“อุปทูตฯสหรัฐ” หารือแก้ ‘ฝุ่น’เชียงใหม่ ผู้ว่าฯเผยปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว

“อุปทูตฯสหรัฐ” หารือแก้ ‘ฝุ่น’เชียงใหม่ ผู้ว่าฯเผยปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 มีนาคม 2564 นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และนายฌอน โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่ พร้อมคณะเข้าเยี่ยมคารวะนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสเยือนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ร่วมให้ข้อมูล

นายเจริญฤทธิ์ กล่าวว่า กระแสลมจากตะวันออกและตะวันตกมาหมุนวนอยู่ ทำให้ควันขังตัวอยู่ในพื้นที่หากอากาศเริ่มระบายก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปีนี้ไม่รุนแรงและลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ คือ ภูมิอากาศ ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยไม่ให้เกิดจุดความร้อน ควบคุมไม่ให้ไฟเกิด เพราะขณะนี้คือการบริหารเชื้อเพลิงหยุดหมด เหลือเพียงการดำเนินคดีไฟที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้องบอกว่าทางสหรัฐอเมริกาบอกแล้วว่า สาเหตุที่เชียงใหม่มีค่าดัชนีอากาศพุ่งติดอันดับหนึ่งโลก เพราะมีการตั้งจุดตรวจวัดไว้เพียงสองที่ คือ กรุงเทพมหานคร กับเชียงใหม่ แต่หากไปดู PM2.5 จะเห็นว่ามีจังหวัดที่สูงกว่าเรามาก แต่ตรวจวัดไมไ่ด้ ปีนี้ PM2.5 น้อยลง 60% แต่คุณภาพอากาศแย่กว่าปีที่แล้ว เพราะภูมิอากาศไม่ระบาย

Advertisement

นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า ในเรื่องมลพิษทางอากาศได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ว่า เป็นปัญหาและเราตระหนักดีว่าทางเชียงใหม่พยายามลดปัญหา และพบว่าปีนี้จุดความร้อนลดลงมาก ซึ่งที่ผ่านมาเราสนับสนุนรองเท้าบูทต้านไฟ ที่ใช้ดับไฟป่าและอุปกรณ์สำคัญในการทำงานดับไฟป่าแก่เจ้าหน้าที่ แนวทางแก้ปัญหาที่อยากสนับสนุนคือ ข้อมูลมลพิษจากการใช้ดาวเทียม 2 โครงการ ผ่านระบบแม่โขงเซอร์เวียร์ เพื่อติดตามสถาวะมลพิษได้ล่วงหน้า 3 วัน ทำให้ทราบว่าสภาพอากาศจะเกิดอะไรบ้างเพื่อหาทางแก้ไขในเวลาและจุดไหนได้อย่างแม่นยำ และมีการมอบทุนให้เปล่า 3 แสนเหรียญ ไม่เพียงมอบให้ไทย แต่ในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อใช้พัฒนาเครื่องมือมาพยากรณ์สภาพอากาศที่เป็นมลพิษ และจ้างบริษัทเอกชน RTI และสำนักวิจัยดาราศาสตร์ ในการขับเคลื่อนความช่วยเหลือปัญหามลพิษในพื้นที่

“หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผมเลือกมาเยือนเชียงใหม่เป็นที่แรกหลังการรักษาการฯ เพื่อร่วมสังเกตการณ์ หนึ่งในความร่วมมือที่เรามีศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ หรือ CDC มาตั้งที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐอเมริกา เรามีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยในเรื่องวัคซีน พัฒนาโรคต่างๆ รวมทั้งโควิด-19 และมีการช่วยกันพัฒนาชุดตรวจสอบและสถานที่ตรวจสอบโควิด-19 และมอบเครื่องช่วยหายใจ 12 เครื่อง มูลค่า 410,000 เหรียญ ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนในประเทศไทย อาทิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศมอบชุดตรวจสอบโควิด-19 หลายพันชุดให้กับจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งร่วมมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการตรวจสอบไร้สัมผัสโดยใช้รถยนต์แทน ตลอดจนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาวัคซีนวัคซีนโควิด-19 ด้วย และหลังหมดจากภัยโรคระบาด ผมมั่นใจว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีอนาคตสดใสรออยู่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ซึ่งสหรัฐอเมริกายินดีให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนต่อไป” นายไมเคิล ฮีธ กล่าว

