ราคาข้าวเปลือกในพิจิตรดิ่งลงอีก ขายได้ไม่ถึง 6 พัน บางคนต้องจำใจเพื่อเคลียร์หนี้

วันที่ 15 พฤศจิกายน  ขณะนี้ข้าวเปลือกจังหวัดพิจิตรราคายังตกต่อเนื่อง ปัจจุบันชาวนาพิจิตรขายข้าว ยังมีราคายังไม่ถึง 6,000 บาท ขายได้เพียง 5,300-5,800 บาทเท่านั้น  ถึงแม้ว่าจะมีสภาพข้าวที่สวย  แต่ทางกลุ่มผู้รับชื้อข้าวก็อ้างว่ารับซื้อเพียงเท่านี้ หากไม่ขายก็ให้เก็บไว้กินเอง

นายบุญยืน เพชรอำไพ  อายุ 59 ปี  เกษตรกรใน อ.เมืองพิจิตร กล่าวว่า ตนเองทำนา 20 ไร่ ซึ่งทำข้าวนาปีหอมมะลิ 105  ซึ่งปีนี้ได้ข้าว 14 ตัน ซึ่งนำไปขายให้กับสหกรณ์ แห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร ปรากฏว่าขายข้าวได้ตันละ 5,800 บาท ซึ่งทางสหกรณ์นั้นตีข้าวในราคาให้ถูกมาก  ซึ่งปีนี้  ขายข้าวไม่พอใช้หนี้ เนื่องจากโดนค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ค่ารถเกี่ยว ค่าเช่านา ก็แทบไม่เพียงพอใช้หนี้ ซึ่งลำบากมาก

“กรณีที่รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือตันละ 800 บาทต่อ 1 ไร่ แต่ไม่เกิน 15 ไร่ ตนเองมองว่า มันไม่เพียงพอ  ตนเองอยากให้รัฐบาลช่วยในเรื่องของการช่วยเหลือหากจะช่วยชาวนาๆ จริง ควรให้ไร่ละ 1,500 บาท จะดีกว่า ทุกวันนี้ชาวนาจะตายอยู่แล้ว ไม่ทำก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน อีกทั้งจะไปจำนำยุ้งฉาง ก็ไม่มีกับเขา ซึ่งวอนรัฐบาลเร่งให้การช่วยเหลือเร่งด่วน”  นายบุญยืนกล่าว

ด้านนายไพรสันต์  โชติชาวนา  เกษตรกรชาวนา  หมู่  3 บ้านดงหวาย ตำบลสายคำโห้ อำเภอเมือง  พิจิตร  กล่าวว่า ตนเองและเกษตรกรชาวนาอีกหลายรายต่างๆ ต้องรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือก เพื่อนำไปขายให้กับโรงสี ภายใน 2 วันนี้ ก่อนที่ข้าวจะเหี่ยวแห้งกรอบถึงแม้ว่าราคาข้าวตกต่ำมากที่สุด ในรอบ 10 ปีก็ตาม  ซึ่งตนเองนั้นไม่มีทางเลือกจำใจต้องขาย แม้จะไม่คุ้มทุนก็ตาม เพราะต้องรีบนำเงินไปชำระหนี้ ธ.ก.ส. ใช้จ่ายในครอบครัว จ่ายค่ารถเกี่ยว ค่าปุ๋ย และค่าเช่านา โดยพื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในเขตอำเภอเมืองพิจิตร และอำเภอวังทรายพูน จะปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์หอมสุรินทร์ และพันธุ์หอมเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มสุกงอมเหลืองเต็มทุ่งแล้ว จึงต้องเร่งรีบเก็บเกี่ยว แม้ราคาข้าวจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำก็ตาม

Advertisement

201611151350012-20021028190207

“สำหรับมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาช่วยเหลือชาวนาสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งชาวนาในพื้นที่นี้กำลังเข้าสู่กระบวนการเก็บเกี่ยว ไม่สามารถจะรอได้ เพราะข้าวแก่เต็มที่แล้ว หากปล่อยไว้เมล็ดข้าวจะลีบ ยิ่งจะทำให้ราคาลดต่ำลง จึงยอมขายข้าวขาดทุนให้กับพ่อค้าคนกลางเพียงตันละไม่เกิน 5,900 บาท สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลจะต้องมีแนวทางให้ชาวนาเป็นผู้กำหนดราคาซื้อขาย หรือสามารถต่อรองราคาเองได้ ไม่ใช่ให้พ่อค้าคนกลางหรือโรงสีที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตข้าวเป็นผู้กำหนดราคาอย่างเช่นในปัจจุบัน ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เตรียมลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรพบกับแกนนำชาวนาและชมรมโรงสีพิจิตร 10 โมงเช้า และพบส่วนราชการเร่งแก้ปัญหาชาวนาปิดถนนช่วงบ่ายของวันเดียว” นายไพรสันต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image