ม.สวนดุสิต ตรัง เนรมิตพื้นที่ปลูก ‘เมล่อน’ ผลผลิตงาม ออเดอร์แน่น

ม.สวนดุสิต ตรัง
เนรมิตพื้นที่ปลูก ‘เมล่อน’
ผลผลิตงาม ออเดอร์แน่น

ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง เลขที่ 111 ถนนเพชรเกษม ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ดร.สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ตรัง ได้มีการปลูกเมล่อนด้วยการทำโรงเรือน เป็นโครงการที่เกิดขึ้นช่วงสถานการณ์โควิด-19 นักศึกษามาอยู่หอพักและไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอน จึงได้ร่วมกับทางคณะอาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ทำแปลงผัก สวนเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญได้ร่วมกันปลูกเมล่อน ซึ่งเป็นพืชที่มีราคาแพง และการปลูกได้คาดหวังที่จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการปลูก การดูแล จนเก็บผลผลิต แล้วนำผลผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านอาหาร ซึ่งมีเรียนหลักสูตรเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นทาง ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายทาง จนออกมาเป็นสินค้าที่จะส่งให้กับลูกค้าอย่างมีคุณภาพ

ดร.สฤษดิ์กล่าวอีกว่า การสร้างโรงเรือน ขนาด 6×12 เมตร เมล็ดพันธุ์ปุ๋ย ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่ง ประมาณ 1 แสนบาท ให้เป็นทุนในการเริ่มต้น สำหรับนักศึกษาจะมีส่วนร่วมในเรื่องของการดูแล ปลูก ใส่ปุ๋ย ไปเรียนรู้จากที่อื่นแล้วมาดูแลที่นี่ เหมือนกับเป็นเจ้าของ โดยได้มีการปลูกเมล่อนจำนวน 187 ต้น มีทั้งเมล่อนสายพันธุ์กรีนเน็ต เนื้อสีเขียว และเมล่อนสายพันธุ์อัลฟ่า เนื้อสีส้ม ใช้เวลาในการปลูกจนถึงการเก็บผลผลิตรวม 90 วัน การปลูกเมล่อนครั้งแรกถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย อัตราการตายเสียหายไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการดูแลตั้งแต่เริ่มต้นการปลูก ใส่ปุ๋ย ป้องกันเชื้อรา แมลงต่างๆ และต้องมาตัดแต่งกิ่งทุกวันทั้งเช้าและเย็น ร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่และนักศึกษา ผลผลิตที่ได้มีน้ำหนักต่อลูก มากกว่า 1.6 กิโลกรัมขึ้นไป เกือบถึง 2 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานของผลเมล่อน” ส่วนความหวาน ปกติทั่วไปตามท้องตลาด อยู่ที่ประมาณ 16-17 บริกซ์ แต่ของเราเมื่อวัดความหวานแล้วได้อยู่ที่ 18 บริกซ์ ถือว่าหวาน ส่วนด้านการตลาดได้เปิดให้สั่งจองล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเก็บผลผลิต เริ่มเก็บวันที่ 14 กันยายน แต่วันที่ 15 กันยายน มียอดสั่งจองมาแล้ว จำนวน 110 ลูก ทั้งจากกรุงเทพฯและคนที่รู้จัก ก็คาดว่าก่อนจะถึงวันเก็บในวันที่ 19 กันยายน ยอดจองก็คงจะเต็ม และการต่อยอดการปลูกเมล่อน ได้เก็บผลผลิตเมล่อนส่วนหนึ่งไว้ให้สำหรับนักศึกษาได้นำไปแปรรูปเป็นขนม เป็นอาหาร เป็นวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร เพื่อให้นักศึกษาได้รังสรรค์เมนูใหม่ๆ ขึ้นมา ที่ใช้ในการเรียนการสอน เขาได้รู้เห็นตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นการสร้างวัตถุดิบในการมีส่วนร่วมและมีการขายวัตถุดิบที่ร้านกาแฟ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มนำมารังสรรค์เมนูใหม่ๆ ส่วนราคาผลเมล่อนสด ผลเมล่อนสายพันธุ์กรีนเน็ต เนื้อสีเขียว จะขายในราคากิโลกรัมละ 160 บาท และผลเมล่อนสายพันธุ์อัลฟ่า เนื้อสีส้ม จะขายในราคากิโลกรัมละ 180 บาท”นายพุฒิพงศ์ ล่องตี้ และ น.ส.จีรภัทร พุทธสโร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง กล่าวว่า ได้มีส่วนร่วมในการปลูกเมล่อนตั้งแต่การปลูกเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลแปลงเมล่อน ตั้งแต่การเพาะ เตรียมขุยมะพร้าว พอต้นเมล่อนเริ่มโตก็เริ่มขึ้นค้างเมล่อน และผสมเกสร ต้องผสมเกสรเอง รู้สึกว่าได้มีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเมล่อนและเป็นที่สนใจของตนเองด้วย เผื่อจะได้นำไปต่อยอด ปลูกเมล่อนเองในอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งการดูแลเมล่อนถือว่ายากมาก จะต้องใส่ใจทุกรายละเอียดมาก แมลงสักตัวก็จะเข้าไปไม่ได้ ส่วนการต่อยอดนำผลผลิตไปเป็นวัตถุดิบในการทำขนม ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยฯ ทั้งนี้ หากมีลูกค้าสนใจยังสามารถสั่งจองสั่งซื้อกันได้ ซึ่งยังมีเหลืออีกประมาณ 70 ลูก เป็นผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด

 

สามารถเข้ามาติดต่อได้ที่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง อ.ห้วยยอด ทางเพจ DusitTrang : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง หรือ สำนักงานหอพัก โทร 0-7550-0888 ต่อ 6850 และโทร 08-3644-0389 เมธาวดี อ่อนรู้ที่ หรือตาล ในเวลาราชการ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image