ป.ป.ช.ชี้พิรุธ งบซ่อมฝายน้ำล้น อ.บ.ต.ละมอ สูงกว่างบสร้าง ด้านผู้บริหารระบุ ถ้ามีประโยชน์กับชาวบ้าน ก็ต้องทำ

 

ป.ป.ช.ชี้พิรุธ งบซ่อมฝายน้ำล้น อ.บ.ต.ละมอ สูงกว่างบสร้าง ด้านผู้บริหารระบุ ถ้ามีประโยชน์กับชาวบ้าน ก็ต้องทำ

จากกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนให้ตรวจสอบความไม่คุ้มค่าโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น มข.2527 คลองนางน้อยหน้าศาลาเอนกประสงค์ หมู่ 9 ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบลละมอ โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น มข.2527 คลองนางน้อยหน้าศาลาเอนกประสงค์ หมู่ 9 ขนาดสันฝายสูง 2 เมตร ผนังข้าง 3.50 เมตร กว้าง 12 เมตร ปีงบประมาณ 2560 วงเงินค่าก่อสร้าง 595,000 บาท แหล่งงบประมาณ จ่ายขาดเงินสะสม วันเริ่มต้นการรับประกัน กรกฎาคม 2561 วันสิ้นสุดการรับประกัน กรกฎาคม 2563

ซึ่งฝายน้ำล้นดังกล่าวใช้ผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้ประชาชนในหมู่บ้าน แต่ต่อมาฝายถูกมวลน้ำกัดเซาะทำให้คันดินพังทลายและต่อมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลละมอได้ตั้งงบประมาณโครงการก่อสร้าง เพื่อซ่อมแซมคันดินฝายน้ำล้น ขนาดคันดินระยะทางยาว 55 เมตร กว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ห้างหุ้นส่วนจำกัด จักรมณีการโยธา 88/6 หมู่ 4 ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช วันเริ่มต้นสัญญา 5 มีนาคม 2563 วันสิ้นสุดสัญญา 2 มิถุนายน 2563 ระยะเวลาก่อร้าง 90 วัน งบประมาณที่ตั้งไว้ 1,260,000 บาท ราคากลางค่าก่อสร้าง 1,300,000 บาท วงเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้าง 945,000 บาท ผู้ควบคุมงาน นายสาคร ชัยทอง กรรมการตรวจการจ้าง นายธวัชชัย ดำยัง ประธานกรรมการ นายอุทัย นุ่นแจ้ง กรรมการ นายชลิต หนูยิ้มซ้าย กรรมการ

Advertisement

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำหรับข้อมูลที่ชาวบ้านร้องเรียนมาในเรื่องการสร้างฝายนั้น ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงไปดูข้อเท็จจริงทางกายภาพในเบื้องต้น เอกสารอย่างอื่นต้องเรียกจากทางเจ้าของหน่วยงานมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง การตรวจสอบโครงการแบบนี้ต้องดูแบบแปลนการก่อสร้าง สัญญา ให้รอบคอบก่อนที่จะสรุปว่าการก่อสร้างของ อ.บ.ต.มีความคุ้มค่า หรือเกิดปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เท่าที่ได้รับข้อมูลการก่อสร้างด้วยงบประมาณก้อนหนึ่งประมาณ 5 แสนกว่าบาท ต่อมามีการซ่อมแซมซ่อมบำรุงโดยใช้งบที่มากกว่า ในพื้นที่ที่มีสภาพความเป็นน้ำ เป็นลำธาร ฝายชะลอน้ำ ตามหลักวิชาการในการดำเนินการของ อ.บ.ต.เขาอาศัยรูปแบบรายการที่เหมาะสมในพื้นที่บริบทดังกล่าว การออกแบบตามหลักวิชาการช่างหรือไม่

“ต้องขอดูรายละเอียดในการตรวจสอบอีกนิดหน่อย จึงจะให้ข้อมูลได้ว่าเป็นความไม่ถูกต้องในประเด็นไหน ในเรื่องความไม่ถูกต้องในประเด็นก่อสร้าง หรือการตรวจรับงานโดยมิชอบหรือไม่ ต้องไปดูในส่วนรายละเอียดอีกทีหนึ่ง” นายรามกล่าว

