เอาไม่อยู่! คันกั้นน้ำหน้าวัดบางศาลาพัง มวลน้ำทะลักเข้าพื้นที่ชัยฤทธิ์

เอาไม่อยู่! คันกั้นน้ำหน้าวัดบางศาลาพัง มวลน้ำทะลักเข้าพื้นที่ชัยฤทธิ์

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานที่บริเวณ ม. 3 ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง หลังจากที่ถนนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดลง ระดับน้ำยังคงเข้ามาบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ได้ประชุมแผนรองรับการช่วยเหลือประชาชน โดยมีนายสุรพร หมายเจริญ นายอำเภอแสวงหา เข้าดูแลพื้นที่ตามคำสั่งของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ให้มาบัญชาการในพื้นที่ เนื่องจากตอนนี้นายอำเภอไชโยคนเก่าได้เกษียณอายุราชการลง มีเพียงปลัดอำเภอรักษาการเพียงเท่านั้น โดยการประชุมในครั้งนี้ มีนายศักดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เข้าร่วมด้วย

นายศักดา กล่าวว่า ในขณะนี้ ในพื้นที่ตำบลจรเข้ร้อง น้ำได้เข้าท่วมแล้วจำนวน 5 หมู่บ้าน และเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน โดยขณะนี้แนวกั้นน้ำบางส่วนเอาไม่อยู่ มีมวลน้ำกำลังเข้าท่วมอีก 1 หมู่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังพยายามควบคุมให้มวลน้ำอยู่ในพื้นที่ ที่กั้นขอบเขตไว้ พยายามไม่ให้ทะลักไปยังพื้นที่การเกษตร สำหรับภาพรวมของจังหวัดอ่างทอง ตอนนี้มี 2 ส่วน คือมีริมแม่น้ำเจ้าพระยา 3 อำเภอ ได้แก่อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่าทงทอง และอำเภอป่าโมก อีกส่วนหนึ่งมี 1 อำเภอ คืออำเภอวิเศษชัยชาญ ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำน้อย พร้อมทั้งยังมีพื้นที่ไร่นาที่มีน้ำท่วมขัง ทั้งในอำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอสามโก้ โดยมีที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งสิ้น 5 อำเภอ 30 กว่าตำบล 110 กว่าหมู่บ้าน มีบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว 4,300 กว่าหลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 21,000 ไร่ และบ่อปลาอีกส่วนหนึ่ง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวได้สอบภามถึงปัญหาที่อยู่อาศัยและห้องน้ำ ว่าตอนนี้ทางจังหวัดได้ให้การดูแลอย่างไรบ้าง รวมไปถึงอาหารกินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบ้าน นายศักดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เราได้ให้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทองประสานไปยัง ปภ.เขต เพื่อจัดหาห้องน้ำ หรือสุขาเคลื่อนที่ แบบลอยน้ำ และในส่วนของเรื่องอาหารนั้น เราได้นำเงินบริจาคจากส่วนต่าง ๆ มาดำเนินการจัดหาอาหารให้ผู้ประสบภัย และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกันทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานกันอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

ต่อมานายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้เดินทางมายังบริเวณดังกล่าว พร้อมเข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งนำสิ่งของอุปโภค บริโภคที่จำเป็นมามอบให้ยังเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง เพื่อดำเนินการแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย

นายสุรเชษ กล่าวว่า ตอนนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้ตระเวนออกเยี่ยมเยียน และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ที่ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ และนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้ยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัดอ่างทอง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อำเภอป่าโมก อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอไชโย โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้นำมาช่วยเหลือพี่น้องชาวอ่างทองทุกวันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งฝากถึงพี่น้องประชาชนที่อาจตกหล่นยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่ ผู้นำชุมชน หรือศูนย์รับแจ้งเหตุขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทองได้ตลอดเวลา

Advertisement

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ไปสำรวจแนวกั้นน้ำที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการทไว้เพื่อป้องกันมวลน้ำ บริเวณหน้าทางเข้าวัดบางศาลา เมื่อไปถึงพบชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจเป็นจำนวนมาก จึงตรวจสอบ พบว่าคันกั้นน้ำบริเวณดังกล่าวพังลงเนื่องจากรับมวลน้ำไม่ไหว ทำให้มวลน้ำเป็นจำนวนมากไหลเข้าพื้นที่ ม.1 ต.ชัยฤทธิ์ อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ทางด้านกำนันสมภพ ฤทธิ์เอนก กำนันตำบลตลาดกรวดได้ทำแนวกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ติดต่อกับอำเภอไชโย เพื่อป้องกันมวลน้ำ ที่กำลังทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันได้รับรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมามาคันกั้นน้ำหน้าวัดบางศาลาได้พังลม ทำให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าคลองชลประทานฝั่งประตูน้ำบางศาลาทะลุออกมายังคลองส่งที่ตัดผ่านใต้สะพานกลับรถหน้าที่ว่าการอำเภอไชโย ความแรงของน้ำทำให้ท่วมใต้สะพานอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่นำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน มาแก้ไขซ่อมแซมแนวกั้นที่พังจนควบคุมได้บางส่วน

ในขณะที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งวัดไชโยวรวิหาร มองจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ลงไปพบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเกือบถึงแนวกั้นเหลือเพียงประมาณ 50 เซนติเมตร โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เทศบาลเกษไชโย และทางเจ้าหน้าที่ของวัดช่วยกันก่อกำแพงทำแนวกั้นไว้ก่อนหน้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image