รวบโจรสาวแม่ลูกอ่อน ขายของบังหน้า หลอกขายบัตรคอนเสิร์ต เหยื่อกว่า 60 ราย

รวบโจรสาวแม่ลูกอ่อน ขายของบังหน้า หลอกขายบัตรคอนเสิร์ต เหยื่อกว่า 60 ราย

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ตำรวจชุดสืบสวน ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 ควบคุมตัว น.ส.จิราภา พันธุ์ชัย อายุ 29 ปี ชาวจังหวัดกาาญจนบุรี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ในข้อกล่าวหาฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันบิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือโดยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนมาสอบสวนปากคำ โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ชุดสืบสวนได้ติดตามไปจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่หน้าร้านขายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมยึดของกลาง สมุดบัญชีเงินฝาก โทรศัพท์มือถือ และโน้ตบุ๊ก มาตรวจสอบ โดยมี พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี ผู้บังคับการสืบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 5 เป็นผู้สอบปากคำผู้ต้องหาด้วยตัวเอง

โดยคดีนี้มีผู้เสียหายหลายรายเข้าแจ้งแจ้งไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ว่า ถูกคนร้ายไม่ทราบว่าเป็นใครหลอกขายบัตรคอนเสิร์ตที่มาจัดในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยโพสต์ขายไว้ในแอพพลิเคชันทวิตเตอร์ หลังผู้เสียหลงเชื่อและโอนเงินค่าบัตรไปให้ กลับไม่ได้บัตรเข้าชมคอนเสิร์ต และเมื่อติดต่อไปยังเจ้าของบัญชีที่โอนเงินไปให้ ก็ทราบว่าเจ้าของบัญชีเองก็ถูกหลอกเอาบัญชีธนาคารไปเช่นเดียวกัน ต่อมาชุดสืบสวนได้แกะรอยคนร้ายที่ก่อเหตุโดยติดตามจากข้อมูลในระบบโซเชียล กระทั่งพบว่าผู้ต้องหาคือนางสาวจิราภา ซึ่งเคยถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาลักษณะเดียวกันเมื่อปี 2555 ก่อนจะถูกจับกุมได้เมื่อปี 2559 จนถูกจำคุกก่อนพ้นโทษออกมา และกลับมาก่อเหตุซ้ำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยพบว่าผู้ต้องหารายนี้มีหมายจับถึง 7 คดี ตั้งแต่ปี 2559 จนถึง 2563 ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง , จังหวัดปราจีนบุรี , จังหวัดสุพรรณบุรี , จังหวัดข่อนแก่น และกรุงเทพมหานคร อีก 2 หมาย

ด้าน น.ส.จิราภา ผู้ต้องหารับสารภาพว่า จะขายบัตรคอนเสิร์ตโดยใช้กลวิธีโพสต์ขายในโซเชียล ขณะเดียวกันก็จะเปิดบัญชีเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา เพื่อโพสต์ปล่อยเงินกู้ออนไลน์ โดยจะให้ลูกค้าที่สนใจส่งข้อมูลเลขที่บัญชีมาให้ พร้อมลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัว จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวมาลงทะเบียนเปิดแอปพลิเคชั่นของธนาคารผู้เสียหาย หากมีคนสนใจซื้อบัตรคอนเสิร์ตและโอนเงินมา ก็จะให้โอนเข้าบัญชีของผู้ที่ต้องการกู้เงินออนไลน์ พร้อมกับล่อลวงทางโทรศัพท์กับผู้เสียหายที่จะกู้เงินส่งรหัส OTP มาให้ จากนั้นตนจะเข้าไปทำธุรกรรมในแอปพลิเคชั่นของธนาคาร และเมื่อได้รหัสกดเงินก็จะรีบกดเงินออกจากบัญชีทางตู้เอทีเอ็มทันที

Advertisement

“ยอมรับว่าหลังพ้นคุกก็ไม่อยากทำผิดอีกเพราะเข็ดหลาบแล้ว แต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ครอบครัวตกงานกันทั้งบ้าน และตนเองยังตั้งท้องด้วย จึงต้องกลับมาทำ และพยายามเปลี่ยนชื่อบัญชีในเฟซบุ๊ก รวมทั้งย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ เพราะรู้ว่าถูกตำรวจตามจับอยู่ โดยสาเหตุที่จำเป็นต้องกลับมาทำผิดซ้ำอีกเพราะต้องหาเงินเลี้ยงลูกวัย 2 เดือน ที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลงเชื่อประมาณ 50 – 60 ราย แต่ละคอนเสิร์ตจะได้เงินประมาณ 5 – 6 หมื่นบาท รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 7 แสนบาท โดยหลังถูกจับก็พยายามเจรจากับผู้เสียหายเพื่อทยอยคืนเงินให้แล้ว

ขณะที่ พล.ต.ต.วีรชน กล่าวว่า คดีนี้ชุดสืบสวนได้ใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยีในการสืบสวน กระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จึงขอฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อบุคคลแปลกหน้าให้ข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะเลขที่บัญชี และรหัส OTP อย่างเด็ดขาดเพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ได้ หลังสอบปากคำเจ้าหน้าที่ได้คุมตัว น.ส.จิราภา ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image