปเปิดชุมชนทางน้ำ ‘กาดฮิมน้ำ @ สันทราย’ ณ เทศบาลสันทรายหลวง เยื่ยมชมบูธนิทรรศการการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามกลไก 3 สร้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image