อธิบดีกรมฯน้ำบาดาล ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์แล้ง พร้อมแจกแกลลอนไว้ใส่น้ำ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ 26 มี.ค.64 ที่ที่ว่าการอำเภอเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมกับพบปะประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการศึกษา สำรวจ และรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึก ในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน เพื่อหาแหล่งน้ำบาดาลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก พร้อมกับแจกจ่ายแกลลอนให้กับตัวแทนประชาชนในพื้นที่อำเภอเลาขวัญ โดยมี นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) พร้อมเจ้าหน้าที่ รวมทั้งนายอำเภอเลาขวัญ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ให้การต้อนรับ

จากนั้นเวลา 15.00 น. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เดินทางไปพบปะพี่น้องประชาชนชาวตำบลห้วยกระเจาที่บริเวณห้องประชุมที่ว่าการอำเภอห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี พร้อมแจกจ่ายแกลลอนขนาด 5 และ 20 ลิตร ให้กับประชาชน โดยมี นางสาวเบญจวรรณ ฟักแก้ว นายอำเภอห้วยกระเจา รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่และประชาชนหลายร้อยคนให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยภายหลังว่า วันนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำแกลลอนมามอบให้กับอำเภอเลาขวัญและอำเภอห้วยกระเจา เพื่อนำไปเป็นภาชนะในการใส่น้ำเอาไว้สำหรับดื่มที่บริเวณสถานที่ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดเตรียมเอาไว้คือบริเวณบ่อบาดาลที่เราขุดเจาะเอาไว้และได้มีการจัดเตรียมน้ำเอาไว้เพื่อให้ประชาชนได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งวันนี้เราได้นำแกลลอนขนาด 5 ลิตรและ 20 ลิตรมาแจกจ่ายให้กับประชาชนบางส่วน สำหรับวันนี้เราแจกจ่ายไปแล้ว จำนวน 2,000 แกลลอน
ปัจจุบันนี้กรมทรัพยากรย้ำบาดาลไปดำเนินการขุดเจาะหาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่อำเภอเลาขวัญและอำเภอห้วยกระเจา เพราะทั้งสองอำเภอเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งมาก และถือว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากทุกปี บางปีแล้งนานถึง 10 เดือน น้ำที่มีอยู่บนดินก็ไม่เพียงพอโดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงต้นปีคือช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ดังนั้นกรมทรพยากรน้ำบาดาลจึงพยายามน้ำน้ำใต้ดินขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคซึ่งจะมีตลอดทั้งปี

สำหรับการขุดเจาะบาดาลในพื้นที่บ้านทุ่งคูณ หมู่ 19 ต.ห้วยกระเจา ขณะนี้เจาะเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแค่ขั้นตอนการออกแบบเพื่อทำระบบส่งน้ำระยะไกล คาดว่าภายในเดือนเมษายน ก็จะสามารถสร้างระบบส่งน้ำให้กับประชาชนได้ สำหรับประชาชนที่จะได้รับประโยชน์นั้นคือได้รับประโยชน์กันทั้งตำบล รวมทั้งผู้ที่ผ่านไปมา เพราะเรามีระบบกระจายน้ำแบบงวงช้าง ซึ่งทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงสามารถมารับได้
สำหรับบริเวณพุโซดาบาดาล ปัจจุบันก็ยังคงพุอยู่เหมือนเดิม ซึ่งประชาชนยังคงเดินทางมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มีนักวิทยาศาสตร์มาประจำเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานน้ำดื่มทุกวัน

Advertisement

ด้าน นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า การลงตรวจราชการเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งประกอบด้วย 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยกระเจา ตำบลวังไผ่ ตำบลดอนแสลบ และตำบลสระลงเรือ จำนวน 73 หมู่บ้าน

ในวันนี้จากข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอห้วยกระเจา ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซากยาวนานมากกว่า 30 ปี ดังนั้น ปี 2564 กอนช. โดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่

โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คำปรึกษาและชี้แนะวิธีการดำเนินงานแก่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยเน้นให้ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุดนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับการประสานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จึงได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 และมอบหมายให้สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี สำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลเป็นการเร่งด่วน ทั้งด้านการสำรวจสภาพธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา

Advertisement

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 อธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล ลงพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และสั่งการให้สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี ลงพื้นที่สำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อกำหนดจุดเจาะน้ำบาดาลที่คาดว่ามีศักยภาพน้ำบาดาลสูง

ผลการสำรวจสามารถกำหนดพื้นที่แหล่งน้ำบาดาลใหม่ลักษณะคล้ายคันธนู ขนาดความกว้าง 2 กิโลเมตร ยาว 23 กิโลเมตร โดยทำการเจาะบ่อสำรวจ จำนวน 3 บ่อ พบว่าบ่อน้ำบาดาลบ่อที่ 1 ความลึก 280 เมตร ปริมาณน้ำ 36 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง น้ำไม่พุ ระดับน้ำบาดาล 4 เมตร

บ่อน้ำบาดาลบ่อที่ 2 ความลึก 303 เมตร ปริมาณน้ำ 36 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง น้ำพุ ระดับน้ำพุสูง 6 เมตร และบ่อน้ำบาดาลบ่อที่ 3 ความลึก 224 เมตร ปริมาณน้ำ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง น้ำพุ ระดับน้ำพุสูง 3 เมตร จากผลการทดสอบคุณภาพน้ำบาดาลทั้ง 3 บ่อ พบว่า มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลายชนิด และมีคุณสมบัติน้ำโซดา อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงสั่งการให้ติดตั้งเครื่องกรองน้ำแจกจ่ายประชาชนให้มีน้ำแร่โซดาดื่มฟรี

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี จัดทำ “โครงการศึกษา สำรวจ และรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่ง กักเก็บในหินแข็งระดับลึก ในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน”โดยสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูง และออกแบบระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่เพื่อส่งน้ำบาดาลระยะไกลไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลต่ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่มั่นคงและเพียงพอ สำหรับความต้องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม

โดยคาดว่าจะได้ปริมาณน้ำ จำนวน 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถกระจายน้ำให้กับประชาชนตำบล ห้วยกระเจาไม่น้อยกว่า 16 หมู่บ้าน มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
พื้นที่ดำเนินโครงการ มี 2 พื้นที่ได้แก่ บ้านพยอมงาม หมู่ที่ 12 และ บ้านทุ่งคูณ หมู่ที่ 19 ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีรูปแบบของระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 1.บ่อน้ำบาดาล พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 10 แรงม้า จำนวน 6 บ่อ 2.ถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 750 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง (บ้านพยอมงาม หมู่ที่ 12) และขนาดความจุ 2,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง (บ้านทุ่งคูณ หมูที่ 19) 3.หอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร ความสูง 30 เมตร จำนวน 1 ถัง 4.อาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำ และจุดบริการน้ำแร่ จำนวน 1 แห่ง และ 5. จุดจ่ายน้ำแบบงวงช้าง จำนวน 1 จุด และก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 1 จุด ที่เทศบาลตำบลห้วยกระเจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image