ปศุสัตว์เผย ม้าแข่งฟาร์มชื่อดังปากช่อง 47 ตัว ล้มตายด้วยกาฬโรค ยันไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19

ทุกข์ซ้ำกรรมซัดวงการม้าแข่งไทย กาฬโรคแอฟริกาในม้าระบาด ม้าแข่งในฟาร์มม้าชื่อดังปากช่องล้มตายเฉียบพลัน 47 ตัว ก่อนหน้านี้ถูกพิษโควิด-19 เล่นงานให้ปิดสนามม้ายาว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 มีนาคม นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสอบม้าป่วยตายเฉียบพลันพร้อมกันจำนวนมากที่ฟาร์มม้าจำนวน 11 แห่ง ในเขต ต.ขนงพระ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเพาะพันธุ์ม้าแข่งชื่อดังของประเทศไทย พบม้าแข่งชื่อดังทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งลูกม้าแข่งล้มป่วยด้วยอาการขอบตาบวมแดง หน้าตาบวม หายใจติดขัดเสียงดังก่อนเกร็งและตายในเวลาต่อมา โดยเฉพาะ “ม้าใจสิงห์” พ่อสปอร์ตวิว แม่ไวเซอร์เคิล อายุ 22 ปี ฟาร์มเคเค ของนายกำธร ตรีวิศวะเวทย์ หรือเสี่ยฉิ่ง ช.การช่าง ม้าแข่งชื่อดังในอดีต มีประวัติเคยคว้าถ้วยพระราชทานดาร์บี้ คิงส์คัพ และถ้วยอื่นๆ ทุกสนามม้าในประเทศไทย จำนวนหลาย 10 ถ้วยรางวัล ได้สร้างความเสียใจให้กับผู้ดูแลและแฟนชาวอาชาที่ทราบข่าว

นายพศวีร์ ปศุสัตว์ จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานมีม้าป่วยตายมาตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีจำนวน 47 ตัว โดยมีอาการไข้สูง เหงือกซีด น้ำลายไหล ไม่กินอาหารและหายใจหอบถี่ เมื่อแสดงอาการแล้วจะตายใน 24-48 ชั่วโมง ตรวจสอบม้าเป็นกาฬโรคแอฟริกาในม้า สาเหตุเกิดจากแมลงดูดเลือดเช่นตัวริ้น ยุง เห็บ เป็นพาหะนำโรค ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรก

ตนได้สั่งการให้ อ.ปากช่อง เป็นพื้นที่กักโรค ห้ามเคลื่อนย้ายม้าพร้อมแนะนำฟาร์มทำระบบป้องกันโรคทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด พ่นยาฆ่าเชื้อ ห้ามบุคคลภายนอกเข้า ส่วนเจ้าของและผู้เลี้ยงต้องล้างทำความสะอาดยานพาหนะและแช่รองเท้าในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยให้ป้องกันแมลงดูดเลือดในสัตว์ กางมุ้งให้ม้า แยกม้าป่วย รวมถึงแยกคนเลี้ยงม้าป่วยกับม้าปกติ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ เป็นคนละชุด คนเลี้ยงม้าต้องสวมถุงมือ ล้างมือหลังสัมผัสม้า หลีกเลี่ยงนำม้าไปอาบน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนม้าที่ตายให้กำจัดซากโดยการฝังกลบ ขอยืนยันโรคดังกล่าวไม่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้

Advertisement

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สนามม้าแข่ง จ.เชียงใหม่ ได้ประกาศปิดสนามถาวรและต้นเดือน มี.ค. จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีคำสั่งให้ปิดสนามม้าแข่งในกรุงเทพฯ โคราชและอุดรธานี ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการม้าแข่งที่มีจำนวนกว่า 500 ตัว ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายประกอบด้วยค่าแรงคนเลี้ยงม้า ค่าอุปกรณ์อาหาร-วิตามิน ยาบำรุง เกือกม้า และค่าฝึกซ้อมเฉลี่ยเดือนละประมาณ 17,000-20,000 บาทต่อตัว ซึ่งคอกม้าชื่อดังในโคราช ประกาศขายม้าแข่งแต่ก็ไม่มีใครติดต่อซื้อแต่อย่างใด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานี​โต อธิบดีกรมปศุสัตว์​ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวม้าล้มตายกะทันหันที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ว่าหลังจากได้รับเรื่องดังกล่าว ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ลงไปดูคอกม้าในพื้นที่เกิดเหตุ พบมีม้าป่วย 11 คอก อาการซึมไม่กินอาหาร มีจุดเลือดออกที่เยื่อบุตา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และสำนักงานควบคุมบำบัดโรคสัตว์ ได้เก็บตัวอย่างทางระบาดวิทยา ซึ่งผลพบว่าม้าเป็นโรคติดต่อในสัตว์ หรือกาฬโรคในม้า ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่พบครั้งแรกในประเทศไทยในขณะนี้

ทั้งนี้ กาฬโรคในม้าเกิดจากเชื้อไวรัส โดยจะเกิดขึ้นในสัตว์เท่านั้น หรือส่วนใหญ่จะพบเจอในม้า ลา และล่อ ซึ่งเกิดจากการโดนริ้น หรือยุงกัด โดยประเทศที่เคยพบเป็นแบบเฉียบพลันรุนแรง อาทิ อินเดีย ปากีสถาน และโมร็อกโก เป็นต้น

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า หลังจากนี้ จะสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบคอกม้าทุกคอกในพื้นที่ และขอให้ทำลายมูลม้า และแหล่งรวบรวมเชื้อโรค รวมถึงงดเคลื่อนย้ายม้า งดพาไปอาบน้ำที่แหล่งน้ำธรรมชาติ งดนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาให้สัตว์กิน และงดการนำม้าใหม่มาเลี้ยง

“ยืนยันว่าม้าที่เสียชีวิตเหล่านี้ ไม่ได้มาจากไวรัสโควิด-19 จากการชันสูตรพบว่าเป็นโรคกาฬโรคในม้า ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ และมีวัคซีนรักษา โดยหลังจากนี้จะมีการประสานกับสมาคมคนเลี้ยงม้าแห่งประเทศไทย ในการดูแลและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นผู้เลี้ยงสามารถป้องกันได้โดยการทำมุ้ง เพื่อป้องกันริ้นหรือยุงให้กับม้า และลดการเกิดโรคดังกล่าวต่อไป” นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมฯขอความร่วมมือให้เจ้าของม้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการที่กล่าวไปข้างต้น ขอให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัดทันที เพื่อทำการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image