‘นิพนธ์’ สะท้อนปัญหายาง ฝากการบ้าน ‘เอ็มเทค’​ เร่งวิจัย-พัฒนา หวังระบายสต๊อก

‘นิพนธ์’ สะท้อนปัญหายาง ฝากการบ้าน ‘เอ็มเทค’​ เร่งวิจัย-พัฒนา หวังระบายสต๊อก

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ ภายในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 ครั้งที่ 8 นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การ​บริหาร​ส่วน​จังหวัด​บึงกาฬ เปิดเผยระหว่างการจัดกิจกรรมเอ็มเทคสัญจร พบเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.บึงกาฬ ว่า ในเรื่องของราคายางพารา นอกจากจะอ้างอิงตามตลาดโลกแล้ว ส่วนหนึ่ง​ขึ้นอยู่กับงานวิจัยและพัฒนา​ ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)​ ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่เชี่ยวชาญ​เรื่องการผลิตและแปรรูป​ยางพารา เพื่อให้เกิดการนำยางในสต๊อกออกมาใช้ให้มากขึ้น

“ถ้ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหายางพาราที่เหลืออยู่ 3 ล้านตัน ในประเทศไทย เราต้องช่วยกันหาวิธีระบายสต๊อกยางที่เหลืออยู่ออกไปให้หมด ซึ่งมองว่าโครงการที่รัฐบาลกำลังเร่งปฏิบัติอยู่ ถือว่ามาถูกทาง อาทิ  โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร และการนำยางไปสร้างแบริเออร์​ เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่าหากรัฐบาล สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จะช่วยให้เกษตรกรกว่า 70% มีรายได้ รวมถึงจะช่วยให้เศรษฐกิจ​ฐานรากดีมากขึ้น ฉะนั้น ภาครัฐจะต้องให้เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนา​ให้มากขึ้น ผมขอฝากการบ้านให้นักวิจัยคิดค้นนวัตกรรม​ใหม่ๆ เพื่อเป็นผลประโยชน์​ของคนในชาติต่อไปไว้ด้วย” นายนิพนธ์​กล่าว

Advertisement

นายสุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค กล่าวว่า วิธีการระบายยาง จะต้องทำคู่ไปกับงานวิจัย ซึ่งวิธีแก้มี 3 ลักษณะ​ คือ 1.ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งตอนนี้ไทยมีคู่แข่งคือประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่า ดังนั้น ไทยต้องนำเครื่องจักรกล​เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อประโยชน์ระยะยาว 2.เพิ่มมูลค่า ต้องมีการพัฒนาคุณภาพของยางให้ดีขึ้น สร้างความแตกต่าง และ3.นำนางพารามาใช้ทดแทนในสิ่งที่เกิดประโยชน์​มากขึ้น เพื่อระบายสต๊อกยาง

“การจะพัฒนาโจทย์​ปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้ ด้วยจำนวนนักวิจัยของเอ็มเทคที่มีเพียง 30 คนนั้น จึงต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนา​แปรรูปในรูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาเครื่องอบแห้งยางพารา, เครื่องเก็บรักษาคุณภาพ​ยาง” นายสุรพิชญกล่าว

นายไพโรจน์ จิตรธรรม หัวหน้าทีมวิจัยการผสมยางและการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรม เอ็มเทค กล่าวว่า ขณะนี้ ได้มีการผลิตผลิตภัณฑ์​ยางล้อ ซึ่งทีมวิจัยมีหน้าที่พัฒนาสูตรยางให้มีประสิทธิภาพ​ มีความปลอดภัย และเป็นประโยชน์​ต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับยาง มองว่าคุณภาพยางพาราของไทยยังดีกว่าหลายประเทศในโลก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างผลิตภัณฑ์​ใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างการพัฒนาล้อรถอีแต๊ก ที่ชาวบ้านใน จ.บึงกาฬ ต้องการให้พัฒนาคุณภาพ​ให้มากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ทีมวิจัยจะทำการสำรวจและนำมาพัฒนาต่อไป

Advertisement

นายทิพย์จักร ณ ลำปาง หัวหน้าทีมวิจัยวัสดุยางและการขึ้นรูปขั้นสูง เอ็มเทค กล่าวว่า ในเรื่องของการพัฒนาและการแก้ปัญหา​ยางพารา มองว่าควรแก้ไขปัญหาโดยการสร้างผลิตภัณฑ์​ที่สามารถใช้ประโยชน์​ได้จริง อาทิ ยางขอบประตูเรือ และอุปกรณ์​ในการช่วยชีวิต หรือซีพีอาร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังได้ศึกษาในเรื่องของดินดาน เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยที่ผ่านมาได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับปรุง รวมถึงนำเครื่องจักร​เข้าไปช่วยแก้ปัญหา และจะเดินหน้าสร้างนวัตกรรม​ใหม่ๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกร​ต่อไป

นายกฤตพร อุตรา ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยวัสดุยางและการขึ้นรูปขั้นสูง กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์​ประกอบด้วย กาวดักแมลงจากยางพารา มีคุณสมบัติ​เหนียวและดักแมลงได้ดี, ถุงมือยางพารา และยางธรรมชาติ​เทอร์โมพลาสติก​  ที่จะนำไปทำเป็นกรวยจราจรและพื้นรองเท้า

นางสาวเนตรชนก ปิยฤทธิพงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการเพิ่มมาตรฐาน​ผลิตภัณฑ์หรือข้อกำหนดที่ตอบโจทย์​ความต้องการของผู้ใช้งานให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเอ็มเทคได้พัฒนาผลิตภัณฑ์​กว่า 30 ผลิตภัณฑ์​ อาทิ เส้นด้ายยางยืด, ล้อตัน นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเข้ามาปรึกษาเอ็มเทค ในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์​จากยางพาราได้ โดยทางเอ็มเทคจะช่วยจัดหาแหล่งทุน และร่วมพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน​ จากนั้นจะส่งเรื่องให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)​ เพื่อออกประกาศมาตรฐาน​ของสินค้าให้ นำไปใช้ต่อยอดธุรกิจ และส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ​ต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image