Advertisement

นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ (ทสจ.) กล่าวว่า ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว สำหรับปีนี้เชียงใหม่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง มีการควบคุมจุดความร้อน หรือฮอตสปอต จากการเผาได้ดีกว่าปีที่แล้ว โดยพบว่าจุดเผาลดลงไปกว่า 35% จากปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้สภาพอากาศค่าฝุ่นของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ค่อนข้างจะสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ คือ กระแสลม และประกอบกับที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาปรากฏการณ์ลานิญญ่า เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกประสบคือ หน้าหนาวยาวนานกว่าปกติ

“ฤดูหนาวเรารู้อยู่แล้วว่า เป็นความกดอากาศต่ำ ทำให้การระบายอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างลำบาก และกระแสลมในเดือนที่ผ่านมาพัดพามาจากทางประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และฝั่งทางแม่ฮ่องสอน อย่างสถานการณ์ฝุ่นควันขนาดหนักเมื่อวานที่เกิดขึ้น พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีจุดฮอตสปอตเกิดขึ้นแค่ 109 จุด ขณะที่แม่ฮ่องสอนมีมากถึง 400 กว่าจุด ประเทศพม่า 6,000 กว่าจุด ลมทั้งหมดพัดฝุ่นมารวมที่เชียงใหม่ จึงทำให้สภาพอากาศช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาและอาจจะอีก 2-3 วันข้างหน้า เชียงใหม่จะมีสภาพฝุ่นที่เกินค่ามาตรฐานค่อนข้างสูง จึงขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนว่าช่วงนี้ควรงดออกทำกิจกรรมในพื้นที่โล่ง หรือหากมีความจำเป็นต้องออกไปในที่โล่งจริงๆ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย แบบ N95 ที่สามารถป้องกันอันตรายจากฝุ่นควัน PM2.5 ได้ ตอนนี้เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้ใน 3 วัน อากาศในอีก 3 วันข้างหน้าก็ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่นะครับ” นายสมบูรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามในช่วงเช้าวันนี้ มณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) จัดกิจกรรม ‘ โครงการพ่นละอองน้ำและล้างทำความสะอาดถนนเพื่ออากาศสดใสเชียงใหม่ไร้ฝุ่นควัน‘ ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ระดมกำลังออกลาดตระเวนผืนป่าเพื่อดับไฟทุกจุดให้หมดตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ขณะที่ พล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า กองบัญชาการฯจัดกำลังของชุดลาดตระเวน ทั้ง 6 ชุดปฏิบัติการ จำนวน 60 นาย ในจังหวัดเชียงใหม่ ออกปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2564 เพื่อลาดตระเวนในพื้นที่ อ.อมก๋อย อ.ดอยสะเก็ด อ.เชียงดาว อ.สะเมิง และ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ขณะที่กำลังทหารพรานจาก กรมทหารพรานที่ 35 จัดกำลังพล จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ จำนวน 35 นาย ลาดตระเวนและดับไฟป่าในพื้นที่ดอยพระบาท อ.เมือง จังหวัดลำปาง เพื่อควบคุมจุดความร้อนในแต่ละพื้นที่ตามข้อสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 3

ทั้งนี้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือตอนบน เริ่มมีผลกระทบกับประชาชน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก และจังหวัดพะเยา โดยภาพรวมภาคเหนือมีค่า PM2.5 ระหว่าง 36 – 275 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ค่า PM10 ระหว่าง 52 – 292 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI ระหว่าง 28 – 385 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการตรวจสอบสาเหตุพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดการจุดไฟหาของป่า, การเผาเศษวัชพืช และการเผาเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร ประกอบกับในระยะนี้ภาคเหนือตอนบนที่มีลมตะวันตกพัดปกคลุม จึงทำให้การสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควัน โดยเช้าวันนี้เกิดจุดความร้อนในภาคเหนือ 17 จังหวัด จำนวน 926 จุด เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 617 จุด พื้นที่ป่าสงวนฯ จำนวน 283 จุด โดยพบจุดความร้อนสูงสุดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 442 จุด จังหวัดเชียงใหม่ 211 จุด และจังหวัดตาก 108 จุด

