เกษตรกร เรณูนคร ทำนากบ แปรรูปลูกอ๊อด แช่แข็งส่งขายเมืองนอก โกยเงินปีละ 10 ล้าน

DCIM100GOPROGOPR4091.JPG

เกษตรกร เรณูนคร ทำนากบ แปรรูปลูกอ๊อด แช่แข็งส่งขายเมืองนอก โกยเงินปีละสิบล้าน

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้ถึงแม้จะมีหลากหลายอาชีพส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนผลกระทบจากพิษโควิดระบาด ทำให้ตัวเลขด้านเศรษฐกิจการค้า ผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ บางรายตกงาน ขาดรายได้

แต่สำหรับชาวบ้านหนองแต้ หมู่ 7 ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม รวมเกือบ 200 ครัวเรือน ซึ่งมีอาชีพทำนากบขายลูกอ๊อดมานานหลาย 10 ปี ในช่วงฤดูแล้ง ก่อนถึงฤดูฝนทำนาปี โดยปีที่ผ่านมาเจอพิษโควิดระบาด ทำให้เกิดแนวคิดหันมาพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เนื่องจากปกติจะทำนากบ ส่งขายเฉพาะลูกอ๊อดตัวสด หรือชาวบ้านเรียกว่าลูกฮวก ทั่วภาคอีสาน นิยมทำไปปรุงเมนูเด็ด แกงอ่อม ต้ม ห่อหมก หลากหลายเมนู เคยสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

แต่ปีที่ผ่านมามีปัญหาด้านการตลาดขายไม่ทัน ขาดทุน เพราะมีห้วงเวลาขายประมาณ 2-3 เดือน จนกระทั่งมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปลูกอ๊อดและกบ แช่แข็งส่งขายแทนการขายแบบสด เพื่อให้สามารถขายได้ตลอดปี และเพิ่มช่องทางการตลาด ทำให้ประสบความสำเร็จ สามารถขายลูกอ๊อดแช่แข็ง รวมถึงกบแช่แข็ง ได้ตลอดปีอีกทั้งยังทำการตลอดออนไลน์ส่งขายถึงเมืองนอก สร้างรายได้ เดือนละนับล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนสะพัดปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

Advertisement

ด้าน นายสนธยา ฝาละมี อายุ 45 ปี เลขาวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลูกอ๊อดบ้านหนองแต้และกบแช่แข็ง ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า เดิมเกษตรกรชาวบ้านหนองแต้ หมู่ 7 ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม มีอาชีพทำนากบ ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวทำนาปี มานานหลาย 10 ปี มีชาวบ้านเกือบ 200 ครัวเรือน ที่ยึดอาชีพ ทำนากบขาย จากปกติจะเลี้ยงช่วงประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมิถุนายน เข้าหน้าฝน ก่อนที่จะลงนาปีอีกรอบ

โดยจะใช้พื้นที่นา เป็นบ่อเลี้ยงกบ ซึ่งจะเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไว้อายุประมาณ 1 ปี ถึงช่วงฤดูเลี้ยงจะนำมาปล่อยลงบ่อที่เป็นพื้นที่นา จำนวนตามความเหมาะสม ใช้เวลา 1 คืน ให้กบอายุ 1 ปี ที่พร้อม ผสมพันธุ์วางไข่ และจับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกจากบ่อ จากนั้น จะดูแลเพาะเลี้ยงลูกอ๊อด ให้โตก่อนนำไปขาย ส่วนอาหารจะเป็นหัวอาหารเลี้ยงปลาดุก ใช้เวลาประมาณ 20 -25 วัน ตัวลูกอ๊อดจะโตเต็มที่พอขาย ปกติมีพ่อค้า แม่ค้ามารับซื้อจากทั่วอีสาน กิโลกรัมละประมาณ 80 -100 บาท โดยจะบรรจุใส่ถุงละประมาณ 1 กิโลกรัม อัดอ็อกซิเจน เพื่อส่งขายไปยังตลาดได้ประมาณ 7 – 8 ชั่วโมง เนื่องจากส่วนใหญ่จะนำไปขายแบบสดๆ แต่ปีที่ผ่านมาเดือดร้อนหนักจากวิกฤติโควิดระบาด พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อลดลง จึงหาทางแก้ปัญหาด้านการตลาด ที่ส่งขายไม่ให้ขาดทุน

นายสนธยา ฝาละมี อายุ 45 ปี เปิดเผยอีกว่า จากนั้นจึงได้หันมารวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลูกอ๊อด และกบ เพื่อทำการแปรรูปทำการตลาดรูปแบบใหม่ คือ การนำลูกอ๊อดขายทั้งตัวสด และนำมาแปรรูปนำเครื่องในออก ก่อนนำไปบรรจุถุงซีลถุงสูญญากาศแช่แข็ง มีลูกอ๊อด จะขายในกิโลกรัมละ 220 บาท นอกจากนี้ยังมีกบตัวใหญ่อายุประมาณ 2 -3 เดือน ชำแหละแช่แข็งขาย กิโลกรัมละประมาณ 150 บาท ซึ่งซื้อจากเกษตรกรประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท

Advertisement

นอกจากนี้ได้เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ส่งขายทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศ กลายเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมากขึ้น และสามารถขายได้ตลอดปี จึงได้รับซื้อจากเกษตรกรที่เลี้ยงทั้งลูกอ๊อด และกบตัวใหญ่ มาแปรรูป แช่แข็งส่งขายตลอดปี จากที่ขายช่วงประมาณ 2 -3 เดือน เพราะหากลูกกบโตเกินขนาดจะขายยากและแบกต้นทุน จึงใช้วิธีการแช่แข็ง ส่งขาย สามารถเก็บไว้ได้นาน 9 -10 เดือน ทำให้สามารถขายได้ตลอดปีจนถึงรอบปีฤดูกาลผลิตพอดี

ล่าสุดยังมีออเดอร์ตลาดจากเมืองนอก ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อส่งถึงเมืองนอกมีราคาสูงกิโลกรัมละกว่า 2,000 บาท เพราะต้องบวกค่าขนส่ง ซึ่งมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ โดยหลังจากการแปรรูปแช่แข็ง ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีงานทำเพิ่มขึ้น ในการชำแหละไส้ลูกอ๊อดก่อนบรรจุแช่แข็ง รวมถึงกบสร้างรายได้วันละ 400 -500 บาท ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่นช่วงโควิด ที่สำคัญในช่วงนี้เกษตรกรที่ทำนากบ มีรายได้มากขึ้น บางรายเลี้ยงจำนานมาก สร้างรายได้ ปีละประมาณ 5 แสนบาท ถึงล้านบาท ในช่วงเวลาประมาณ 3 -4 เดือน และพอหมดฤดูทำนากบสามารถทำการเกษตรทำนาปีตามฤดูกาลตามปกติ คาดว่าปีนี้จะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนสะพัดในหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า ปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยไม่กังวลถึงแม้จะเจอสถานการณ์โควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image