ระเบิดหินใกล้ถ้ำโพธิสัตว์ ห่วงภาพสลักพันปี! ล้ำค่า’ทวารวดี’ ค้าน2บริษัท สัมปทานสระบุรี

อจ.ศิลปากรห่วงภาพสลักนูนต่ำ’พุทธ-ฮินดู’ ใน’ถ้ำพระโพธิสัตว์’สระบุรี ยุคทวารวดี อายุราว 1 พันปีเสียหาย หลังเอกชน 2 รายขอระเบิดหินห่างเพียง 280 เมตร

เมื่อวันที่ 23 กันยายน รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีบริษัทเอกชน 2 รายขอทำการระเบิดหินภูเขาใกล้กับถ้ำพระโพธิสัตว์ หรือถ้ำเขาน้ำพุ หมู่ 10 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยรายหนึ่งเป็นบริษัทปูนชื่อดัง จะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 2 กิโลเมตร และอีกบริษัทหนึ่งจะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 280 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อความเสียหายกับภาพสลักนูนต่ำในถ้ำพระโพธิสัตว์จากการสั่นสะเทือนเป็นอย่างมาก โดยเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลโบราณสถานคือสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างการพิจารณาจะให้ระเบิดหินหรือไม่อย่างไร

ด้าน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เป็นที่ตั้งของแหล่งศิลปกรรมสำคัญของไทย คือ ถ้ำพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีภาพสลักนูนต่ำในวัฒนธรรมทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว โดยเป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 2 องค์คือ พระศิวะและพระนารายณ์ ด้านรูปแบบรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะ มีอายุร่วมสมัยกับพระพุทธรูปศิลาขาวที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ที่สำคัญมากคือเป็นภาพสลักที่มีพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าในศาสนาฮินดูอยู่ร่วมกันที่เก่าแก่ที่สุดในไทย โดยอาจตีความได้ถึงการแข่งขันกันระหว่างศาสนา หรือในทางกลับกัน อาจเป็นการผสมผสานด้านความเชื่อก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานที่ทำให้ทราบว่าผู้คนในยุคทวารวดีมีการใช้ถ้ำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หากถูกทำลายไป ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ ถือว่าน่าเสียดายมาก

“ภาพสลักในถ้ำพระโพธิสัตว์เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมาก เป็นภาพพระพุทธเจ้าเทศนาโปรดเทพเจ้า 2 องค์ องค์ที่อยู่ใกล้พระพุทธองค์คือพระศิวะ ซึ่งทรงถือประคำ ส่วนอีกองค์ที่อยู่ไกลออกไปคือพระวิษณุ 4 กร ถือจักรและสังข์ พระกร 2 ข้างไขว้อก ซึ่งหมายถึงการนบนอบต่อพระพุทธเจ้า ตรงนี้อาจตีความว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างศาสนาพุทธกับฮินดู หรืออาจมองว่าเป็นการผสมผสานความเชื่อก็ได้ สิ่งสำคัญคือทำให้ทราบว่าคนใช้ถ้ำเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เหลือให้เห็นเป็นรูปธรรมแค่ไม่กี่แห่ง เป็นภาพสลักที่มีทั้งพระพุทธเจ้าและเทพศาสนาอื่นอยู่ด้วยกันที่เก่าที่สุด” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถ้ำพระโพธิสัตว์มีอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำเขาน้ำพุ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 29 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2506 มีข้อมูลบันทึกถึงการค้นพบและรายละเอียดอื่นๆ ในทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2516 ของกรมศิลปากร โดยศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งในขณะนั้นยังรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ตามประวัติระบุว่า แรกพบถ้ำนี้มีผู้พบเครื่องมือหินที่แสดงให้เห็นว่ามีคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยุคต้นประวัติศาสตร์อยู่อาศัย แต่สิ่งที่โดดเด่นที่แสดงให้เห็นว่าเป็นศาสนสถานสำคัญคือ ภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำ ที่มีรูปพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีรูปพระอิศวร (ศิวะ) พระนารายณ์ (วิษณุ) เรียงแถวต่อมาในลักษณะแสดงความอ่อนน้อม รวมทั้งมีภาพเทวดาเหาะและนั่งแสดงความเคารพ ลักษณะศิลปกรรมฝีมือช่างเป็นแบบทวารวดี ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรให้ความเห็นว่า จากรายละเอียดต่างๆ ของภาพสลักที่แสดงการห้อยพระบาทของพระพุทธรูปและทรงผมของพระศิวะ รวมทั้งมงกุฎและท่ายืนของพระวิษณุ แสดงให้เห็นว่าผู้สลักไม่ใช่ช่างในท้องถิ่น แต่เป็นผู้มีความรู้ด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์มากพอสมควร

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบพระครูวิสาลปัญญาภรณ์ อายุ 63 ปี เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ เผยว่า อาตมาเป็นผู้ดูแลในเขตวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ อยากจะให้ทางกรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ช่วยดูแลว่าการสัมปทานระเบิดหิน เนื่องจากอยู่ห่างจากวัดประมาณ 1,700 เมตร เกรงว่าแรงระเบิดหินจะกระทบต่อภาพโบราณคดีในถ้ำ

ทั้งนี้ พระสมเกียรติ อายุ 59 ปี พระลูกวัดได้นำผู้สื่อข่าวเดินเข้าถ้ำพระโพธิสัตว์ ชมภาพสมัยทวารวดี พบว่ายังอยู่ในสภาพเดิมๆ

Advertisement

ทับกวาง

 

ทับกวาง02

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image