กสม.ลงพื้นที่ อ.พญาเม็งรายสอบสวนกล้วยจีน ล้งยันปลอดสารพิษ-ใช้เจาะบาดาลแทนสูบน้ำอิง

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยอนุกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย เดินทางเข้าไปยังสวนกล้วยหอมพันธุ์จีน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวคำ ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด พญาเม็งรายการเกษตร จากที่เคยใช้ชื่อบริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เนื้อที่ 2,750 ไร่ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลหลังจากที่ได้มีการร้องเรียนผ่านกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อ้างว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการปลูกกล้วยหอมของกลุ่มทุนชาวจีน

การลงพื้นที่ดังกล่าวทาง หจก.พญาเม็งรายการเกษตร ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี โดยมีนายทวนชัย วลัยสุข ผู้ดูแลสวนกล้วยหอม ให้ข้อมูลทั้งหมดและตอบคำถามกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบื้องต้นทางสวนกล้วยหอมยืนยันว่าการใช้สารเคมีนั้นยังเป็นสารเคมีที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด เพียงเอกสารที่ติดบนสารเคมี หรือปุ๋ยนั้นเป็นภาษาจีนเท่านั้น และยืนยันว่าปลอดภัยอย่างแน่นอน ทั้งนี้การปลูกกล้วยนั้นทำตามระยะเวลาที่นักวิชาการกำหนดทุกอย่าง ส่วนเรื่องที่มีความกังวลเรื่องของแหล่งน้ำนั้น จุดการปลูกกล้วยค่อนข้างห่างจากแหล่งน้ำคือแม่น้ำอิง และปัจจุบันได้ใช้น้ำจากการสูบน้ำบาดาล โดยมีการขุดเจาะไปแล้ว 3 บ่อ และเตรียมขออนุญาตขุดเจาะอีก 3 บ่อ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานก็เข้ามาตรวจสุขภาพของเกษตรกรที่เข้ามาทำงาน และการส่งกล้วยไปขายยังจีนก็ไม่พบว่ากล้วยตีกลับ แสดงให้เห็นว่ากล้วยหอมนั้นปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน

จากนั้น อนุกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงแปลงปลูกกล้วย พร้อมขอทำการเก็บตัวอย่าง ทั้งดิน น้ำจากบ่อน้ำที่ทางสวนกล้วยขุดขึ้นมา รวมทั้งน้ำที่ใช้ล้างกล้วยก่อนบรรจุกล่องส่งไปขายยังจีน เพื่อนำตัวอย่างเหล่านี้ไปตรวจหาสารเคมี

201606261547024-20021028190531

Advertisement

นางเตือนใจกล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ก็เป็นไปตามร้อง ซึ่งได้เก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อไปประกอบข้อมูล ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมกับทางส่วนราชการอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่าการร้องเรียนของชาวบ้านเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ส่วนผลจะทราบว่าเกิดอันตรายต่อผู้ประชาชนโดยรอบสวนกล้วย ทั้งเรื่องสารเคมี และน้ำอิง จะต้องรอการตรวจสอบอีกสักระยะ และนำข้อมูลมารวมกันจนชัดเจน ถึงจะแจ้งได้ว่าการร้องเรียนนั้นสวนกล้วยจะผิดหรือไม่ผิด ซึ่งการตรวจและสอบถามข้อมูลนั้นผู้ดูแลสวนกล้วยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ข้อมูลที่สังเกตของอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า พบการใช้สารเคมีฆ่าหญ้าในสวนกล้วย จะสังเกตจากระหว่างแปลงปลูกกล้วยที่ใช้และไม่ได้ใช้จะต่างกัน เพราะแปลงที่ใช้นั้นหญ้าจะเริ่มแห้งตาย และแปลงที่ยังไม่ใช้หญ้าจะเขียว จึงเป็นห่วงว่าหากมีการใช้สารเคมีมากในพื้นที่ 2,000 กว่าไร่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในรอบสวนกล้วย ซึ่งจุดนี้ก็จะเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบเช่นกัน เพราะดูเพียงสายตาไม่เพียงพอจะต้องมีผลการตรวจอย่างเป็นทางการด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image