ทางด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยกราฟแสดงข้อมูลฝุ่น PM2.5 จากเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) บ่งชี้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในแต่ละช่วงเวลา นำข้อมูลมาประยุกต์กับแบบจำลองคุณภาพอากาศ สามารถคาดการณ์อัตราการเกิดฝุ่นล่วงหน้าได้ 3 วัน แม่นยำถึง 80% โดยกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สดร. (Atmospheric Research Unit of NARIT : ARUN) ตรวจวัดโดยใช้เทคโนโลยีไลดาร์ (Light Detection and Ranging: LiDAR) เครื่องมือวิจัยและเก็บข้อมูลการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศ สามารถบ่งชี้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในแต่ละช่วงเวลา ช่วยประมาณการกระจายตัว การเคลื่อนที่ การเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสะสมตัวของฝุ่นละอองและมลพิษต่าง ๆ ในอากาศได้ จากกราฟแสดงการผันแปรประจำวันระหว่างระดับชั้นความสูงผสมกับค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2564 สรุปได้ว่าค่าเฉลี่ยและค่ากลางมัธยฐาน ของระดับชั้นความสูงผสมจะแปรผกผันกับค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองในอากาศในแต่ละช่วงเวลา กล่าวคือ “หากระดับชั้นความสูงผสมกดต่ำลง จะมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง หากระดับชั้นความสูงผสมลอยตัวสูง จะมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองต่ำ ซึ่ง ดร. โรนัลด์ มาคาทังงัย (Dr.Ronald Macatangay) ดร. ฐิฏาพร สุภาษี และนายจิระศักดิ์ น้อยสะปุ๋ง ทีมวิจัยบรรยากาศ สดร. เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแบบจำลองคาดการณ์ระดับชั้นความสูงผสมในแนวผกผันของชั้นบรรยากาศในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ โดยคาดการณ์ล่วงหน้าจำนวน 3 วัน พบว่ามีค่าความแม่นยำถึง 80%

ดร. วนิสา สุรพิพิธ นักวิจัยชำนาญการ กลุ่มวิจัยบรรยากาศ สดร. กล่าวว่า การประมาณลักษณะเฉพาะทางอุตุนิยมวิทยาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นความสูงผสม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างแบบจำลองคุณภาพอากาศ และเป็นปัจจัยหลักของการจำลองสภาพชั้นขอบเขตบรรยากาศโดยอาศัยชั้นอุณหภูมิผกผัน (อากาศเย็นด้านล่าง ร้อนด้านบน เนื่องจากเชียงใหม่มีความร้อนจากตัวเมืองในช่วงกลางวัน ที่ค่อยๆ คายออกในช่วงกลางคืน) โดยทั่วไปการประมาณการค่าความแม่นยำของระดับชั้นความสูงผสมในลักษณะภูมิประเทศแบบเทือกเขาสูง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ โดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์นั้น ต้องอาศัยผลการตรวจวัดจริงรายชั่วโมง ดังนั้นการนำเทคโนโลยีไลดาร์ ที่สามารถเก็บข้อมูลรายนาทีเพื่อเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงได้ มาประยุกต์ใช้ควบคู่กับแบบจำลองทางอากาศ จะช่วยประมาณการระดับชั้นความสูงผสมจากแบบจำลองคุณภาพอากาศได้แม่นยำมากขึ้น และยังจะช่วยให้สามารถคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศได้

“ทีมวิจัยของกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สดร. คาดการณ์ว่า ในช่วงนี้ภาคเหนือตอนบนจะมีหมอกควันปกคลุมไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากในเดือนมีนาคมมีช่วงเวลากลางวันยาวนานขึ้น และมีแสงอาทิตย์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศช่วงกลางวันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการก่อตัวของละอองลอยขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ดังนั้นการเผาในที่โล่งแม้เพียงเล็กน้อยจะทำให้ฝุ่นละอองสะสมตัวในอากาศ ไม่หายไปไหน ประกอบกับสภาพอากาศแห้งและไม่มีลม ทำให้ไม่สามารถเกิดเมฆฝน แนะนำให้งดการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด และลดการขับขี่ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานต่ำ สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้อยู่ในบ้านหรือห้องปิดที่มีเครื่องฟอกอากาศ หากต้องเดินทางให้สวมหน้ากากกัน PM2.5 ตลอดเวลาจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” ดร. วนิสา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image