นายรามกล่าวว่า ในส่วนการใช้งบซ่อมมากกว่างบฯสร้างนั้น ส่วนนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะในการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการซ่อม มีการเขียนของบประมาณเพิ่มเติมและมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในคราวนั้นอีกก็เป็นการทำได้ แต่โดยหลักทั่วไปการดำเนินการสร้างเสร็จแล้วมีการซ่อมมันอยู่ในช่วงของการประกันหรือไม่ หากอยู่ในประกันต้องเรียกให้ผู้รับจ้างเดิมมาซ่อมแซม ถ้าเกิดความเสียหายเกิดขึ้นที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจากภัยธรรมชาติ หรือถ้าเราก่อสร้างแล้วมีการซ่อมแซมงบฯประมาณที่สร้างมันก็เป็นข้อสังเกตได้ ทั้งนี้ ก็ต้องขอดูรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน ในส่วนของตัวสัญญา หรือรายละเอียดของโครงการ หรือตัว TOR หรือตัวแบบแปลนการก่อสร้างต่างๆ ว่าถูกต้องตามวิชาช่างหรือไม่

Advertisement

ในเบื้องต้นการจะซ่อมต่อหรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่ามีความจำเป็นที่ประชาชนต้องใช้ประโยชน์จากกิจกรรม หรือโครงการก่อสร้างของรัฐหรือไม่ ถ้ามีความจำเป็นชาวบ้านมีความจำเป็นในเรื่องน้ำบริโภค อันนี้รัฐจำเป็นต้องดูแล ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ปริมาณค่อนข้างจะสูง ถ้ามันเป็นความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชน เราจำเป็นต้องสร้างให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ แล้วแต่ว่ากระบวนการของรัฐต้องดำเนินการเกี่ยวข้องตามกฎหมายที่กำหนด ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อาศัยจากหน่วยงานที่เขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว การก่อสร้าง ฝายชะลอน้ำ หรือฝายเก็บกักน้ำมันอาจจะเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้น เช่น ชลประทาน ซึ่งท้องถิ่นอาจจะต้องร้องขอความช่วยเหลือ หรือในส่วนของโยธาธิการและฝังเมืองจังหวัดให้ผู้ที่เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการออกแบบ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาพอก่อสร้างเสร็จไม่ถูกต้องตามวิชาการช่างมันก็จะเกิดความบกพร่องการชำรุดเสียหายจนประชาชนไม่สามารถรับประโยชน์ได้ จะส่งผลต่อความคุ้มค่าของการใช้จ่ายภาษีของประชาชน

นายอาจินต์ ขาวขำ นายก อ.บ.ต.ละมอ เปิดเผยว่า สำหรับงบซ่อมสูงกว่างบสร้างเกิดจากความผิดพลาดครั้งที่แล้ว ซึ่งอดีตท่านนายกคนก่อนมองว่าถ้าสร้างก็ต้องสร้างให้อย่างดี แต่ไม่ได้มีการปรึกษาทางด้านหน่วยงานโยธา หรือวิศวกรในการก่อสร้างผลจึงออกมาเป็นลักษณะอย่างนั้น ว่าสายน้ำจะมาลักษณะอย่างไร ส่วนสาเหตุการพังทลายเกิดจากมวลน้ำนำพากิ่งไม้ เศษไม่ต่างๆ พวกซุงเข้ามากีดขวางจึงทำให้มวลน้ำเอ่อล้นไปฝั่งที่ซ่อมไว้ ซึ่งฝั่งด้านที่ซ่อมก็ไม่ได้มีการตอกเสาเข็ม ทำคันดินเป็นกล่องเคเบี้ยน (ตะเกรงใส่หิน) เอาไว้

ในส่วนการซ่อมแซมนั้นตนเองก็คิดอยู่ แต่ขอเวลาสักระยะ เพราะต้องปรึกษาผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องการก่อสร้างฝาย โดยคิดว่าทางน้ำจะมาลักษณะอย่างไร คิดว่าในอนาคตจำเป็นต้องสร้าง เพราะเราต้องเก็บกักน้ำไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ผลประโยชน์ในส่วนของโครงการน้ำประปาที่ อ.บ.ต.ได้ลงทุนไป ตนคิดว่าถ้าต้นน้ำสายนี้เป็นต้นน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงของพี่น้องชาวละมอ ซึ่งต่อไปเราจะใช้ระบบการประปา หรือเราจะปรึกษาการประปาส่วนภูมิภาคเข้ามาดู มีวิศวกรในการออกแบบว่าจะออกแบบอย่างไร เพื่อให้มีความคงทนด้านกระแสน้ำได้ ตนเห็นด้วยกับทาง ป.ป.ช.ที่ชี้แนะว่าให้ทางวิศวเข้ามามีส่วนร่วม ให้เอาวิศวกร หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของการทำฝายตรงนี้ เพราอย่างเราเองไม่มีความชำนาญในเรื่องการสร้างฝาย

ในขณะที่ทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง สตง.ตรัง กับการตรวจสอบและข้อมูลในเรื่องนี้ กลับได้คำปฏิเสธว่า  สตง.ตรังไม่มีอำนาจในการสอบสวน หน้าที่นี้เป็นอำนาจของ สตง. ภาค 9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image