ชลประทานบึงกาฬปล่อยน้ำลงโขง เตรียมรับมวลน้ำก้อนใหม่จากพายุ ‘ไลออนร็อก’

ชลประทานบึงกาฬปล่อยน้ำลงโขง เตรียมรับมวลน้ำก้อนใหม่จากพายุ ‘ไลออนร็อก’

วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการชลประทานบึงกาฬ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยเช้านี้ได้เปิดประตูระบายน้ำ ที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำห้วยบางบาด ต.ชัยพร อ.เมือง จ.บึงกาฬ ยกบานประตูสูง 30 เซนติเมตรจำนวน 1 บาน ระบายน้ำ 0.047 ล้าน ลบ.ม. ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เตรียมรองรับมวลน้ำก้อนใหม่ที่คาดว่าจะมากับพายุไลออนร็อก ใน 1-2 วันนี้

ด้านศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ โครงการชลประทานบึงกาฬ สรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬว่า อ่างเก็บน้ำจำนวน 53 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 49.371 ล้าน ลบ.ม ปัจจุบัน 49.003 ล้าน ลบ.ม คิดเป็น 99.25% เก็บกัก ระดับน้ำในแม่น้ำโขง สถานี บ.พันลำ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ ระดับน้ำ 4.35 ม. ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 9.65 ม. (ตลิ่งสูง 14.00 ม.) มาตรการเตรียมความพร้อมโครงการชลประทานบึงกาฬ ได้ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างเขื่อน/อ่างเก็บน้ำแล้ว สภาพยังแข็งแรงดี

Advertisement

ส่วนจังหวัดบึงกาฬ สั่งการทุกอำเภอ เตรียมพร้อมรับมือ พายุ “ไลออนร็อก” ช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564 นี้ นายธาตรี บุญมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ออกหนังสือสั่งการด่วนที่สุด ถึงนายอำเภอทุกพื้นที่ของจังหวัดบึงกาฬ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุ “ไลออนร็อก”

โดยให้ติดตามสถานการณ์ของอำเภอ ติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม จัดทำข้อมูลแผนที่เส้นทางน้ำที่อาจส่งผลกระทบพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจ ให้ครอบคลุมเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการในแต่ละระดับ ให้สามารถแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนบูรณาการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าป้องกันการเกิดน้ำท่วม และเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน ให้ความช่วยเหลือประชาชนให้พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยให้หน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการดำรงชีพ ด้านสาธารณสุข ด้านการคมนาคม ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง พร้อมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้

Advertisement

ทั้งนี้ การปฏิบัติให้ดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำตก ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล พิจารณาว่าจะเปิดหรือปิด และรายงานให้จังหวัดทราบอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image