ชุมพรสั่งหยุดฉีดวัคซีน หลัง 2 รายมีอาการข้างเคียง แขนขาอ่อนแรง

ชุมพรสั่งหยุดฉีดวัคซีน หลัง 2 รายมีอาการข้างเคียง แขนขาอ่อนแรง รอส่วนกลางตรวจสอบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 เมษายน ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดชุมพร ได้มีการจัดประชุมตามโครงการ ผู้ว่าฯพบสื่อมวลชนชุมพร มีนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ สาธารณสุขจังหวัดชุมพร และนายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร ร่วมกันแถลงข่าว มีหัวหน้าส่วนราชการและสื่อมวลชนสวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าเข้าร่วมประชุมประมาณ 45 คน ที่ประชุมได้มีการสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ จ.ชุมพร

นายธีระได้กล่าวถึงนโยบายและมาตรการป้องกันโควิด-19 ในภาพรวมของจังหวัดภายใต้การทำงานในรูปแบบของ “ชุมพรทีม” ที่ต้องรีบค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงให้พบและต้องจบให้เร็ว ขณะนี้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันป้องกันโควิด-19 ลักษณะของการทำงานแบบรังผึ้ง จนทำให้พบผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงแล้วนำตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ จ.ชุมพรมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยน้อยกว่าหลายจังหวัดในภาคใต้

นายสมพรกล่าวถึง มาตรการป้องกันและควบคุมตามสถานที่เสี่ยงต่างๆ พร้อมทั้งระบุว่า ระหว่างรอวัคซีนจากส่วนกลาง อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้าง “วัคซีนชุมพร 4 ชนิด” ขึ้นมาก่อนคือ 1.วัคซีนของตนเองคือการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่าง และการหมั่นล้างมือ 2.วัคซีนของครอบครัวคือขอให้สมาชิกในครอบครัวเคร่งครัดในเรื่องการป้องกันโควิด-19 ทุกคน 3.วัคซีนของชุมชน คือทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลกรณีที่มีบุคคลต่างพื้นที่เข้ามาในชุมชน หรือคนในชุมชนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงแล้วกลับมา และ 4.วัคซีนระดับจังหวัด คือการร่วมมือกับทุกๆ ภาคส่วนในการยับยั้งป้องกันการแพร่ระบาด หากชาวชุมพรทุกคนร่วมกันสร้าง “วัคซีนชุมพร 4 ชนิด” ขึ้นมาได้ก็จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้แน่นอน

Advertisement

นายสัมฤทธิ์ได้พูดถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ทยอยออกโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะตามออกมา

นพ.จิรชาติกล่าวว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้จังหวัดชุมพรยังมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 46 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 2,077 ราย ทุกคนเข้าสู่กระบวนการกักตัวจนเกือบครบ 14 วันหมดแล้ว ส่วนเรื่องวัคซีนในระยะแรกจะเป็นการฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล อสม.และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อน ส่วนประชาชนทั่วไปคงจะมีการฉีดพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนในขั้นตอนของการทดสอบ เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล อสม.และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จำนวน 9,000 โดส ทยอยฉีดไปแล้วประมาณ 4,000 โดส แต่มีผลข้างเคียง 2 ราย คือเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง จึงสั่งให้ยุติการฉีดเอาไว้ก่อน เพื่อรอให้ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบ และขณะนี้ทั้ง 2 ราย ที่เกิดผลข้างเคียงได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว หลังใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง

ด้าน นายนพพรกล่าวว่า ถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ.ชุมพร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และ อบต.ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดงบประมาณจัดทำแผ่นพับและโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายและติดตั้งในย่านชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัด รวมทั้งการจัดขบวนรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image