หมอโรคสัตว์น้ำ ‘งง’ ข้อมูล ‘กระเบน’ ตายไม่ตรงกับที่เห็น ชี้วิธีตรวจน้ำก็ไม่ตรงตามหลักพิษวิทยา

จากกรณีชาวบ้านจ.สมุทรสงครามได้พบซากปลากระเบนจำนวนมาก ลอยในแม่น้ำแม่กลองตามกระแสน้ำขึ้นลงโดยชาวบ้านระบุว่ามีการปล่อยน้ำเสีย ขณะที่กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพน้ำกลับไม่พบความผิดปกติ

ล่าสุด รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

เพิ่งมีโอกาสอ่านข่าวเกี่ยวกับเหตุการ์ณที่ปลากระเบนตายมากมายในแม่น้ำแม่กลอง…

มีข้อมึนงงเรื่องข้อมูลที่มีผู้ให้ข่าวจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกับภาพที่พวกเราเห็น…

Advertisement

มิบังอาจสรุปว่าใครผิดใครถูก แต่แค่อยากให้แชร์ข้อมูลในแง่ของเราในฐานะอาสาสมัคร คนรักแม่กลอง และสัตวแพทย์สัตว์น้ำคนหนึ่ง

-“มีแต่ปลากระเบนตายอย่างเดียว ปลาอื่นไม่ตาย”

… ดูภาพและคุยกับชาวบ้าน มีปลากระพงในกระชังที่หนีไปไหนไม่ได้ลอยตาย…เสียหายหลายล้านบาท บางกระชังตายเกือบหมด (60-70%) และยังมีหอยตายด้วยน่าสงสารมาก

Advertisement

ปลิงใส เห็บระฆัง ในปลากระชัง มีเป็นปกติ…ไม่ทำให้ตายแบบนี้ค่ะ สิ่งที่เห็นง่ายสุดอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญ อย่ารีบสรุปง่ายๆ

-“ปลากระเบนตายเพราะออกซิเจนในน้ำต่ำ”

…ถ้าต่ำมากน่าจะเห็นปลาเกือบทุกชนิดขึ้นมาลอยหัวหุบอากาศที่ผิวน้ำมากมายเหมือนตามบ่อปลาตอนเช้ามืด แต่นี้ไม่เห็นและปกติกระเบนจะอาศัยอยู่ที่พื้นน้ำลึกมากอาจถึง 20 เมตร ซึ่งมีออกซิเจนต่ำอยู่แล้วถ้าขาดออกซิเจนกระเบนสามารถว่ายย้ายไปที่อื่นได้

…แล้วเมื่อวัดออกซิเจนด้วย D.O. Meter ก็ไม่พบความผิดปกติ เมือเราวัดเองก็ไม่พบว่าแตกต่างจากเวลาที่ไม่มีกระเบนตายแต่อย่างใด

ลักษณะการตายของซากที่พบเป็นแบบเฉียบพลันจึงเห็นได้ว่าสัตว์มีสภาพภายนอกที่สมบูรณ์ดีไม่ได้เป็นโรคเรื้อรัง สมบูรณ์ดี มีอาหารอยู่ภายในกระเพาะ

-“จำนวนกระเบนที่ตายตามข่าวมีแค่ประมาณ 20 ตัว”

….แต่จากการประชุมเครือข่ายอนุรักษ์พบว่ามีมากถึง 50 ตัว (ตามภาพ) โดยตัดตัวที่อาจนับซ้ำออกไปแล้ว

-“จากการรายงานของทางการว่าไม่มีสารเคมีและผิดปกติของสารพิษในน้ำและตะกอนดิน”

…แต่ชาวบ้านรายงานงานว่ามีน้ำเสียไหลมาตั้งแต่วันที่ 27-28 ที่คลองโคนเป็นต้นมา และจากบ้านโป่ง (ตามภาพ) ถ้ามีการเฝ้าระวังของกรมกองต่างๆ ก็ควรจะเห็นความผิดปกติเช่นกันกับชาวบ้าน

-วิธีในการตรวจตัวอย่างน้ำที่เห็นในข่าว…

…เป็นการตักน้ำผิวบนขึ้นมาตรวจซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักทางพิษวิทยาในการตรวจน้ำ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีค่า pH และความเค็ม กลายเป็นน้ำจืดเกือบทั้งหมด ทั้งๆที่ ซึ่งไม่อยู่ในระดับน้ำลึกที่กระเบนอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือ น้ำที่มากับปลากระเบนที่นำเข้ามารักษามีความเค็มถึง 24 ppt ขณะที่รายงานของทางการมีค่าความเค็ม 5-10 ppt

เอาเป็นว่ามาทำงานกันเป็นทีมให้มีทิศทางเดียวกันก็อาจจะช่วยเหลือประชาชน และอนุรักษ์ทันค่ะ

#งงค่ะ #เอาไงดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image