หาดใหญ่โพลชี้ ปชช.14 จังหวัด ห่วงทีมเศรษฐกิจใหม่ ‘บิ๊กตู่’ แก้โควิดไม่ต่อเนื่อง

หาดใหญ่โพลชี้ ปชช.14 จังหวัด ห่วงทีมเศรษฐกิจใหม่ ‘บิ๊กตู่’ แก้โควิดไม่ต่อเนื่อง 

ดัชนีความเชื่อมั่นประชาชน 14 ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เงยหัวเล็กน้อย ศบค.คลายล็อคเฟส 5 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว กังวล ”ทีมเศรษฐกิจ ครม.ประยุทธ์ 2/2” แก้ปัญหาเศรษฐกิจกระทบจากโควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เปิดเผย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ 420 ตัวอย่างด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือน ก.ค.ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเพิ่มเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มิ.ย. จากการที่ ศบค.ได้ทำการคลายล็อคระยะที่ 5 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โครงการมอบส่วนลด เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย”

ผศ.ดร.วิวัฒน์ เปิดเผยว่าการส่งออกการขนส่งสินค้าที่คล่องตัวขึ้น การค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างเริ่มผ่อนคลายเปิดจุดผ่านแดนสำคัญให้สามารถทำการขนส่งสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น การขนส่งสินค้าชายแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดำเนินการ

ทั้งนี้ ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการได้เดินทางพักผ่อน ท่องเที่ยวและพบปะเพื่อนญาติในช่วงวันหยุดยาว วันที่ 25-28 กรกฎาคมที่ผ่านมา

Advertisement

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนเดือน ก.ค.ยังต่ำกว่าเดือน ม.ค.-มี.ค.63 ก่อนวิกฤตโควิด-19 สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ และของประเทศไทยยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศบราซิล และประเทศใกล้กับประเทศไทยคือประเทศอินเดีย

ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การลดจำนวนการผลิตและชะลอการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ที่ประสบกับสภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่องจากผลดำเนินงานไตรมาส2ส่วนใหญ่ขาดทุน ภาคธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด บางรายต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายไว้ได้

ขณะเดียวกันแม้ว่าภาครัฐจะคลายล็อคแล้วแต่การบริโภคของประชาชนคนไทยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อรายได้ของกิจการ โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการและการท่องเที่ยว จำนวนไม่น้อยที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด้วยคนไทยส่วนหนึ่งยังมีความกังวลในความไม่แน่นอนของโควิด-19 ระลอก 2 จึงไม่เดินทางไปไหนหากไม่จำเป็น ไม่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนจำนวนมาก ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคใต้ และเศรษฐกิจของประเทศยังจะอยู่ในภาวะที่ถดถอยอีกระยะเวลาหนึ่ง จึงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย และเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น

“ประชาชนภาคใต้จำนวนมากมีภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นผู้ประกอบการกิจการขนาดกลาง และขนาดเล็กและในหลากหลายอาชีพ ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยเพิ่มสูงขึ้น การกู้เงินนอกระบบก็เพิ่มสูงขึ้น” ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจฯ กล่าว

ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการของภาครัฐและข้อเสนอแนะ พบว่า ภาครัฐควรสนับสนุนการคิดค้นผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างเร่งเด่น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดำเนินไปได้อย่างปกติ

ทว่านโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายอย่างไม่ตรงกับปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากการออกข้อกำหนดเหมือนกันทั่วประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสอบถามปัญหาและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นภาครัฐควรพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น โดยจัดโครงการในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ และให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้แก่คนในพื้นที่

“ประชาชนกังวลคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งขาดความต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 และเสนอให้ภาครัฐนำปัญหาความยากจนของคนในชาติเป็นวาระแห่งชาติ และดำเนินงานแบบเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน”

ส่วนปัจจัยที่ประชาชนมองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 29.10 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ร้อยละ 27.20 และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำร้อยละ18.30 ปัญหาเร่งด่วนรัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image