อธิบดีปศุสัตว์ แจงตัวเลขโคกระบือติดโรคลุมปีสกินที่สกลฯ แค่ 3,515 ตัว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจงสื่อมวลชนลงตัวเลขคลาดเคลื่อน โค กระบือ ติดโรคลุมปี สกิน ที่สกลนคร ป่วยจริง 3,515 ตัว พร้อมลุยแก้ปัญหาเต็มที่

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจงข้อตัวเลขการระบาดแจงตัวเลขโคกระบือติดโรคลุมปีสกินที่สกลนคร ป่วยจริง 3,515 ตัว หลังสื่อมวลชนลงตัวเลขคลาดเคลื่อน สั่งลุยแก้ปัญหาเต็มที่ ด้านปศุสัตว์จังหวัดลุยแก้ปัญหาเต็มที่ พร้อมหนุนเกษตรกรยกมาตรฐานฟาร์มสู่ GFM

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสื่อมวลชนได้มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่จังหวัดสกลนครโดยนำเสนอว่า พบการระบาดในโค กระบือ ถึง 24,000 ตัว ในพื้นที่ 18 อำเภอนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยสำนักปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร ได้รายงานข้อเท็จจริงว่า ตัวเลขจำนวน 24,000 ตัวนั้น เป็นจำนวนตัวเลขรวมของโค กระบือ ที่เป็นสัตว์ร่วมฝูงในพื้นที่การระบาด ซึ่งเกษตรกรมีความกังวลอาจจะได้รับเชื้อและเกิดการระบาดเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้สำหรับจำนวนโค กระบือที่ป่วยจริงในพื้นที่ทั้ง 18 อำเภอของจังหวัสกลนครดนั้นอยู่ที่ 3,515 ตัว แบ่งเป็น โคเนื้อ 3,400 ตัว โคนม 90 ตัว และกระบือ 25 ตัว

“ ส่วนการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนครเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาและควบคุมการระบาด โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา จังหวัดสกลนครได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาด ชนิดโรคสัมปี สกิน ในโคและกระบือแล้ว พร้อมกันนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร ได้สนับสนุนเวชภัณฑ์ ให้สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ดำเนินการเข้าควบคุมโรค และสนับสนุนยาพ่นกำจัดแมลงดูดเลือด ให้เกษตรกรนำไปใช้พ่นควบคุมการระบาด รวมถึงระงับการเปิดตลาดนัดค้าสัตว์ทุกแห่งในจังหวัด จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคสงบ และห้ามการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เข้า-ออก หรือภายในเขตจังหวัดเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ด้าน นายวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร ได้เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลัมปี สกิน พร้อมแนะนำวิธีการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และการสังเกตอาการสัตว์ป่วยที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรายงานโรคของเกษตรกร รวมถึงมอบหมายให้อาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ เข้าตรวจสอบสัตว์ป่วยและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาอย่างทันท่วงที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร อีกทั้งยังได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคนม และกระบือ พัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้ได้มาตรฐาน ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม Good Farming Management (GFM)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image