มท.สั่งผู้ว่าฯทุกจว.เว้นใต้ ตั้งกองอำนวยการบรรเทาภัยน้ำท่วม ดูแลปชช.ใกล้ชิด พร้อมเก็บน้ำไว้ฤดูแล้ง

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งข้อความเป็นหนังสือสั่งการด่วนที่สุดผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ถึงรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, อธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน, อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทุกจังหวัด ยกเว้นภาคใต้ เรื่องการแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำปิงในภาคเหนือได้ไหลเข้าสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ และไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบกับบางพื้นที่มีปริมาณฝนตกมาก เช่น ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง เป็นต้น ทำให้เกิดสภาพน้ำท่วม 2 ลักษณะ กล่าวคือ น้ำจากปริมาณน้ำฝนจากพื้นที่สูงหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ที่ราบต่ำ และปริมาณน้ำสูงล้นฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ขณะเดียวกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีภาวะฝนตกหนักในบางพื้นที่ด้วย ดังนั้น มท.ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดังนี้

1.ให้จังหวัดจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัดขึ้น เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการและบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

2.การดูแลประชาชนโดยใกล้ชิด ขอให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหาร อปท. เพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่ตรวจตราสภาพน้ำ และรับฟังปัญหาต่างๆ จากประชาชนในพื้นที่เป็นประจำ หรือจัดเวรหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดลงไปอำนวยการแก้ไขปัญหาประจำพื้นที่ด้วยก็ได้

3.การติดตามสถานการณ์สภาพน้ำ ขอให้มีการประสานงานกับหน่วยงานชลประทานและอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อการบริหารจัดการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปิดเปิดประตูน้ำเขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยา ให้คำนึงถึงความเร็วในการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจากภาคเหนือ และน้ำจากปริมาณฝนตกในพื้นที่แล้วไหลลงสมทบมารวมในลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้ความเร็วในการไหลของน้ำและปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำสูงด้วย

Advertisement

4.การกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง : กรณีน้ำฝนที่ตกค้างท่วมอยู่ในพื้นที่บางแห่งนั้น ให้จังหวัดประสานงานกับชลประทานพื้นที่ ปภ.เขตพื้นที่ อปท.ในพื้นที่ หรือหน่วยทหาร เพื่อพิจารณาใช้เครื่องสูบน้ำ ระหัดวิดน้ำ หรือทำลำรางดึงน้ำไปกักเก็บไว้ในบ่อ บึง อ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก หรือหาทางทำเหมือง ฝายกั้นน้ำ เขื่อนยางหรือฝายยาง สระน้ำเทียม ฯลฯ เพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย โดยให้พยายามดำเนินการให้ได้อย่างน้อย 1 จุดเก็บกักน้ำต่อ 1 ตำบล ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักการบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งด้วยการทำแก้มลิงเก็บน้ำตามพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ที่ได้ส่งรายละเอียดให้จังหวัด/อำเภอได้ศึกษาแนวทางไว้แล้ว

5.การประมินสถานการณ์น้ำ พื้นที่ใดที่น้ำยังไม่ท่วม ให้จังหวัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในศูนย์อำนวยการฯ จังหวัด หรือหน่วยงานอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยี (IT) หรือระบบข้อมูล หรือโปรแกรมการคำนวณ เพื่อประเมินหรือคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่ไหลท่วมจะเข้ามาถึงพื้นที่เมื่อใด เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ

6.การเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ : ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยกลางในการประสานกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่และส่วนกลาง เพื่อเร่งระดมนำเครื่องสูบน้ำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ที่คาดว่าจะสามารถสูบน้ำออกได้

Advertisement

7.การแจกจ่ายสิ่งของอุปโภคและบริโภคให้กับประชาชนที่ประสบภัย ให้กำหนดหน่วยรับผิดชอบประจำพื้นที่ให้ชัดเจน อาจมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (พชจ.) เป็นหน่วยบรรเทาทุกข์หรือเยียวยาผู้ประสบภัย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เช่น พื้นที่ในเขตชุมชนของ อปท. มอบให้ อปท. และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ส่วนพื้นที่หมู่บ้านทั่วไปมอบให้ ปกครองอำเภอ และพัฒนาชุมชนอำเภอ รวมทั้ง ให้ ผวจ.มอบหมายให้ พมจ.เป็นหน่วยประสานงานการเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคจากภาคเอกชนและเหล่ากาชาดจังหวัด รวมทั้งมูลนิธิหรือองค์กรกุศลต่างๆ ไว้เสริมหรือแจกจ่ายให้เพียงพอต่อความต้องการ อย่าให้ซ้ำซ้อนหรือเกิดความขัดแย้งกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image